ตำรวจญี่ปุ่น

ตำรวจได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเสมือน “อัศวินขี่ม้าขาว” ซึ่งทำหน้าที่คอยปกป้องดูแล พิทักษ์รักษาความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำหน้าที่คอยจับกุมผู้ร้ายที่ทำผิดทั้งในเรื่องของกฎจราจร คดีความ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ตำรวจก็จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน ซึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ “ยานพาหนะ” เพื่อให้ปฏิบัติงานให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ไปถึงที่หมายหรือที่เกิดเหตุให้ทันต่อเหตุการณ์ ยานพาหนะจึงเปรียบได้กับเป็น “ม้า” ของตำรวจ ว่าแต่ว่าแล้วตำรวจญี่ปุ่นล่ะ? เขาใช้ยานพาหนะแบบไหนนั้น มีอะไรยังไงบ้าง วันนี้เราจะไปเจาะลึกด้วยกันค่ะ!

ยานพาหนะตำรวจญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง?

ยานพาหนะ ตำรวจญี่ปุ่น

ยานพาหนะที่ตำรวจญี่ปุ่นใช้ในปัจจุบันหลัก ๆ ได้แก่ รถตำรวจ รถมอเตอร์ไซค์ เฮลิคอปเตอร์และเรือลาดตระเวน เป็นต้น โดยแต่ละยานพาหนะก็จะมีหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันไปทีละข้อนะคะ

1. รถยนต์ตำรวจ

รถยนต์ตำรวจ
รถยนต์ตำรวจใช้เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ (เครดิตภาพ: XROSSX)

รถยนต์ตำรวจนั้นจะมีรูปร่างและอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารติดรถที่แตกต่างออกไปตามจุดประสงค์การใช้งาน รถยนต์ตำรวจแบบที่จะไม่ค่อยได้พบเห็นกันได้บ่อย ได้แก่ “รถตำรวจแบบสื่อสารผ่านดาวเทียม” และ “รถตำรวจกู้ภัย”

รถตำรวจแบบสื่อสารผ่านดาวเทียมจะเป็นรถที่ใช้สัญญาณดาวเทียมเข้ามาช่วยในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งมีความสามารถในการส่งภาพสถานที่เกิดเหตุของคดี อุบัติเหตุ รวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ และข้อมูลภายในภูเขาพื้นที่ห่างไกลที่มีสิ่งกีดขวางทำให้สัญญาณของคลื่นไร้สายปกติไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น

รถยนต์ตำรวจเริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไร?

car running

รถยนต์ตำรวจเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 1950 โดยเป็นการนำรถเปิดประทุนที่ได้รับต่อมาจากทหารอเมริกันในสมัยนั้นนำมาดัดแปลง ซึ่งตามปกติแล้วจะคอยทำหน้าที่ตรวจตราลาดตระเวนในบริเวณพื้นที่ที่อยู่ในอาณาเขตความดูแลของตน ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงเปรียบให้รถยนต์ตำรวจเป็นเสมือน “ป้อมตำรวจเคลื่อนที่” ที่คอยพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่ประชาชนเลยล่ะ

ทำไมต้องเป็นสีขาว-ดำ ?

police car front

ในสมัยช่วงที่รถยนต์ตำรวจถูกนำเข้ามาเริ่มใช้งานเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 1950 นั้น รถยนต์ทั่วไปที่วางจำหน่ายในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นรถยนต์สีขาว ทำให้ยากที่จะทำการแยกแยะระหว่างรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปกับรถยนต์ตำรวจ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและรับรู้ได้ทันทีเมื่อพบเห็น จึงได้มีการนำสีดำซึ่งเป็นสีตรงข้ามของสีขาวเข้ามาใช้ โดยนำมาทาบริเวณครึ่งล่างของตัวรถยนต์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็ค่อย ๆ ถูกนำมาปรับใช้ จนกระทั่งในปี 1955 ก็ถูกใช้กับรถยนต์ตำรวจทุกคันทั่วประเทศญี่ปุ่น!

ทำไมรถยนต์ตำรวจจึงสามารถเดินทางมายังจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว?

control room

ตำรวจญี่ปุ่นจะมีแผนกที่ชื่อว่า “ฝ่ายสั่งการสื่อสาร” ซึ่งคอยทำหน้าที่สั่งการและแจ้งรายละเอียดผ่านวิทยุไร้สายที่ติดตั้งไว้ในรถยนต์ตำรวจ โดยเมื่อฝ่ายสั่งการสื่อสารได้รับการแจ้งคดีหรือเหตุอุบัติเหตุที่โทรติดต่อเข้ามายังหมายเลข 110 (หมายเลขสายด่วนโทรแจ้งเหตุด่วน) ก็จะทำการติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

นอกจากนี้ปัจจัยในเรื่องความเร็วยังเป็นเรื่องของระบบการทำงานของตำรวจลาดตระเวน เพราะโดยปกติแล้วจะมีรถยนต์ตำรวจคอยทำหน้าที่ลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ที่ขับรถตำรวจได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนในการขับรถมาเป็นอย่างดี มีความชำนาญ รู้จักเส้นทางตรอกซอกซอย ด้วยประการเช่นนี้บวกกับการเป็นรถที่จะได้รับการให้ทางก่อนเสมอ จึงทำให้เมื่อเกิดคดีหรืออุบัติเหตุขึ้น รถยนต์ตำรวจสามารถไปถึงสถานที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ

ภายในรถยนต์ตำรวจมีอุปกรณ์อะไรติดตั้งเอาไว้?

car sign board

เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกับศูนย์บัญชากลางหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที ภายในรถจะต้องมี วิทยุสื่อสารแบบไร้สาย เป็นอุปกรณ์ติดรถที่จะขาดไปไม่ได้เด็ดขาด เสื้อกันกระสุน เผื่อในกรณีที่ต้องใช้สวมใส่ตอนจับกุมตัวผู้ร้ายที่มีอาวุธปืน ห่วงยางชูชีพ สำหรับช่วยเหลือบุคคลที่ประสบอุบัติเหตุจมน้ำที่แม่น้ำหรือทะเล รวมไปถึงกล่องปฐมพยาบาลและกระปองไฟจราจร เป็นต้น

2. รถมอเตอร์ไซค์ตำรวจ

bike1

รถมอเตอร์ไซค์ตำรวจสีขาวเริ่มใช้กันเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1936 โดยเป็นการนำรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจสีแดงจำนวน 38 คันนำมาทาสีใหม่ให้เป็นสีขาว ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจสีแดงเป็นรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจดั้งเดิมที่ใช้มากันตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 1918 เนื่องจากตัวรถถูกทาด้วยสีแดงทั้งคันจึงเป็นที่มาของชื่อ “รถมอเตอร์ไซค์ตำรวจสีแดง”

*เกร็ดความรู้*

bike red

ปี 1918 ญี่ปุ่นนิยมใช้รถยนต์ในการสื่อสารคมนาคมเพื่อการเดินทางเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดเคสอุบัติเหตุและการทำผิดกฏจราจรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรมตำรวจจึงมีการนำรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาใช้งาน โดยเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ถูกทาด้วยสีแดงทั้งคัน สาเหตุที่ทาด้วยสีแดงเนื่องจากเป็นสีที่สะดุดตา เข้าใจง่ายเมื่อพบเห็น ทั้งนี้ในปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นรถมอเตอร์ไซค์สีแดงได้ โดยถูกนำมาใช้ปฎิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง โดยมีการวางถังดับเพลิงบริเวณท้ายรถเอาไว้

แล้วทำไมถึงต้องเปลี่ยนไปทาสีขาว?

bike2

ด้วยอิทธิพลจากหลายประเทศทั้งจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้รถมอเตอร์ไซค์ตำรวจสีขาว จึงทำให้ญี่ปุ่นเองก็รับเอาแนวความคิดนั้นมาด้วย อีกทั้งเมื่อใช้สีขาวก็จะทำให้เห็นและเข้าใจได้ง่าย และยังสื่อถึง “สันติภาพและความสะอาดบริสุทธิ์” ซึ่งตำรวจมอเตอร์ไซค์ก็เปรียบเสมือน “อัศวินแห่งสันติภาพ” ที่คอยทำหน้าที่ดูแลสังคมของเราให้เป็นสังคมที่ปลอดอุบัติเหตุ และในปัจจุบันกฏหมายยังได้บัญญัติกำหนดให้รถทุกประเภทที่ทำหน้าที่ได้เท่ากับรถฉุกเฉินทุกคันจะต้องถูกทาด้วยสีขาว จึงทำให้รถมอเตอร์ไซค์ตำรวจญี่ปุ่นเป็นสีขาวนั่นเอง

สามารถขอนั่งรถยนต์หรือซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจได้หรือไม่?

police car criminal

รถยนต์กับรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจเป็นรถที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการลาดตระเวนตรวจตาดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ทำหน้าที่ทั้งคอยจับกุมผู้ทำผิดกฏหมายจราจรและผู้ร้ายต่าง ๆ สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไปนั้นจึง ไม่สามารถที่จะให้นั่งหรือซ้อนท้ายได้

แต่ทว่าในทุกวันที่ 10 มกราคมของทุกปี จะถือว่าเป็นวันหมายเลข 110 ของญี่ปุ่น ตามสถานีตำรวจหรือโรงเรียน จะมีการนำรถยนต์ตำรวจและรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจมาจัดแสดง ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถลองนั่งหรือสัมผัสรถยนต์ตำรวจกับรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจได้

*เกร็ดน่ารู้*

110 call

110 หรือหมายเลขสายด่วน 110 เป็นหมายเลขที่เอาไว้ใช้โทรแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายในประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นนิยมเรียงลำดับนับวันเดือนปี โดยเรียงจากปี-เดือน-วัน จึงทำให้หมายเลข 110 จึงเท่ากับวันที่ 10 มกราคม ไม่ใช่หมายถึงวันที่ 1 ตุลาคม

การจะขับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจได้ต้องผ่านการฝึกอย่างเข้มงวด!

police badge

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะสามารถขับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจได้นั้นจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านการฝึกฝนฝีมือมาอย่างหนัก นอกเหนือจากการที่ต้องมีความรู้และความสามารถในการขับรถที่มีการจราจรหนาแน่นแล้ว ยังต้องทำหน้าที่คอยตามจับกุมผู้ร้ายหรือผู้ทำผิดกฎจราจรที่ขับรถยนต์หลบหนีอีกด้วย

ดังนั้นในส่วนของการการฝึก จะต้องฝึกในส่วนของการขับรถยนต์ให้ปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง ฝึกการขับรถไล่ล่าผู้ต้องหาที่ขับรถหนีด้วยสปีดการขับรถกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ฝึกการรู้จักคุมเบรคและหยุดรถได้อย่างกะทันหันในกรณีที่มีคนกระโดดออกมาขวางหน้ารถ รวมไปถึงยังต้องฝึกความชำนาญในการหมุนและหักพวงมาลัยที่ถูกต้องเวลาเข้าโค้ง นอกจากนี้แล้วการที่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยสูงสุดในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างลหิมะหรือฝนตกหนัก ก็เป็นทักษะที่สำคัญเช่นกัน

3. เฮลิคอปเตอร์ตำรวจ

heli

ปกติแล้วเฮลิคอปเตอร์ตำรวจมีหน้าที่หลัก ๆ คือ ทำการตรวจตราลาดตระเวนทางอากาศ ติดตามเกาะแกะรอยผู้ร้าย หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ รวมถึงขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาล เป็นต้น

4. เรือตำรวจ

police boat

เรือตำรวจหรือที่ปกติเราจะเรียกกันว่า “เรือลาดตระเวน” จะมีหน้าที่ทำการตรวจตราลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยทางน้ำหรือตามชายฝั่ง คอยทำหน้าที่จับกุมผู้ลับลอบค้าอาวุธหรือยาเสพติดทางเรือ และยังดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนรวมถึงชายฝั่งในฤดูเปิดทะล นอกเหนือไปจากเรือลาดตระเวนแล้ว ในบางครั้งก็ยังมีการนำเรือสปีดโบ๊ท หรือ เจ็ทสกีเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใช้งานอีกด้วย

ตำรวจนอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือแก่ประชาชนในยามเดือดร้อนต่าง ๆ แล้ว เพื่อให้การทำงานในหน้าที่ของตนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ยานพาหนะต่าง ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็นทั้งการใช้ รถยนต์ตำรวจ รถมอเตอร์ไซค์ตำรวจ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือลาดตระเวน เป็นต้น ทุกคนล่ะคะไม่ทราบว่าเคยเห็นยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ตำรวจเเบบไหนกันมาบ้างคะ?

สรุปเนื้อหาจาก : pref.aichi.jp/police
เรียบเรียงโดย : XROSSX

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า