เมื่อากาศเริ่มอุ่นขึ้นคนญี่ปุ่นก็นิยมรับประทาน เต้าหู้เย็นหรือฮิยายักโกะ (Hiyayakko, 冷奴) ซึ่งเป็นเต้าหู้แท่งสี่เหลี่ยมแช่เย็นราดด้วยโชยุและโรยด้วยเครื่องต่าง ๆ เช่น ปลาแห้งคัตสึโอะบุชิ และต้นหอม เป็นต้น เต้าหู้เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วหลืองที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไอโซฟลาโวนซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพและความงามของผู้หญิง มารู้จักชนิดของเต้าหู้ที่คนญี่ปุ่นนิยมนำมารับประทานเป็นเต้าหู้เย็นและอาหารที่เมื่อรับประทานกับเต้าหู้แล้วจะช่วยคงความสวยไปได้นาน ๆ กันค่ะ

เต้าหู้ชนิดใดที่คนญี่ปุ่นนิยมนำมารับประทานเป็นเต้าหู้เย็น

เต้าหู้ที่คนญี่ปุ่นนิยมนำมารับประทานเป็นเต้าหู้เย็นหรือฮิยายักโกะคือ เต้าหู้โมเมน (木綿) และ เต้าหู้คินุ (絹) โดยเต้าหู้ทั้งสองมีเนื้อสัมผัสและคุณค่าสารอาหารที่ค่อนข้างแตกต่างกันดังนี้

เต้าหู้โมเมน เป็นเต้าหู้ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่กดให้น้ำออกจากเต้าหู้ ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่แข็งกว่าเต้าหู้คินุ มีปริมาณโปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็กสูงกว่าเต้าหู้คินุประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์

เต้าหู้คินุ เป็นเต้าหูที่มีกระบวนการผลิตที่คงน้ำในเต้าหู้ไว้ ทำให้เต้าหู้มีเนื้อสัมผัสนิ่ม แม้จะมีปริมาณโปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็กต่ำกว่าเต้าหู้โมเมน แต่เต้าหู้คินุมีวิตามินและโพแทสเซียมสูงกว่า

ทั้งนี้เต้าหู้ทั้งสองชนิดอุดมไปด้วยไอโซฟลาโวนซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบและอารมณ์ปรวนแปรในผู้หญิงวัยทอง ลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

5 อาหารที่เมื่อรับประทานกับเต้าหู้เย็นแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพและความงามยิ่งขึ้น

1. กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว

แม้ว่าเต้าหู้จะมีปริมาณวิตามินอีสูงแต่เต้าหู้ไม่มีวิตามินเอและซี โดยวิตามินเอ ซี และอี เมื่อรับประทานร่วมกันจะมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เมื่อรับประทานเต้าหู้เย็นร่วมกับกระเจี๊ยบเขียวนึ่งหรือต้ม (ในเวลาสั้น) ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินซีและเอ ก็จะทำให้เมนูเต้าหู้เป็นเมนูอาหารง่ายๆ ที่ช่วยชะลอความแก่ได้

2. ปลาชิราสึ

ปลาชิราสึ

ปลาชิราสึเป็นลูกปลาซาร์ดีนที่มีขนาดเล็กมาก วิตามินดีที่มีมากในปลาชิราสึจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมที่มีมากในเต้าหู้ได้ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน และช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน

3. งา

งา

งาอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 และ 2 แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และสารเซซามิน (Sesamin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง งาจะช่วยเพิ่มคุณค่าสารอาหารเพิ่มเติมให้แก่เต้าหู้เย็นในการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่มีสาเหตุมาจากรังสียูวี อย่างไรก็ดี งาเป็นอาหารที่มีปริมาณแคลอรีที่สูงจึงควรรับประทานในปริมาณที่ไม่เกินวันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ

4. อะโวคาโด

อะโวคาโด

อะโวคาโดอุดมไปด้วยวิตามินอีซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยชะลอความแก่ อีกทั้งยังมีแร่ธาตุในปริมาณที่สมดุลกันกับวิตามินอี ซึ่งสามารถเสริมสารอาหารที่ขาดในเต้าหู้ได้ ทั้งนี้อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีปริมาณแคลอรีสูงจึงไม่ควรรับประทานเกินวันละครึ่งผล

5. พริกหวาน

พริกหวาน

พริกหวานเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี และอี ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง การรับประทานพริกหวานสดหรือพริกหวานดองน้ำส้มหมักพร้อมเต้าหู้มีข้อดีคือ วิตามินซีที่มีมากในพริกหวานจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากเต้าหู้ได้ดียิ่งขึ้น

การจับคู่รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เสริมกันจะมีข้อดีในแง่เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและความงาม ไปพร้อมกับทำให้ได้คุณค่าสารอาหารที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป เต้าหู้เย็นเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่คนญี่ปุ่นรับประทานเพื่อคลายร้อนในฤดูร้อน การรับประทานเพียงเต้าหู้เย็นราดโชยุอาจไม่อร่อยนักสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยชอบเต้าหู้ แต่เมื่อใส่เครื่องเคียงลงไปก็จะทำให้เต้าหู้เย็นมีรสชาติที่อร่อยขึ้น สำหรับเพื่อนๆ ผู้อ่านที่อยากสวยไปนานๆ ก็ลองจับคู่อาหารดังกล่าวกับเต้าหู้เย็นดูค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก: tsuyaplus.jp

ซากุระ เมืองร้อน

แม่บ้านญี่ปุ่นลูกสองผู้รักการทำอาหาร หลงใหลในความงดงามของดอกไม้และธรรมชาติ และชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อให้แข็งแรงและสวยไปนานๆ ขอฝากเนื้อฝากตัวเพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ในมุมมองที่หลากหลายให้กับเพื่อนผู้อ่านทุกท่านค่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า