ในช่วงฤดูใบไม้ผลิหน่อไม้เป็นหนึ่งในผักที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบมาก เนื่องจากความสดหวานอร่อยที่มีให้รับประทานเพียงช่วงสั้นเท่านั้น แม้จะมีคุณค่าสารอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมาย แต่การรับประทานหน่อไม้ในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ มารู้ผลดีและผลเสียของหน่อไม้ต่อร่างกายกันค่ะ
หน่อไม้กับเมนูอาหารที่หลากหลายของคนญี่ปุ่น
หน่อไม้เป็นผักที่เก็บเกี่ยวได้มากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แม้จะมีหน่อไม้ต้มจำหน่ายตลอดทั้งปี แต่หน่อไม้สดที่มีรสชาติอร่อยสามารถหารับประทานได้เฉพาะช่วงใบไม้ผลิเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถึงเวลา ร้านอาหารมากมายในญี่ปุ่นก็มักจะมีเมนูจากหน่อไม้มาแนะนำ เช่น ข้าวหุงหน่อไม้ เทมปุระหน่อไม้ สปาเก็ตตี หน่อไม้ย่าง และหน่อไม้อาเอะโมะโนะ เป็นต้น
คุณค่าสารอาหารของหน่อไม้ที่ดีต่อร่างกาย
หน่อไม้อุดมไปด้วยกรดโฟลิก (Folic acid) โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง สังกะสี และเส้นใยอาหาร ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้คือ ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดความดันโลหิต เสริมการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย ป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยให้การขับถ่ายดี และช่วยให้สภาวะแวดล้อมในลำไส้ให้ดี
นอกจากนี้หน่อไม้ยังอุดมไปด้วยกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาท เช่น โดพามีน (Dopamine) ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมีสมาธิและผ่อนคลายความเครียด
3 ผลเสียของหน่อไม้ต่อร่างกาย
แม้จะมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากมายแต่การรับประทานหน่อไม้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายดังนี้คือ
1. ทำให้เกิดอาการปวดท้องและท้องผูก
หน่อไม้ประกอบไปด้วยเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำจะมีผลในการเพิ่มจำนวนอุจจาระและกระตุ้นการทำงานของลำไส้ แต่หากรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนของเส้นใยที่ละลายน้ำเข้าไปน้อยก็จะทำให้มีปริมาณน้ำในอุจจาระน้อยจึงทำให้อุจจาระในลำไส้แข็งและส่งผลให้ท้องผูกได้ อีกทั้งด้วยเป็นเส้นใยที่ย่อยยากสำหรับบางคนเมื่อรับประทานหน่อไม้เข้าไปแล้วอาจทำให้มีอาการท้องอืดและปวดท้องได้
2. ทำให้เกิดฝ้าและกระได้
หากรับประทานเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป กรดอะมิโนไทโรซีนที่มีมากในหน่อไม้จะเปลี่ยนไปเป็นเมลานินในร่างกาย เมลานินเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องรังสี UV จากแสงแดด แต่หากร่างกายสร้างสารชนิดนี้มากเกินไปก็จะก่อให้เกิดกระและฝ้าได้
3. ก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้
หน่อไม้มีสารที่เรียกว่าฮีสตามีน (Histamine) และอะซีทิลโคลีน (Acetylcholine) ในปริมาณที่สูงซึ่งหากรับประทานหน่อไม้เข้าไปมากเกินไปก็จะก่อให้เกิดอาการคันและลมพิษได้ โดยจะเกิดได้ง่ายกับผู้มีปัญหาสุขภาพหรือมีภาวะภูมิแพ้อยู่แล้ว
รับประทานหน่อไม้อย่างไรให้ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย?
โครงการเสริมสร้างสุขภาพญี่ปุ่นแนะนำให้รับประทานผักวันละประมาณ 350 กรัม เพื่อคงสุขภาพที่แข็งแรง โดย 1/3 ของปริมาณนั้นควรเป็นผักสีเขียวและผักสีเหลือง และส่วนที่เหลือเป็นผักที่มีสีอ่อน หน่อไม้ที่จัดเป็นผักสีอ่อนจึงสามารถรับประทานได้วันละประมาณ 230 กรัม ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาผลเสียจากการรับประทานหน่อไม้จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะและรับประทานร่วมกับอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารที่หลากหลาย
ทุกสิ่งในโลกล้วนมีสองด้าน เช่นเดียวกับผักและผลไม้หากรับประทานในปริมาณที่พอดีก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ ชอบรับประทานอะไรก็รับประทานไปค่ะ แต่ก็ต้องคำนึงเสมอว่าต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมกันค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: 39mag.benesse.ne