พุดดิ้งเป็นขนมหวานที่ทุกคนชื่นชอบตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ด้วยเนื้อสัมผัสที่เด้งดึ๋งทานง่าย รสชาติหอมหวาน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่จะเห็นเด็ก ๆ ชอบทานพุดดิ้งกันเยอะมาก แต่ขนมที่หน้าตาดูเป็นฝรั่งแบบนี้มาฮิตในญี่ปุ่นได้อย่างไร ? เรามาดูประวัติความเป็นมาของการพัฒนาพุดดิ้งในญี่ปุ่นกันค่ะ

แรกเริ่มจากพุดดิ้งแบบยุโรปตะวันตก

Bread Pudding

พุดดิ้งมีแหล่งกำเนิดมาจากยุโรปโดยอาหารดั้งเดิมที่เป็นต้นแบบก็คือพุดดิ้งของอังกฤษ โดยในปัจจุบันถ้าพูดถึงพุดดิ้ง เราอาจนึกภาพพุดดิ้งคัสตาร์ดรสหวานแบบของญี่ปุ่น แต่ในอังกฤษคำว่าพุดดิ้งจะใช้หมายถึงอาหารประเภทอบนึ่งทุกชนิด! ต้นกำเนิดของพุดดิ้งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการเดินเรือเพื่อออกสำรวจดินแดนใหม่ แต่ในขณะที่ออกเดินทางเพื่อการต่อสู้ทางอำนาจ เหล่ากะลาสีลูกเรือที่อยู่กลางทะเลเป็นเวลานานก็ต้องประสบปัญหาเรื่องอาหารการกินที่ร่อยหรอ วัตถุดิบบางอย่างที่ไม่สามารถเก็บไว้ทานในวันถัดไปได้ จะทิ้งก็เสียดาย ดังนั้นจึงเกิดการคิดเมนูอาหารที่นำเนื้อสัตว์และผักที่เหลือมาผสมกับไข่แล้วนำไปนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “พุดดิ้ง”

หลังจากนั้นเมนูพุดดิ้งเริ่มกลายเป็นอาหารที่ทานกันในชีวิตประจำวันในอังกฤษแผ่นดินใหญ่ และมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างการใส่ส่วนผสมที่มีรสหวาน เช่น ผลไม้ ขนมปัง ในขณะเดียวกันช่วงศตวรรษที่ 18-19 ในฝรั่งเศษมีการคิดค้นพุดดิ้งคัสตาร์ดที่ทำจากไข่เท่านั้น จนกลายมาเป็นต้นแบบของพุดดิ้งสมัยใหม่

ส่งต่อมาสู่ประเทศญี่ปุ่น

พุดดิ้ง

ว่ากันว่าพุดดิ้งถูกเผยแพร่เข้ามาในญี่ปุ่นช่วงปลายสมัยเอโดะถึงต้นสมัยเมจิ ในเวลานั้นชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจในวัฒนธรรมตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ชาวต่างชาติหรือพวกนักเรียนนอกบางคนก็มีการสอนสูตรพุดดิ้งให้ชาวญี่ปุ่นด้วย

ในปี 1872 มีการตีพิมพ์หนังสือสูตรอาหารตะวันตกชื่อว่า เซโยเรียวริซือ (西洋料理通) หนังสือเล่มนี้มีไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเมจิและนักการทูต ถือว่าเป็นตำราอาหารตะวันตกเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น ซึ่งภายในมีสูตรการทำพุดดิ้งโดยมีส่วนผสมของไข่ นม น้ำตาล แล้วนำไปนึ่ง แต่ในขณะนั้น วัตถุดิบอย่างไข่และนมมีราคาแพงและหาซื้อได้ยากในญี่ปุ่น ผู้คนจึงสามารถหาพุดดิ้งทานได้ตามร้านอาหารและโรงแรมเท่านั้น นอกจากนี้อุปกรณ์ในการทำอย่างหม้อนึ่งและเตาอบยังไม่มีจำหน่ายทั่วไป จึงทำทานเองที่บ้านไม่ค่อยได้ ในช่วงเวลานั้นพุดดิ้งจึงเป็นของหวานที่หายากและคนธรรมดาทั่วไปก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ลิ้มรสขนมชนิดนี้

ของหวานสามัญประจำบ้าน

พุดดิ้ง

พุดดิ้งเริ่มได้รับความนิยมจนกลายเป็นของหวานสามัญประจำบ้านในช่วงปี 1964 ซึ่งเป็นช่วงที่ไฟฟ้าและแก๊ซมีใช้รวมถึงมีตู้เย็นใช้อย่างแพร่หลาย วัตถุดิบอย่างไข่และนมก็ราคาถูกลง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำพุดดิ้งก็เริ่มมีจำหน่าย

ต่อมาในปี 1972 กูลิโกะได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Putchin Pudding (プッチンプリン) โดยมีวิธีการแกะออกจากถ้วยได้ง่าย ๆ และทานได้อย่างสะดวก ถือเป็นไอเดียที่แปลกใหม่ในขณะนั้นจนได้รับการตอบรับที่ดีมากและกลายเป็นที่ฮอตฮิตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการทำพุดดิ้งย่างและพุดดิ้งเนื้อแข็ง เกิดเป็นความหลากหลายของพุดดิ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

พุดดิ้งแต่ละประเทศมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อย่างเช่นในบราซิลเป็นพุดดิ้งเนื้อแข็งที่ทำจากนมข้นหวาน เรียกว่าปูจิน ส่วนในเยอรมันจะเป็นขนมที่มีลักษณะเป็นครีมหนาข้น ซึ่งก็มีชื่อว่าพุดดิ้งเช่นกัน พุดดิ้งเป็นของหวานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยรสชาติที่เรียบง่าย และความสนุกสนานในการดัดแปลงได้อย่างอิสระ นั่นคงเป็นเหตุผลว่าทำไมของหวานชนิดนี้จึงเป็นที่รักไปทั่วโลก

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า