ด้วยผักต่าง ๆ เป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญได้แก่ วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยคงหน้าที่การทำงานที่ดีของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยในการสร้างพลังงาน และเสริมสร้างความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของร่างกาย และเส้นใยอาหารซึ่งจำเป็นต่อการมีสุขภาพที่ดี ป้องกันและบรรเทาอาหารท้องผูก และป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน การไม่รับประทานผักเลยหรือรับประทานผักได้น้อยในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ มารู้กันว่าอาหารอะไรบ้างที่นักกำหนดอาหารชาวญี่ปุ่นแนะนำให้คนไม่ชอบผักรับประทานเป็นประจำแทนผักกันค่ะ
อาหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายสำหรับคนที่ไม่ชอบรับประทานผัก
1. เห็ด
เช่นเดียวกับผัก เห็ดเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำและทำให้อิ่มท้อง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 กรดโฟลิก วิตามินดี และโพแทสเซียม รวมถึงเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ โดยเส้นใยอาหารชนิดนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและช่วยขับของเสียออกจากร่างกายทางอุจาระ
2. สาหร่ายทะเล
ในญี่ปุ่นมีสาหร่ายทะเลมากมาย เช่น วาคาเมะ ฮิจิกิ และสาหร่ายคอมบุ เป็นต้น ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน ได้แก่ บีต้า แคโรทีน วิตามินดี อี เค ซี และบี และแร่ธาตุ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น นอกจากนี้ สาหร่ายยังอุดมไปด้วยเส้นใยที่ละลายน้ำได้ซึ่งช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วยมีรสชาติที่อร่อยทำให้สามารถรับประทานสาหร่ายได้ง่ายในรูปของสลัด ซุป และผงโรยข้าว เป็นต้น
3. บุกหรือคอนยัคกุ (Konnyaku)
บุกและผลิตภัณฑ์บุกต่าง ๆ อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและวิตามิน และเส้นใยอาหารที่ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกได้ดี
4. ผลไม้สด
ผลไม้สดมีรสหวานและรับประทานได้ง่ายซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่ชอบผักจำนวนมากรับประทานได้ ผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินซี โพแทสเซียม และเส้นใยอาหาร ทั้งนี้มีข้อควรระวังคือผลไม้มีรสหวานหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักได้ จึงควรรับประทานผลไม้สดไม่เกินวันละ 200 กรัมซึ่งเท่ากับปริมาณของกล้วยประมาณ 2 ผล
หากเพื่อนผู้อ่านรับประทานผักได้ไม่กี่ชนิดและพบว่ามีปัญหาท้องผูก ลองหาอาหารดังกล่าวมารับประทานเสริมเพื่อเสริมสร้างการทำงานที่ดีของร่างกายดูค่ะ ทั้งนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือการพยายามรับประทานผักให้หลากหลายชนิดขึ้น โดยอาจใช้เทคนิคการปรุงอาหารเพื่อลดกลิ่นแปลกของผัก หรือนำมาปรุงเป็นเมนูที่ทำให้รับประทานผักได้ง่ายและอร่อยขึ้น ไว้คราวหน้าผู้เขียนจะหาเมนูอร่อยจากผักมาแนะนำให้ลองทำค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal