วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - Feature

ความสูญเสียใหญ่หลวงของวงการ Popular Culture ทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการจากไปของอาจารย์โทริยะมะ อะกิระ (เรียงลำดับนามสกุลขึ้นก่อนแบบญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค. ศ. 2024 ด้วยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชนิดเฉียบพลัน ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับ Dragon Ball มากกว่าเดิม จากที่เดิมก็โด่งดังมากอยู่แล้ว

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับเรื่อง Dragon Ball เมื่อได้เขียนคอลัมน์ที่แล้วเรื่อง “ทำไม Dragon Ball จึงเป็นตำนาน” วันนี้จึงอยากพูดถึงวิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball ที่อ้างอิงจากโลกของความเป็นจริงบางส่วนดูบ้าง

ความฮ่องกง

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - อิทธิพลภาพยนตร์ฮ่องกง
ครั้งแรกที่โกคูปล่อยพลังคลื่นเต่า

ในช่วงแรกของเนื้อเรื่องตั้งแต่เปิดตัวเจอบุลม่าไปจนกระทั่งช่วงที่ไปช่วยราชาปีศาจวัวดับไฟ วิทยายุทธในเรื่องยังค่อนข้างมั่ว ๆ แนวมวยวัด แต่เมื่อผู้เฒ่าเต่าได้ปล่อยพลังคลื่นเต่าให้ประจักษ์เป็นครั้งแรก เป็นการเริ่มเนื้อเรื่องด้านศิลปะการต่อสู้แนววิทยายุทธอย่างเป็นรูปธรรมของเรื่องนี้

ตามที่ทราบกันว่าญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลของจีนโบราณ (จีนโบราณ คือไม่ใช่จีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน แต่เป็นจีนโบราณเช่น แคว้นอู๋ หรือราชวงศ์ฮั่น เป็นต้น) ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นจึงมีลักษณะผสมระหว่างญี่ปุ่นและจีนโบราณ ประกอบกับช่วงทศวรรษที่ 70s ถึงต้นทศวรรษ 90s จัดเป็นยุคทองของซีรีส์และภาพยนตร์ฮ่องกง เรื่อง Dragon Ball จึงมีฉากต่อสู้ที่อ้างอิงฮ่องกงอย่างมาก

ยุค 70s นั้นหนังฮ่องกงจะเน้นสมจริง ไม่ค่อยมีฉากเหาะหรือปล่อยแสง แต่พอมายุค 80s-90s เมื่อเทคโนโลยีการถ่ายทำพัฒนาไปมาก และเข้าสู่ยุคทองของการส่งออกหนังฮ่องกง ทำให้เกิด Special Effect การเหาะเหินเดินอากาศ การปล่อยพลังลมปราณออกมาเป็นแสงสีให้เห็นจริง ๆ ดังนั้น ในเรื่อง Dragon Ball จึงมีการใช้แนวคิดเดียวกันในการปล่อยพลังคลื่นเต่า คือ Visualize พลังลมปราณให้เห็นเป็นแสงสีจริง ๆ ตามแบบฉบับฮ่องกงเปี๊ยบ

จากนั้นเมื่อมีโกคู และ คุริลิน เริ่มฝึกวิชากับผู้เฒ่าเต่า ก็มีฉากฝึกวิชาด้วยกิจกรรมสุดโหดหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น เอาของหนักถ่วงร่างกายไว้ตลอดทั้งวัน ช่วยชาวบ้านส่งนม ทำไร่ด้วยมือ อะไรที่มีลักษณะคล้ายหลวงจีนฝึกวิชาที่วัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นแบบฉบับหนังฮ่องกงยุคนั้นอีกเช่นกัน

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - การอ้างอิง Jackie Chan และ Bruce Lee
ผู้เฒ่าเต่าในร่างแจ็กกี้ ชุน (ซ้าย) ขณะกระโดดเตะ Flying Kick สวนกับโกคู

แม้กระทั่งการประลองระหว่างโกคู และ แจ็กกี้ ชุน (ผู้เฒ่าเต่าปลอมตัวมา) ชื่อว่าแจ็กกี้ ชุน (Jackie Chun) ก็ล้อเลียนชื่อภาษาอังกฤษของเฉินหลงว่าแจ็กกี้ ชาน (Jackie Chan) และบุคลิกนักสู้ผู้มีฝีมือสูงส่งแต่ว่าติดตลกโปกฮา ก็ถอดแบบมาจากบุคลิกของเฉินหลงในยุคนั้น ฉากการประลองยุทธหนึ่งในใต้หล้าก็ได้รับอิทธิพลจากหนังกำลังภายในฮ่องกง ทั้งชื่อการประลองว่า “หนึ่งในใต้หล้า” ก็ด้วย อีกทั้งท่วงท่าในการต่อสู้รวมทั้งวิทยายุทธเช่น “หมัดเมา” ของ แจ็กกี้ ชุนก็ได้อิทธิพลจากหนังเรื่อง “ไอ้หนุ่มหมัดเมา” ที่ Jackie Chan แสดงจริง ๆ รวมทั้งฉากสุดท้ายที่โกคูและแจ็กกี้ ชุนกระโดดลอยตัวเตะสวนกันที่เรียกว่าท่า Flying Kick ก็เป็นท่ากระโดดเตะที่เป็นจุดขายของ Bruce Lee ที่โด่งดังมาก ๆ ในยุคนั้น

หลังจากนั้นในการประลองหนึ่งในใต้หล้าก็จะมีตัวละครหลายตัวที่ใช้วิทยายุทธเอเชีย และปล่อยพลังลมปราณออกมาเป็นแสงสีให้เห็น เช่น คุริลิน หยำฉา เทนชินฮัง และเจาซือ เป็นต้น

การสะกดวิญญาณปีศาจ

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - วิชาคลื่นผนึกมาร
วิชาคลื่นผนึกมารที่ใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า

พล็อตการสะกดวิญญาณปีศาจแล้วนำไปขังไว้ในภาชนะอะไรสักอย่าง เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลกทั้งเอเชียและตะวันตก วิชาคลื่นผนึกมาร (หรือ มะฟูบะ: 魔封波) ก็เป็นการอ้างอิงถึงวิชาสะกดวิญญาณในโลกแห่งความจริง โดยจากนิสัยของอาจารย์โทริยะมะที่ลักษณะขี้เล่น ตลกไม่สุด เครียดก็ไม่สุด จึงให้สะกดวิญญาณแล้วเอาจอมปีศาจพิคโกโล่ไปขังใน “หม้อหุงข้าวไฟฟ้า” แทนที่จะเป็นหม้อดินที่ดูขลังกว่า พลังสะกดวิญญาณนี้จะมีบทบาทเด่นอีกครั้งในภาค Super อีกด้วย

และนอกจากการสะกดวิญญาณ ยังมีการกล่าวถึงแนวคิดของลัทธิเต๋า คือกล่าวถึงความดี-ความชั่วของพระเจ้าและจอมปีศาจพิคโกโล่ว่าที่จริงแล้วเคยเป็นตัวตนเดียวกันมาก่อน ก็เป็นการสะท้อนแนวคิดหยินหยาง (陰陽) ของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นฐานคิดของศิลปะป้องกันตัวอีกหลายสำนักในญี่ปุ่น

วิทยาศาสตร์การกีฬาแบบตะวันตก

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - เครื่องแรงโน้มถ่วง
เครื่องสร้างแรงโน้มถ่วงในห้องฝึกของโกคู

หลังจากเริ่มพลิกโผไปสู่พล็อตมนุษย์ต่างดาวและจักรวาล โดยอ้างอิงจากเรื่อง Superman ภาค 2 (ปี 1980) ที่เป็นพล็อตเฉลยว่าซงโกคูที่จริงเป็นมนุษย์ต่างดาวหนีมาโลกตอนที่ดาวตัวเองระเบิด และต้องไปสู้กับเผ่าพันธุ์เดียวกับตัวเองอีก 3 คนคือ ราดิทช์ นัปปะ และ เบจิต้า ก็มีการพัฒนาศิลปะการต่อสู้ไปสู่แนวตะวันตกมากขึ้น

โดยมีการเริ่มใช้ตัวเลขบอกพลังความแข็งแกร่งของวิทยายุทธ แนวเดียวกับที่ตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาที่ต้องการวัดผลทุกอย่างได้ด้วยตัวเลข จึงให้มีเครื่องวัดพลังออกมาเป็นสเกลตัวเลขได้ชัดเจน

จากนั้นมีการใช้วิทยาศาสตร์สร้างห้องแรงโน้มถ่วงทั้งบนยานที่โกคูเดินทางไปดาวนาเม็ก และสร้างขึ้นที่บ้านของบุลม่าในตอนหลัง ก็เป็นแนวคิดของวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบตะวันตก ที่ใช้วิทยาศาสตร์มาวัดผลด้วยตัวเลข และใช้วิทยาศาสตร์มาพัฒนาร่างกายของนักกีฬาทั้งมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูก โดยใน Dragon Ball ใช้แนวคิดเดียวกันในการฝึกฝีมือของเหล่านักสู้ในเรื่อง

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - กีนิว
กีนิว หัวหน้าหน่วยรบกีนิว

แม้แต่บนดาวนาเม็ก กีนิวซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยรบกีนิวยังเข้าใจผิด ว่าซงโกคูเก่งกาจเพราะ “ร่างกาย” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันตกมาก ว่ามนุษย์เราแข็งแกร่งในการต่อสู้เพราะมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกเป็นหลัก แต่เมื่อกีนิวใช้วิชาสลับร่างกับโกคูแล้วก็พบว่าไม่สามารถใช้ร่างกายของโกคูต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ก่อนโกคูจะเฉลยว่า เคล็ดลับความแข็งแกร่งของวิทยายุทธคือการประสานกายและจิตเป็นหนึ่ง ไม่ใช่แค่ร่างกายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการกลับไปสู่แนวคิดวิทยายุทธของเอเชียอีกครั้งที่ต้องประสานกายและจิต ในขณะที่วิชาของกีนิวมีความคล้ายกับหลักกีฬาตะวันตกคือเน้นกำลังภายนอกจากมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกเท่านั้น

การฝึกจิตของ “ร่างซูเปอร์ไซย่า” และ “ร่างอัตนิยม (Ultra Instinct)”

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - ร่างซูเปอร์ไซย่า
โกคูในร่างซูเปอร์ไซย่า

เมื่อโกคูกลายเป็นซูเปอร์ไซย่าครั้งแรกนั้น เกิดจาก 2 ปัจจัยประกอบกัน คือต้องมีวิทยายุทธสูงพอจะเข้าถึงสภาวะของซูเปอร์ไซย่า และ ต้องมีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่พลุ่งพล่านถึงขีดสุด (โกคูโมโหถึงขีดสุดที่คุริลินโดนฟรีเซอร์ฆ่าตาย ส่วนเบจิต้าน่าจะโกรธถึงขีดสุดที่ฝึกวิชาเท่าไรก็ไม่เก่งเท่าโกคู ประกอบกับได้เห็นทรังคซ์จากอนาคตที่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นลูกชายของตัวเอง ดันกลายร่างเป็นซูเปอร์ไซย่าได้ด้วย)

แสดงว่า การกลายเป็นซูเปอร์ไซย่า ต้องใช้ปัจจัยทางอารมณ์หรือการฝึกจิตเข้าช่วย นอกเหนือไปกว่าการฝึกร่างกายให้เข้าสู่ระดับเหนือมนุษย์ เมื่อตอนฝึกวิชาในห้องกาลเวลาเพื่อรับมือเซล โกคูจึงต้องฝึกโดยการคงสภาพร่างซูเปอร์ไซย่าไว้ในการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เพื่อให้ทั้งกายและจิตทำความคุ้นเคยกับ “ภาระหนัก” ที่เกิดขึ้นในขณะแปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซย่า ซึ่งเป็นแนวคิดการฝึกร่างกายแบบตะวันออกที่เน้นฝึกให้ร่างกายและจิตใจรับโหลดหนัก ๆ อยู่เป็นประจำจนเกิดเป็นความเคยชิน เมื่อลงแข่งหรือออกศึกใหญ่จะทำให้กายและจิตรับโหลดได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - ร่างอัตนิยม
โกคูในร่างอัตนิยม

แม้แต่ในภาค Super ตอนใกล้จะจบ ก็เผยร่างใหม่คือ “ร่างอัตนิยม (Ultra Instinct)” ซึ่งได้มีคำอธิบายไว้ว่า เป็นร่างที่เข้าสู่สภาวะผ่อนคลายสูงสุดทั้งกายและจิต สามารถขจัดการเคลื่อนไหวที่เปล่าประโยชน์ (หรือ มุดะ: 無駄) ไปได้หมดสิ้น จะทำให้มีวิทยายุทธสูงสุดในระดับ Ultra Instinct ก็เป็นแนวคิดที่โลกแห่งความจริงกล่าวถึงกันหมดทุกวิชาในวิทยายุทธเอเชีย ทั้งมวยเส้าหลิน, มวยไท้เก๊ก, คาราเต้, ไอกิโด, เคนโด, อิไอโด, เทควอนโด, ทังซุโด คือต้องสามารถลดมุดะให้ได้ทั้งในระดับกายและใจ เมื่อกายและใจขจัดสิ่งที่เปล่าประโยชน์ออกไปได้หมด จะทำให้วิทยายุทธสูงส่งขึ้นอีกมาก ก็เป็นแนวคิดที่มีอยู่จริงในวิทยายุทธของโลกแห่งความจริง

สรุป

วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball - สรุป

อาจารย์โทริยะมะ อะกิระ เป็นอัจฉริยะแห่งการ “แถ” ใช้ทุกวิธีเพื่อดึงคนอ่านให้เสพติดเนื้อเรื่อง และคอลัมน์นี้ก็ได้อธิบายให้เห็นเทคนิคที่อาจารย์ประยุกต์วิทยายุทธจากโลกแห่งความจริงเข้าไปใช้ในเนื้อเรื่องของ Dragon Ball แม้ผู้อ่านจะตระหนักดีว่าในชีวิตจริงเราเหาะเหินเดินอากาศหรือปล่อยแสงไม่ได้ แต่ก็สร้างความสมเหตุสมผลบางอย่างในเนื้อเรื่อง เช่นเดียวกับที่ผู้ชมหนังกำลังภายในก็ยังสนุกกับมันได้แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าชีวิตจริงนั้นคนเราเหาะและปล่อยกำลังภายในออกมาเป็นแสงแบบนั้นไม่ได้ เช่นกัน

สุดท้ายนี้ ขอลงผลงานเขียนทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่อง Dragon Ball ที่ผู้เขียนทำมาตลอดชีวิตจนกระทั่งปัจจุบันที่เขียนคอลัมน์นี้ โดยมีทั้งงานวิชาการ และงานเขียนบทความออนไลน์ดังนี้

1) วิทยานิพนธ์

Japanese Manga as Intercultural Media of the U.S. and Japan: A Case Study of Akira Toriyama’ s Dragon Ball

2) บทความวิชาการเปรียบเทียบ Doraemon VS Dragon Ball

Examining Dragon Ball and Doraemon: A Winning and Losing Case of Intercultural
Media in the U.S.

3) บทความออนไลน์ใน THE PEOPLE

  1. ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน”
  2. “หยำฉา” แห่ง Dragon Ball โดนกระทืบ โดนแย่งแฟน ตัวละครขี้แพ้ที่คนรัก
  3. จีจี้และบุลม่า ตำนานศรีภรรยาแห่งดรากอนบอล-เมียเผด็จการ VS เมียประชาธิปไตย
  4. พิคโกโล่: จากเด็กกำพร้าสุดชั่ว สู่การเป็นตัวละครมนุษย์พ่อในดรากอนบอล
  5. เบจิต้า: ความรักของนักรบชาวไซย่า นักล่าผู้เหี้ยมโหดที่กลายเป็นพ่อบ้านแสนดี
  6. ผู้เฒ่าเต่า แห่ง Dragon Ball กะเทาะเปลือกความหื่นลามก คือเนื้อแท้อาจารย์ผู้ทุ่มเท
  7. คุริลิน: ความรักของผู้ชายโชคดี กับ จูฮะจิโกซัง (คุณหมายเลข 18) ของผม
  8. ฟรีเซอร์: ทั้งจักรวาลเขาคือตัวร้าย แต่สำหรับพนักงานในองค์กร เขาคือสุดยอดบอส
  9. มิสเตอร์ซาตานและบู: พ่อรวยสอนลูก จอมมารที่มีที่มาจากหนังดิสนีย์ ‘ซินเดอเรลล่า’
  10. ซง โกฮัง: ไม่เดินตามรอยพ่อ ผู้ภูมิใจในเป็นชาวโลกและไม่เคยมีร่างซูเปอร์ไซย่า 3
  11. เซลล์: สิ่งมีชีวิตผิดธรรมชาติในจักรวาล Dragon Ball ผู้ไร้เป้าหมายในชีวิต
  12. ทรังคซ์ – จอห์น คอนเนอร์ แห่ง Dragon Ball ผู้ทำให้เบจิต้ากลายเป็นมนุษย์พ่อ
  13. เท็นชินฮัง-เจาซือ: ความรักดุจพี่น้องของคนตรงใน ‘ดราก้อน บอล’ ที่โชคร้ายได้ครูไม่ดี
  14. มองแนวคิดเต๋า, ชินโต, และคริสต์ใน Dragon Ball ผ่านตัวละคร จอมปีศาจพิคโกโล่ และ พระเจ้า
  15. บุลม่า: แม่ 3 แบบผู้เป็นทุกอย่างให้บุรุษ 3 คนใน Dragon Ball
  16. 9 เรื่องราวชีวิต – ความคิด ของ ‘โทริยะมะ อะกิระ’ ที่สะท้อนผ่าน ‘ Dragon Ball’
  17. คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball” (บทสัมภาษณ์)

4) บทความออนไลน์ใน marumura

  1. ทางสองแพร่ง (Dilemma) ระหว่าง พันธุกรรม VS ความพยายาม ในมังงะและอนิเมของญี่ปุ่น
  2. การตั้งคำถามกับ “ครอบครัวร่วมสายเลือด” และ “ครอบครัวต่างสายเลือด” ในการ์ตูนญี่ปุ่น

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า