เมื่อป่วยหรือจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด สารอาหารในอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดอาจส่งผลในการลดประสิทธิภาพหรือเพิ่มผลข้างเคียงของยา มารู้กันว่าอาหารและเครื่องดื่มอะไรบ้างที่เภสัชกรชาวญี่ปุ่นแนะนำว่าไม่ควรรับประทานพร้อมยาบางชนิดค่ะ!

อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ควรรับประทานหรือดื่มพร้อมยาบางชนิด

1. นัตโตะกับยาต้านเกล็ดเลือดวาร์ฟาริน (Warfarin)

นัตโตะ

วาร์ฟาริน เป็นยาที่ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและเป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่รับประทานเพื่อป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยปกติยาวาร์ฟารินจะไปรบกวนการทำงานของวิตามินเคซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดที่อาจไปอุดตันในหลอดเลือดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ปอด สมอง เป็นต้น ดังนั้นนัตโตะที่มีปริมาณวิตามินเคสูงจึงอาจไปลดประสิทธิภาพของยาวาร์ฟารินลงได้ คุณหมอญี่ปุ่นจึงแนะนำให้ผู้ที่รับประทานยาวาร์ฟารินควรหลีกเลี่ยงค่ะ

2. นมกับยาปฏิชีวนะ

นม

ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการในโรคต่าง ๆ โดยตัวอย่างโรคและอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ได้แก่ โรคหูชั้นกลางอักเสบ สิว และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น ส่วน นม เป็นเครื่องดื่มอุดมด้วยปริมาณแคลเซียมสูงแต่อาจไปจับกับส่วนประกอบของยา และส่งผลต่อการการดูดซึมจนทำให้ประสิทธิภาพยาลดลงได้ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านมจะสามารถยับยั้งยาปฏิชีวนะได้ทุกตัวเสียทีเดียว แต่จะเป็นการดีมากหากหลีกเลี่ยงการดื่มนมทันทีหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ

3. ชีสกับยาทรานควิไลเซอร์ (Tranquilizers) และยาแก้ซึมเศร้า

ชีส

ชีสมีปริมาณ สารไทรามีน (Tyramine)ในปริมาณที่สูง โดยไทรามีนเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยส่งเสริมการหลั่งฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) ซึ่งช่วยเพิ่มความดันโลหิตและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยปกติสารประกอบไทรามีนจะถูกย่อยสลายโดยเอนไซม์ในร่างกายทำให้ไม่เกิดปัญหาแม้รับประทานชีสเข้าไป แต่ยาแก้ซึมเศร้าบางตัวและยาทรานควิไลเซอร์ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดความวิตกกังวลและคลายความเครียด จะไปยับยั้งการย่อยสลายของสารประกอบไทรามีน ส่งผลให้เกิดความเป็นพิษจากสารดังกล่าว ทำให้อาจเกิดอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ และความดันโลหิตสูงอย่างฉับพลัน เป็นต้น

4. เกรปฟรุตกับยาลดความดันโลหิต

เกรปฟรุต

สารประกอบ ฟูราโนคูมาริน (Furanocoumarins) ที่มีมากในเนื้อเกรปฟรุตจะไปยับยั้งกระบวนการสลายของยาในตับ และส่งผลให้ระดับยาในเลือดสูงจนมีประสิทธิภาพมากเกินไปซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงตามมาได้แม้จะรับประทานเกรปฟรุตในปริมาณที่น้อยก็ยังอาจเกิดผลข้างเคียงได้อยู่ดี เช่น ปวดศีรษะหรือใจสั่นเนื่องจากความดันโลหิตที่ลดลงต่ำเกินไปได้ การรับประทานเกรปฟรุตหลังจากรับประทานยาดังกล่าวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก็ไม่ได้ช่วยให้ผลข้างเคียงจากยาลดน้อยลงเช่นกัน เพราะยาบางชนิดออกฤทธิ์ค่อนข้างนาน เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงเกรปฟรุตรวมถึงน้ำเกรปฟรุต และผลไม้ตระกูลส้มบางชนิดที่เภสัชกรจะระบุไว้เมื่อจ่ายยาค่ะ

แม้ว่าในตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องคอยระวังเรื่องการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ส่งผลในการลดประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียงของยา แต่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามค่ะ! เผื่อเป็นประโยชน์กับเราหรือคนใกล้ตัวสักวันหนึ่ง!

สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal.jp

ซากุระ เมืองร้อน

แม่บ้านญี่ปุ่นลูกสองผู้รักการทำอาหาร หลงใหลในความงดงามของดอกไม้และธรรมชาติ และชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อให้แข็งแรงและสวยไปนานๆ ขอฝากเนื้อฝากตัวเพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ในมุมมองที่หลากหลายให้กับเพื่อนผู้อ่านทุกท่านค่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า