ในช่วงฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่นนอกจากดอกไม้ที่บานสวยงามแล้วก็มีผลผลิตทางการเกษตรที่อร่อยมากมาย เช่น กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง ผักป่าต่าง ๆ หน่อไม้ หอมใหญ่สด และมันฝรั่ง เป็นต้น หนึ่งในผักประจำฤดูใบไม้ผลิไม้ที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบมาก ๆ จากรสชาติที่อร่อยและคุณค่าสารอาหารที่ดีต่อร่างกายก็คือ หอมใหญ่สด (新玉ねぎ) มารู้จักหอมใหญ่สดและคุณค่าสารอาหารที่ทำให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบ พร้อมสูตรการยำหอมใหญ่สดที่อร่อยอย่างง่ายกันค่ะ

รู้จักหอมใหญ่สด

หอมใหญ่สดในฤดูใบไม้ผลิจะมีรสชาติหวานสดชื่นที่ไม่สามารถพบในหอมใหญ่ที่ปลูกในฤดูกาลอื่นได้ โดยปกติหอมที่มีจำหน่ายทั่วไปหลังจากเก็บเกี่ยวจะถูกปล่อยไว้ให้แห้งประมาณหนึ่งเดือนก่อนส่งขายทั่วญี่ปุ่น แต่หอมสดจะเป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูใบไม้ผลิและส่งจำหน่ายทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวซึ่งทำให้หอมใหญ่มีรสหวาน มีความฉ่ำ และมีรสเผ็ดน้อยกว่าหอมใหญ่ทั่วไป

คุณค่าสารอาหารของหอมใหญ่สด

หอมใหญ่สดอุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารดังนี้คือ

  1. วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ช่วยเสริมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตไปเป็นพลังงานซึ่งส่งผลในการป้องกันและบรรเทาความเหนื่อยล้า
  2. อัลลิลซัลไฟด์ (Allyl sulfide) และอัลลิซิน(Allicin) ลลิลซัลไฟด์และอัลลิซินเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนในหอมใหญ่ สารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการต้านไวรัส ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น
  3. เควอซิทิน (Quercetin) เควอซิทินเป็นโพลีฟีนอลชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากในหอมใหญ่ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง และบรรเทาอาการปวดข้อ เป็นต้น
  4. โพแทสเซียม (Potassium) หอมใหญ่สดอุดมไปด้วยโพแทสเซียมซึ่งมีสรรพคุณในการขจัดเกลือและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตัวบวมน้ำและความดันโลหิตสูง
  5. ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo-oligosaccharide) เป็นน้ำตาลที่มีแคลอรี่ต่ำซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปจะผ่านกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ น้ำตาลชนิดนี้เป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ จึงช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีของลำไส้ เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกาย

วิธีการทำยำหอมใหญ่สดอย่างง่าย

ด้วยมีรสชาติหวานอร่อยและไม่เผ็ดมากคนญี่ปุ่นจึงนิยมนำหอมใหญ่สดมารับประทานเป็นสลัดโดยมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้

1. นำหอมใหญ่หนึ่งหัว (ประมาณ 150 กรัม) มาหั่นบาง นำแช่ในน้ำที่มีน้ำส้มสายชูหมัก (น้ำ 200 มิลลิลิตร+น้ำส้มสายชูหมัก 2 ช้อนชา) เป็นเวลา 5 นาที จากนั้นเทน้ำทิ้งผ่านตะแกรงและวางหอมให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำใส่จานไว้

2. เตรียมส่วนผสมน้ำยำซึ่งประกอบด้วยน้ำมันงา 2 ช้อนโต๊ะ โชยุ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำส้มสายชูหมัก 1 ช้อนโต๊ะ เกลือและพริกไทยเล็กน้อย คนให้เข้ากัน แล้วนำมาราดบนหอมที่เตรียมไว้ โรยด้วยปลาแห้งคัตสึโอะบุชิ (40 กรัม) นำไปรับประทานได้ตามชอบ ทั้งนี้อาจปรับใส่วัตถุดิบได้ตามชอบ เช่น สาหร่ายวาคาเมะ เนื้อไก่ มะเขือเทศ และปลาทูน่า เป็นต้น

หากอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นหรือมาเยือนญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ลองมองหาเมนูจากหอมใหญ่สดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีรสชาติอร่อยมารับประทานดูค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal, delishkitchen.tv

ซากุระ เมืองร้อน

แม่บ้านญี่ปุ่นลูกสองผู้รักการทำอาหาร หลงใหลในความงดงามของดอกไม้และธรรมชาติ และชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อให้แข็งแรงและสวยไปนานๆ ขอฝากเนื้อฝากตัวเพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ในมุมมองที่หลากหลายให้กับเพื่อนผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า