ในสมัยก่อนคงจะไม่มีใครคาดคิดว่าการนำเอา “น้ำตาล กับ น้ำมัน” มาผสมรวมกันแล้วจะได้ออกมาเป็น “ขนมแป้งทอด” รสชาติอร่อยล้ำแบบนี้แน่นอนค่ะ ในวันนี้เราจึงจะขอมาเล่าถึงประวัติของเจ้าขนมแป้งทอดที่เราทุกคนรู้จักดีในชื่อของ “โดนัท” ว่าสำหรับคนญี่ปุ่นแล้วเจ้าโดนัทนี่มีเส้นทางและบทบาทอย่างไรในวงการขนมบ้าง ตามมาดูไปพร้อม ๆ เลย!
โดนัทเป็นขนมแบบไหน? อะไรทำให้ครองใจผู้คนมาได้อย่างยาวนาน?
ก่อนอื่นเลยถ้าจะให้อธิบายส่วนประกอบหลัก ๆ ของเจ้าขนมชนิดนี้เลยก็คือ เเป้งสาลี น้ำ น้ำตาลและเนย โดยวิธีการทำก็ง่ายกว่าที่คิด เพียงแค่นำเอาส่วนผสมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มาผสมรวมกันให้กลายเป็นแป้ง แล้วจึงนำไปทอด ก็จะได้เป็นโดนัทแสนอร่อยแล้วค่ะ!
และสำหรับสาเหตุที่ทำให้โดนัทครองใจหลายต่อหลายคนก็คงหนีไปไม่พ้นรสชาติความอร่อยและรูปแบบที่หลากหลายซึ่งช่วยให้เราเพลิดเพลินได้แบบไม่มีเบื่อเลย! เช่น แบบที่มีเนื้อแป้งด้านในเมื่อกัดเข้าไปก็จะให้รสสัมผัสที่อ่อนนุ่มราวกับกำลังรับประทานเค้ก ในขณะที่บางแบบกลับให้รสสัมผัสเหนียวนุ่ม หรือไม่ก็แข็ง อีกทั้งในส่วนของรูปทรงก็หลากหลายไม่แพ้กันเลย เพราะแม้โดนัทที่เราพบเห็นโดยปกติจะมีรูปทรงกลมหรือวงแหวนมีรูตรงกลาง แต่ก็มีบางชนิดที่เป็นทรงกลมแต่ไม่มีรูตรงกลางอยู่เหมือนกัน!? หรือจะเป็นแบบทรงยาวเรียว ก็มี! หลากหลายแบบมากจริงไหมคะ!
“เนเธอร์แลนด์” ต้นตำหรับของขนมโดนัท?
ที่มาที่ไปของขนมโดนัทนั้นต้องย้อนกลับไปไกลถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 กันเลยทีเดียว โดยในประเทศฝั่งยุโรป เช่น ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบันนั้น ถือให้โดนัทเป็นขนมพื้นเมืองค่ะ ผู้คนมักจะนิยมรับประทานกันในรูปแบบขนมทอดทรงกลมที่มีถั่ววอลนัทวางตรงกลาง ซึ่งเรียกเป็นภาษาดัตช์ว่า “โอลีคูกส์ (Olykeik) แปลว่า “ขนมเค้กน้ำมัน (Oil Cake)”
กระทั่งเมื่อเข้าสู่ช่วงยุคแห่งการสำรวจ ชาวดัตช์ที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากทางตอนเหนือของอเมริกา ก็ได้นำเจ้าขนมพื้นเมืองนี้เข้าไปเผยแพร่ด้วย รากศัพท์ของคำว่า “โดนัท” จึงเกิดมาจากการรวมกันของคำสองคำคือ “โด หรือ เนื้อแป้ง (Dough)” กับ “ถั่วหรือนัท (Nut)” นั่นเองค่ะ และเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปรูปแบบของขนมเองก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นแบบเราคุ้นชินกันในปัจจุบัน ซึ่งก็กล่าวได้ว่าโดนัทในตอนนี้นั้นเป็นรูปแบบของโดนัทที่เกิดจากการปรับปรุงรูปแบบและพัฒนาขึ้นในอเมริกานี้เอง
โดนัทถูกจัดให้เป็นอาหารที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารอเมริกัน!
เนื่องด้วยโดนัทเป็นขนมของกินที่ทำง่ายและยังสะดวกสบายสามารถถือกินรับประทานที่ไหนก็ได้ จึงทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี ค.ศ. 1917 (ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1) เหล่าอาสาสมัครหญิงที่ถูกเรียกว่า “Donut Lassies” จากองค์กรการกุศลที่ชื่อว่า “The Salvation Army” ได้ทำขนมโดนัทขึ้นมาแจกจ่ายเป็นเสบียงให้กับทหารอเมริกัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบออกศึก โดยโดนัทดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ขนาดมีข้อมูลที่ระบุเอาไว้ว่า “ได้มีการทำโดนัทแจกจ่ายให้แก่ทหารอเมริกันจนถึงช่วงสิ้นสุดสงครามโลกเป็นจำนวนมากถึงที่ 1 ล้านชิ้น”
และต่อมาในช่วงปีค.ศ. 1950 ก็ได้เกิดร้านขายโดนัทขึ้นเป็นจำนวนมากตามเมืองต่าง ๆ ทั่วอเมริกา โดยชนิดหรือประเภทของโดนัทที่ได้รับความนิยมในช่วงแรกเริ่มนั้น คือ “โดนัทนมสด (Milk Donut)” ที่ส่วนผสมหลัก คือ แป้งสำหรับทำเค้กนั้นเองค่ะ
นอกเหนือไปจาก กลุ่มอาสาสมัครหญิง Donut Lassies แล้ว หลังจากที่ญี่ปุ่นได้บุกเข้าโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ของอเมริกาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ทางสภากาชาดอเมริกาขณะนั้นไม่ใช่แค่ซัพพอร์ตด้านการรักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ยังเตรียมแผนที่จะสร้างขวัญและกำลังใจแก่ทหารอเมริกันอีกครั้งด้วยโดนัท!? โดยได้ทำการจัดตั้งกลุ่มหญิงสาวที่เรียกว่า “Doughnut Dollies” หรือ “Donut Dollies” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เดินทางติดตามกองทัพทหารอเมริกันไปยังสมรภูมิรบ เพื่อผลิตและส่งขนมโดนัทที่ทำเสร็จใหม่ ๆ รวมถึงรอยยิ้มเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับทหารอเมริกันในช่วงระหว่างสงคราม
แม้จะฟังดูเหมือนงานที่ง่าย แต่ทว่าการที่จะได้เป็น Donut Dollies นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว เพราะคุณสมบัติของหญิงสาวที่จะเป็น Donut Dollies ได้นั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น ต้องมีรูปร่างหน้าตาสวยและดูสมส่วน อายุต้องไม่เกิน 25 ปี มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง จบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีและได้รับการแนะนำจากมหาลัยที่จบการศึกษามาด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ในปี ค. ศ. 1938 อเมริกาได้กำหนดให้วันศุกร์แรกของเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็น “วันโดนัทแห่งชาติ (National Doughnut Day)” เพื่อเป็นเกียรติแก่อาสาสมัครหญิงสาวจากองค์กรการกุศล The Salvation Army ที่ได้เดินทางไปทำและแจกจ่ายโดนัทให้กับเหล่าทหารอเมริกันที่ฐานทัพในฝรั่งเศส ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปัจจุบันทุกปีเมื่อถึงวันศุกร์แรกของเดือนมิถุนายน ร้านโดนัทในอเมริกาจะต่างพร้อมใจกันจัดโปรโมชั่นหรือทำการแจกโดนัทฟรีให้กับประชาชน
ทฤษฎีเรื่อง “รูตรงกลางโดนัท”
มีหลากหลายทฤษฎีสำหรับเรื่องรูตรงกลางโดนัท เช่น บ้างก็กล่าวว่าในสมัยก่อน ถั่ววอลนัทซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบทำโดนัท ถูกจัดให้เป็นสินค้าหายากและมีราคาแพงมากที่อเมริกา จึงทำให้ไม่สามารถที่จะวางถั่ววอลนัทลงตรงกลางขนมได้เหมือนกับโดนัทที่ชาวดัตช์นำเข้ามาในตอนแรก จึงต้องปล่อยตรงกลางให้เป็นรูโหว่ไว้
หรือบ้างก็กล่าวว่ารูตรงกลางของโดนัทนั้นเกิดจากการที่กะลาสีเรือใช้พวงมาลัยเรือหรือพังงาเรือในการนวดแป้ง จึงทำให้เกิดเป็นรูโหว่ตรงกลางขึ้น แต่ทฤษฎีที่ดูสมเหตุสมผลมากที่สุด คือ มีเรื่องเล่าว่ามีสตรีนางหนึ่งนาม เอลิซาเบธ เกรเกอรี่ มารดาของกัปตันเรือนิวอิงแลนด์ นายแฮนสัน เกรเกอรี่ ได้นำแป้งสาลีมาผสมกับวัตถุดิบเครื่องปรุงต่าง ๆ แล้วนวดออกมาเป็นแป้งโด จากนั้นก็นำมาปั้นเป็นรูปทรงกลมแบนแล้วนำไปทอด เพื่อเป็นเสบียงให้ลูกของนางไว้รับประทานกินระหว่างออกเรือเดินทาง
ทว่านายแฮนสันลูกชายของนางดันรู้สึกไม่ถูกใจขนมดังกล่าว เพราะรู้สึกว่าขนมนั้นอมน้ำมันมากจนเกินไป เขาจึงนำเอาขวดพริกไทยมาเจาะแป้งตรงกลางของโดนัทออกให้เป็นรูโหว่ แล้วจึงนำไปทอด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ทอดง่าย สุกเร็ว และไม่อมน้ำมันซึ่งผลออกมาเป็นไปตามที่เขาคิดไว้จริง ๆ ค่ะ และโดนัทที่เขาทำขึ้นมานั้นเมื่อนำไปแจกจ่ายให้กับลูกเรือของเขา ก็ต่างได้รับคำชมจากบรรดาลูกเรือของเขาเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้โดนัทได้รับความนิยมในญี่ปุ่น?
ในส่วนของญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลความนิยมของโดนัทมาจากอเมริกาค่ะ เนื่องจากเป็นขนมที่มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ใช้วัตถุดิบที่มีติดบ้านทั่วไปก็สามารถทำได้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น วัตถุดิบ เช่น นม ไข่ แป้งสาลี และน้ำตาลก็เป็นวัตถุดิบที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยเป็นทุนเดิมเพราะมีส่วนที่คล้ายกับขนมญี่ปุ่นอยู่ จึงทำให้ความนิยมของเจ้าขนมโดนัทนี้สามารถเข้ามาครอบใจของชาวญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย
และอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้โดนัทได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในญี่ปุ่นก็เป็นเพราะ “ร้านขายโดนัท” ได้เริ่มเข้ามาเปิดกิจการขึ้นในญี่ปุ่น โดยในปี ค.ศ. 1971 “ร้าน Mister Donut” จากอเมริกา ได้ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองมิโนโอะ จังหวัดโอซาก้า ซึ่งถือได้ว่านี่คือร้านที่ขายเฉพาะโดนัทร้านแรกของญี่ปุ่นเลยค่ะ!
ทั้งนี้โดนัทที่ขายในช่วงแรกนั้นไม่ได้มีรูปแบบการผลิตหรือการทำที่พลิกแพลงอะไรมากมายนัก เป็นเพียงแค่การนำแป้งที่หมักไว้ไปทอดในน้ำมัน ส่วนการเติมไส้ครีมลงไปในตัวโดนัท หรือการแต่งหน้าด้วยไอซิ่งเกลศ( Icing Glaze) รวมไปถึงรูปแบบใหม่ ๆ นานาชนิดของโดนัทที่เราเห็นในปัจจุบันนั้นก็ถือว่าเป็นผลงานความคิดสร้างสรรที่ถือกำเนิดมาจากร้าน Mister Donut ทั้งสิ้นค่ะ
อย่างไรก็ตามหลังจากความสำเร็จของ Mister Donut ต่อมาก็มี “ร้าน Dunkin’ Donuts” สัญชาติอเมริกา เข้ามาเปิดกิจการในญี่ปุ่นเช่นกัน (ปัจจุบันร้าน Dunkin’ Donuts ได้เลิกกิจการธุรกิจในญี่ปุ่นไปแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1998 ค่ะ น่าเสียดายจังเลย)
Krispy Kreme ผู้จุดกระแสนิยมของโดนัทในญี่ปุ่นอีกครั้ง
แม้กระแสของโดนัทในญี่ปุ่นจะบูมมากอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปความนิยมก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการเข้ามาตีตลาดของขนมชนิดอื่น ๆ ที่แย่งความนิยมไปเป็นจำนวนมาก เช่น เครป (ปีค.ศ. 1977) พานาค็อตตา (ปีค.ศ. 1993) มาการอง (ปีค.ศ.2005) เป็นต้น กระทั่งในปี ค.ศ. 2006 “ร้าน Krispy Kreme” โดนัทสัญชาติอเมริกาอีกร้านก็ได้เข้ามาบุกกิจการในญี่ปุ่น และด้วยรูปแบบคอนเซ็ปต์ร้านที่มาพร้อมความเก๋ไก๋ กระแสความนิยมของโดนัทจึงกลับมาบูมในญี่ปุ่นอีกครั้ง
ทั้งนี้ในปัจจุบันโดนัทก็ถือเป็นขนมที่หาซื้อรับประทานได้ง่ายแล้ว ดังจะเห็นว่าแม้แต่ร้านสะดวกซื้อทั่วไปก็มีวางจำหน่ายให้เห็นกันจนชินตา แต่รู้ไหมคะว่าการที่โดนัทหาซื้อได้ง่ายแบบนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 2005 ที่ผ่านนี้เอง!?
รูปแบบของ “โดนัท” ที่ญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ในปัจจุบันแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีร้านขายโดนัทใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่อย่างไรเสียเมื่อพูดถึงโดนัทแล้ว ร้านแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของชาวญี่ปุ่นก็คงหนีไม่พ้นร้าน Mister Donut โดนัทเจ้าแรกผู้บุกเบิกทำธุรกิจโดนัทในญี่ปุ่นอยู่ดีค่ะ ซึ่งทุกวันนี้นอกจากโดนัทแบบดั้งเดิมแล้ว กระแสของการทำ “โดนัทตามฤดูกาล (Seasoning Menu)” หรือ “โดนัทตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์อนิเมชั่นดัง” ก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ว่าแต่ผู้อ่านเคยเห็นแบบไหนกันบ้างคะ?
โดนัทจัดได้ว่าเป็นขนมที่ใช้วัตถุดิบและมีสูตรในการทำที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นขนมที่แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม ก็สามารถเดินทางข้ามผ่านช่วงเวลา สามารถนำเอาไปพลิกแพงลงปรับเปลี่ยนให้เกิดเป็นขนมโดนัทในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาค่ะ ซึ่งเชื่อกันได้เลยนะคะว่าเจ้าขนมแป้งทอดแสนอร่อยนี้จะยังคงครองใจของใครต่อใครหลาย ๆ คนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันเบื่อเป็นแน่แท้ค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก : mag.japaaan.com
เรียบเรียงโดย : XROSSX