หนึ่งในวัฒนธรรมที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมายาวนานและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือ “บอนไซ” ซึ่งเดิมทีเป็นวัฒนธรรมชองชนชั้นสูงระดับขุนนางไปจนถึงโชกุนที่ถูกเผยแพร่ถึงบุคคลทั่วไปในเวลาต่อมา และถูกพัฒนากลายเป็นมินิบอนไซที่กลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
บอนไซมีความเป็นมาอย่างไร
เมื่อพูดถึง “บอนไซ” แล้วมักจะให้ภาพลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมจริงไหมคะ? บอนไซถูกมองว่าเป็นงานอดิเรกชั้นสูงที่เหมาะกับคนญี่ปุ่นที่มีความละเอียดอ่อนและเก่งเรื่องงานฝีมือที่แสดงถึงความประณีตและอ่อนช้อย เพราะบอนไซต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างระมัดระวังมาก ทว่าแท้จริงแล้วนั้นบอนไซมีประวัติอยู่คู่ประเทศญี่ปุ่นมายาวนานตั้งแต่ก่อนสมัยเอโดะแล้ว! โดยหากย้อนถึงที่มาที่แท้จริง เราจะพบว่าบอนไซมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน! อีกทั้งยังเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่มีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี
ศิลปะบอนไซเกิดขึ้นหลังจากที่มีการพัฒนาการปลูกพืชและการเกษตร สามารถอ้างอิงได้จากภาพเขียนและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนที่มีการกล่าวถึงการเพาะปลูกทั้งพืชไร่และข้าว โดยจะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์ของชาวจีนนั้นมีประวัติการอยู่คู่การปลูกพืชมานมนานตั้งแต่ช่วงราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 25 – 220) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 969 – 1279) ก็เริ่มมีการปลูกต้นไม้ลงกระถางเพื่อความเพลิดเพลินแพร่หลายมากขึ้นทั้งในหมู่ราชวงศ์และคนทั่วไป
บอนไซเริ่มแพร่หลายในญี่ปุ่นได้อย่างไร
แน่นอนว่าประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้รับอิทธิผลมาจากประเทศจีนในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการปลูกพืชกระถางก็เช่นกัน แม้จะไม่สามารถระบุได้ว่าบอนไซนั้นเริ่มนำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนไหน เพราะไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัด แต่ในช่วงปลายสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185) ก็มีหลักฐานอยู่ในม้วนภาพวาดอันเก่าแก่ถึงภาพของขุนนางที่กำลังเพลิดเพลินอยู่กับพืชกระถางอยู่ในสวนหลงเหลือเอาไว้อยู่ด้วย
หลักฐานภาพวาดทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ม้วนภาพวาดของไซเงียว” ที่ระบุเอาไว้ช่วงกลางสมัยคามะคุระ(ค.ศ. 1185 – 1333) โดยจะมีภาพวาดของไม้ประดับที่ชัดเจนว่าเป็นบอนไซกับหินก้อนใหญ่ถูกวาดเอาไว้
หลังจากนั้นมีหลักฐานว่าบอนไซกลายเป็นที่นิยมที่เด่นชัดมากขึ้นจากม้วนภาพวาดสมัยปลายสมัยคามะคุระ ของคุณทาคะชินะ ทาคาคาเนะ (高階隆兼) เจ้าของผลงานผู้เป็นจิตรกรในพระราชสำนักของจักรพรรดิฮานะโซโนะที่ 95 (ค.ศ. 1308 – 1318) โดยในภาพวาดจะมีภาพของต้นบอนไซที่ถูกจัดอย่างสวยงามท่ามกลางทรายและหินซึ่งถือเป็นศิลปะที่งดงาม
กล่าวกันว่าเหล่าโชกุนหลังจากยุคของโชกุนโทคุงาวะ อิเอยาสุเป็นต้นมาต่างก็ชื่นชอบบอนไซเป็นงานอดิเรกเช่นกัน โดยในปัจจุบันบอนไซต้นสนห้าเข็มของโชกุนโทคุงาวะ อิเอมิสึที่มีอายุกว่า 550 ปี ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ในพระราชวังอิมพีเรียลอีกด้วย
ต่อมาในสมัยเอโดะนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของบอนไซเลยก็ว่าได้ เพราะบอนไซไม่ใช่แค่งานดิเรกในหมู่ขุนนาง โชกุนและชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นงานอดิเรกในหมู่คนทั่วไปอีกด้วย
จากบอนไซที่เขียนด้วยคันจิสู่ “BONSAI” ในระดับสากล
บอนไซเริ่มแพร่หลายไปยังต่างประเทศในช่วงหลังปี ค.ศ. 1990 ทำให้คำว่าบอนไซที่เคยเขียนด้วยอักษรคันจิ 盆栽 ถูกเรียกทับศัพท์และใช้เป็นคำเป็นภาษาสากลแทน จึงถูกเขียนด้วยอักษรภาษาอังกฤษว่า “BONSAI” ค่ะ
หลังจากที่บอนไซได้เผยแพร่ไปถึงประเทศแถบยุโรป ก็กลายเป็นที่นิยมชมชอบในประเทศอังกฤษอย่างมาก นอกจากนี้ที่ประเทศฝรั่งเศสเองก็ได้มีการตีพิมพ์นิตยสารบอนไซขึ้นมา ส่วนอิตาลีมีการเปิดเป็นโรงเรียนสอนการทำบอนไซเลยทีเดียว!
ต้นกำเนิดของมินิบอนไซ
เมื่อบอนไซกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขึ้นในรูปแบบของต้นไม้จิ๋วหรือ “มินิบอนไซ” เพื่อให้ผู้คนที่ไม่มีพื้นที่สวนหรือผู้ที่อาศัยอยู่ตามอพาร์ทเมนท์ได้เพลิดเพลินกับบอนไซได้ด้วยเช่นกัน ด้วยขนาดที่เล็กกระทัดรัด, เคลื่อนย้ายสะดวก, ดูแลง่ายและยังสามารถหาซื้อได้ง่ายนี้ ทำให้ความนิยมไม่ได้อยู่แค่ในเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่คนวัยหนุ่มสาวก็ให้ความสนใจและชื่นชอบบอนไซจนกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปไปแล้ว
โดยสรุปแล้วแม้บอนไซจะมีที่มาจากประเทศจีนแต่คนทั่วไปก็มักคุ้นเคยกับบอนไซญี่ปุ่นกันเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามบอนไซก็เป็นทั้งศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญและเก่าแก่ของทั้งสองประเทศซึ่งได้รับการสืบทอดต่อมาจนกลายเป็นที่นิยมในยุคสมัยใหม่นี้ พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วมีใครอยากลองเลี้ยงบอนไซดูบ้างไหมคะ
สรุปเนื้อหาจาก : magokoro-bonsai.sakura.ne.jp , bonsaimyo.com