เมื่อพูดถึงการแสดงดนตรีของศิลปินญี่ปุ่น โดยทั่วไปมักใช้คำว่า “คอนเสิร์ต” หรือ “ไลฟ์” จนบางครั้งก็เกิดความสงสัยว่า 2 คำนี้มีความต่างกันอย่างไรในเมื่อใช้หมายถึงการแสดงดนตรีเหมือนกัน ? วันนี้เราจะอธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า “คอนเสิร์ต” และ “ไลฟ์” ว่ามีภาพลักษณ์ต่างกันอย่างไร ใช้ในการแสดงลักษณะใดบ้าง ตลอดจนประเภทและลักษณะของสถานที่จัดการแสดง เราไปหาคำตอบกันค่ะ!
“คอนเสิร์ต” กับ “ไลฟ์” ความเหมือนที่แตกต่าง?
ทั้งคอนเสิร์ตและไลฟ์ล้วนหมายถึงกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานทางดนตรี แต่จะมีความแตกต่างเล็กน้อยดังนี้
คอนเสิร์ต
เป็นการแสดงดนตรีที่จะอิงจากเพลย์ลิสต์หรือโปรแกรมที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแสดงแบบสดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพยนตร์คอนเสิร์ตหรือวิดีโอที่บันทึกไว้ และเนื่องจากคอนเสิร์ตมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟังเพลง ผู้ชมส่วนใหญ่จึงฟังกันเงียบ ๆ โดยไม่ส่งเสียง
ไลฟ์
ย่อมาจากคำว่า ไลฟ์คอนเสิร์ต แต่ก็ไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ เป็นงานที่ไม่เพียงแค่จะได้ฟังเพลงแต่ยังสามารถเพลิดเพลินกับเพอร์ฟอร์แมนซ์ได้อีกด้วย ทั้งศิลปินและผู้ชมมีส่วนร่วมร่วมกันทำให้งานมีชีวิตชีวา ครึกครื้น ผู้ชมจะเพลิดเพลินสนุกสนาน ร้องเพลงและเต้นรำไปพร้อมกับศิลปิน
การเลือกใช้คำว่า “คอนเสิร์ต” กับ “ไลฟ์”
เนื่องจากไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของคอนเสิร์ตและไลฟ์ การจะเลือกใช้คำไหนจึงไม่มีผลอะไรมากนัก แม้จะอยู่ในสถานที่เดียวกัน ศิลปินบางคนก็ใช้คำว่าคอนเสิร์ต บางคนก็ใช้คำว่าไลฟ์ แต่ก็มีวิธีการใช้งานแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
1. ความชอบของศิลปิน
ความแตกต่างระหว่างคอนเสิร์ตและไลฟ์ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไป คอนเสิร์ตจะมีภาพลักษณ์เน้นไปที่ดนตรี และไลฟ์จะมีภาพลักษณ์ของผู้ชมที่สนุกสนานกับการแสดง ตัวอย่างเช่น การแสดงของ Johnny’s และ Mr.Children มักถูกเรียกว่าเป็นคอนเสิร์ต ซึ่งบางครั้งผู้ชมก็ฟังเพลงอย่างเงียบ ๆ บางครั้งผู้ชมก็ร้องเพลงไปด้วย หรืออย่างการแสดงที่เข้มข้นของ ONE OK ROCK และ King Gnu มักจะถูกมองว่าเป็นไลฟ์ อาจกล่าวได้ว่าคอนเสิร์ตและไลฟ์มีการใช้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์และความชอบของศิลปิน
2. แนวเพลง
ในบางกรณี คอนเสิร์ตและไลฟ์จะใช้ต่างกันขึ้นอยู่กับแนวเพลง คำว่าคอนเสิร์ตมักใช้สำหรับดนตรีคลาสสิกที่เน้นดนตรีและเทคนิค เพลิดเพลินในบรรยากาศที่เงียบสงบ ส่วนคำว่าไลฟ์มักใช้กับดนตรีป๊อปหรือร็อก เน้นการสื่อสารกับผู้ชมและสร้างความบันเทิงสนุกสนาน แต่ในปัจจุบันก็มีการจัด Joint Concert มากขึ้น ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่มีหลากหลายศิลปินมาแสดงร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกแนวเพลง
3. รูปแบบการชม
คอนเสิร์ตและไลฟ์สามารถใช้ได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสไตล์การมีส่วนร่วมของผู้เข้าชม คำว่าคอนเสิร์ตมักใช้สำหรับงานแสดงดนตรีที่เป็นทางการ เช่น การแสดงเปียโนหรือวงออเคสตราโดยผู้ชมจะนั่งเก้าอี้ สำหรับไลฟ์มักใช้กับการแสดงดนตรีทั่วไปโดยผู้ชมมักจะยืนฟัง อย่างไรก็ตาม ในบางคอนเสิร์ตผู้ชมก็ยืนขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ได้มีการแบ่งใช้ที่เข้มงวดสักเท่าไหร่
4 ประเภทสถานที่จัดแสดงและจุดเด่น
สถานที่จัดคอนเสิร์ตและไลฟ์มีมากมายหลายประเภท มีขนาดและสิ่งอำนวยความสะดวกที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรูปแบบของที่นั่งจะเหมือนกันโดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ตั๋วระบุที่นั่งและตั๋วยืน โดยตั๋วระบุที่นั่งช่วยให้เพลิดเพลินกับการแสดงของศิลปินได้อย่างสบาย ๆ แต่ตั๋วยืนจะสามารถยืนดูจากจุดไหนก็ได้ตามที่ต้องการและสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระตามจังหวะเพลง ต่อไปจะแนะนำประเภทของสถานที่แสดงดนตรีที่ใช้สำหรับคอนเสิร์ตและไลฟ์ รวมถึงจุดเด่นของสถานที่แต่ละแบบ
1. ไลฟ์เฮาส์
เป็นสถานที่เล็ก ๆ สำหรับวงดนตรีและนักดนตรี รองรับผู้ชมได้ตั้งแต่ 100-1,000 คน ผู้ชมจะได้ใกล้ชิดกับศิลปินมากที่สุด เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศที่อบอุ่น สามารถโต้ตอบกับศิลปินและแฟน ๆ ได้ง่าย เห็นสีหน้าท่าทางของศิลปินและรายละเอียดบนเวทีได้อย่างชัดเจน ได้สัมผัสประสบการณ์ที่สมจริงและเต็มไปด้วยความตื่นเต้น
2. ฮอลล์
เป็นสถานที่ขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้ชมได้ประมาณ 1,000-5,000 คน ตัวอย่างเช่น ฮอลล์ A ของศูนย์การประชุมนานาชาติโตเกียวที่มี 5,012 ที่นั่ง สถานที่ลักษณะนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยอุปกรณ์และระบบเสียงที่ครบครัน ได้รับการออกแบบให้ผู้ชมทุกคนสามารถมองเห็นเวทีได้ มีข้อดีคือสามารถชมการแสดงจากศิลปินในสภาพแวดล้อมที่มีการจัดการอย่างดีเนื่องจากสร้างขึ้นเพื่อการแสดงดนตรีทำให้เสียงมีความก้องกังวาน เพลิดเพลินกับการแสดงได้อย่างเต็มที่
3. อารีน่า
เป็นสถานที่ขนาดใหญ่ที่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ สามารถรองรับผู้ชมได้ตั้งแต่ 5,000-15,000 คน ตัวอย่างเช่น โยโกฮาม่าอารีน่าสามารถรองรับได้ประมาณ 10,000-15,000 คน มีพื้นที่กว้างและมีที่นั่งสำหรับผู้ชมจัดไว้รอบเวที พร้อมด้วยอุปกรณ์แสงสีเสียงที่เข้ากันกับเวทีขนาดใหญ่ ทำให้สัมผัสได้ถึงความสมจริงและพาวเวอร์ได้อย่างน่าดึงดูดใจ
4. โดม
เป็นสนามกีฬาที่ใช้จัดการแข่งขันเบสบอลและฟุตบอล ความจุจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานที่ อย่างโตเกียวโดมสามารถรองรับผู้ชมได้สูงสุด 55,000 คน และฟุกุโอกะเปเปโดม สามารถรองรับได้สูงสุด 40,062 คน สถานที่ลักษณะนี้โดดเด่นด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่และที่นั่งที่ทอดยาวไปรอบเวที จึงสามารถชมศิลปินได้จากทุกทิศทาง ข้อดีอีกอย่างของโดมก็คือมีหลังคา ทำให้สามารถจัดงานต่าง ๆ ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ
ชื่อเรียกงานแสดงดนตรีอื่น ๆ
นอกจากคำว่าคอนเสิร์ตและไลฟ์แล้ว ยังมีการแสดงดนตรีอีกมากมายหลายรูปแบบแถมยังมีชื่อเรียกและให้อิมเมจที่แตกต่างกัน เช่น
1. Gig
มักจะหมายถึงการแสดงดนตรีขนาดเล็กอย่างการเล่นในคลับหรือไลฟ์เฮาส์ ในอดีตนักดนตรีแจ๊สใช้เป็นคำแสลงเพื่อสื่อถึงสัญญาจ้างในการไปแสดงแต่ละแห่ง
2. Recital
หมายถึงการแสดงเดี่ยวของนักร้องหรือนักดนตรีเพียงคนเดียว ถึงแม้จะมีนักดนตรีคนอื่น ๆ เล่นเป็นแบคกราวน์แต่ก็จะไม่นับรวม มักพบในการแสดงดนตรีคลาสสิกและแจ๊ส โดดเด่นด้วยการร้องและการแสดงของศิลปินโดยมีสไตล์และลักษณะเฉพาะของตนเอง
3. Fes
หมายถึงเทศกาลดนตรีที่สามารถเพลิดเพลินกับการแสดงดนตรีหลากหลายแนวได้ มักจัดขึ้นกลางแจ้งและมีศิลปินหลายสิบถึงหลายร้อยคน เทศกาลดนตรีเต็มไปด้วยบูธขายอาหารและร้านค้า และยังเป็นสถานที่ที่แฟน ๆ สามารถสนุกสนานครึกครื้นไปด้วยกันได้อีกด้วย
โดยสรุปคือ ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคอนเสิร์ตและไลฟ์ ทั้งสองคำล้วนหมายถึงกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินทางดนตรี แต่การจะเลือกใช้คำไหนนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความชอบของศิลปิน ภาพลักษณ์ของแนวเพลง และรูปแบบการมีส่วนร่วม นอกจากนี้สถานที่จัดการแสดงก็มีหลากหลายประเภทซึ่งต้องพิจารณาจากความนิยมของศิลปินและจำนวนผู้ชม หากใครเคยไปชมคอนเสิร์ตหรือไลฟ์ของศิลปินที่ญี่ปุ่น ก็สามารถมาเล่าสู่กันฟังได้นะคะว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
สรุปเนื้อหาจาก ticket