ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย หากไตมีปัญหาจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียออกจากร่างกายลดลง และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลรักษาในที่สุดก็จะทำให้เกิดไตวายหรือภาวะไตล้มเหลวได้ เมื่อป่วยเป็นโรคไตการดูแลไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ มารู้กันว่าอาหารประเภทใดบ้างที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง และอาหารประเภทใดบ้างที่ควรรับประทานเพื่อดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรงขึ้นตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นกันค่ะ 

อาหาร 4 ประเภท ที่ผู้ป่วยไตควรหลีกเลี่ยง

1. อาหารที่มีปริมาณเกลือสูง

บะหมี่ถ้วย

การลดปริมาณเกลือ เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคไต เนื่องจากไตทำหน้าที่ในการขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย การรับประทานเกลือเข้าไปในปริมาณที่สูงจะทำให้ไตทำงานหนัก ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดการรับประทานเกลือให้ไม่เกินวันละ 3-6 กรัม โดย 3 วิธีอย่างง่ายในการลดเกลือมีดังนี้

  1. ไม่รับประทานน้ำซุปบะหมี่ ราเม็งและอุด้ง
  2. ปรุงอาหารโดยใช้น้ำส้มสายชู ขิง และกระเทียมเป็นเครื่องปรุงรสเพื่อทำให้รสชาติอร่อยโดยใช้เกลือน้อยลง
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาเค็ม เนื้อเค็ม และเนื้อสัตว์แปรรูป

2. อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง

บร็อคโคลี่ โพแทสเซียม

โพแทสเซียม เป็นแร่ธาตุที่หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะก็จะช่วยขจัดเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย สำหรับคนที่แข็งแรงปกติเมื่อรับประทานโพแทสเซียมในปริมาณมากเกินความจำเป็น ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะ แต่สำหรับคนที่ไตมีปัญหา ประสิทธิภาพการขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายจะลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะการสะสมของโพแทสเซียมในร่างกายและทำให้เกิดอาการชาที่แขนขาและหัวใจเต้นผิดปกติ อีกทั้งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงในปริมาณที่มาก ซึ่งได้แก่ มะเขือเทศ บรอกโคลี กล้วย กีวี่ เมล่อน ผลไม้แห้ง มันฝรั่งและถั่วเหลือง เป็นต้น ทั้งนี้การต้มผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทานจะช่วยลดปริมาณโพแทสเซียมได้ประมาณ 20-50 เปอร์เซ็นต์

3. อาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง

เนื้อ โปรตีน

ไตที่มีภาวะอ่อนแอไม่สามารถขับของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีนได้อย่างเหมาะสม ทำให้ไตเกิดความเครียดและทำให้การทำงานของไตแย่ลง เพื่อป้องกันไม่ให้ไตทำงานหนักผู้ป่วยโรคไตควรลดปริมาณโปรตีนต่อวันให้อยู่ในช่วงประมาณ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กล่าวคือ หากน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรรับประทานโปรตีนวันละประมาณ 30-40 กรัม

อย่างไรก็ดี โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการคงความแข็งแรงของสุขภาพและกล้ามเนื้อ อีกทั้งหากรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอก็ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับปริมาณของโปรตีนที่ควรรับประทานในแต่ละวัน

4. อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง

ถั่ว ฟอสฟอรัสสูง

ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน และมีบทบาทสำคัญในการสร้างพลังงาน กรดนิวคลีอิก และเยื่อหุ้มเซลล์ แต่ในผู้ป่วยโรคไตที่ไตไม่สามารถขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรับประทานอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงก็จะทำให้ฟอสเฟตสะสมอยู่ในเลือด ซึ่งหากมีการสะสมในระยะยาวก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลืองและถั่วลิสง ปลาตากแห้ง ชีส แฮม และปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น

อาหาร 3 ประเภท ที่นักกำหนดอาหารแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตรับประทาน

1. ไข่

ไข่

ไข่ อุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นที่ไม่สามารถผลิตได้ในร่างกาย วิตามิน และแร่ธาตุ โดยควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะคือ 1/2-1 ฟองต่อวันสำหรับผู้ป่วยที่ถูกจำกัดให้รับประทานโปรตีนไม่เกินวันละ 30 กรัม ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงวิธีการปรุงโดยใช้น้ำมัน

2. ปลาเนื้อขาวและปลาหนังสีน้ำเงิน

ปลา

ปลาเนื้อขาวและปลาหนังสีน้ำเงิน เช่น ปลาลิ้นหมา ปลาแซลมอน ปลาซาบะ ปลาสีกุน และปลาทูน่า เป็นต้น เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสุขภาพไต

3. อาหารที่ดีต่อหัวใจ

อาหาร

หัวใจและไตมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดและความดันโลหิต ทั้งหัวใจและไตมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดกับภาวะหลอดเลือดแข็งและโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจจะมีผลในการช่วยบรรเทาโรคไตได้ เช่น เนื้อไก่ที่ไม่ติดหนัง เนื้อหมูไม่ติดมัน ปลา ถั่วเหลือง ผักต่าง ๆ และผลไม้ เป็นต้น  

สุขภาพดีหาซื้อไม่ได้ ดังนั้นมาใส่ใจดูแลสุขภาพของเราให้ดีตั้งแต่อายุไม่มากกันค่ะ แต่หากว่าวันหนึ่งตรวจพบความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกายขึ้น ก็อย่ายอมแพ้ค่ะ หันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัว พร้อมกับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้หายป่วย ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงกันไปนาน ๆ ค่ะ

นอกจากอาหารที่ผู้ป่วย “โรคไต” ควรหลีกเลี่ยงแล้ว เราก็ยังมีบทความ อาหารที่ช่วยป้องกัน “โรคหัวใจ” มานำเสนอด้วยค่ะ ใครชอบอ่านบทความสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแบบนี้อย่าลืมไปตามอ่านกันต่อด้วยนะคะ!

สรุปเนื้อหาจาก: b-style-msc.com, soujinkai.or.jp

ซากุระ เมืองร้อน

แม่บ้านญี่ปุ่นลูกสองผู้รักการทำอาหาร หลงใหลในความงดงามของดอกไม้และธรรมชาติ และชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อให้แข็งแรงและสวยไปนานๆ ขอฝากเนื้อฝากตัวเพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ในมุมมองที่หลากหลายให้กับเพื่อนผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า