10 พฤษภาคม สุขสันต์วัน Maid’s Day ค่ะ! เนื่องในวันแบบนี้เรามารู้จักเรื่องราวของ Maid Café กันดีกว่า! ดังที่เรารู้กันว่า Maid Café (เมดคาเฟ่) เป็นวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์ที่มีต้นกำเนิดจากย่านอากิฮาบาระ ในกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันนั้นก็เป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันในหลาย ๆ ประเทศ ผู้อ่านบางท่านก็อาจจะพอทราบว่า ที่ไทยเองก็มี Maid Café ที่เหมือนกับที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้ว Maid Café จะมีคอนเซปต์คือ มีสาวๆ แต่งตัวน่ารักๆ (หรือบางที่ก็แต่งตัวตามธีมของแต่ละร้าน) มาให้บริการลูกค้า ทั้งเป็นคนทำอาหาร (ซึ่งมักเป็นเมนูง่ายๆ) เป็นพนักงานเสิร์ฟ รวมถึงคอยเอนเตอร์เทนลูกค้า เช่น มีการแสดง เล่นเกม หรือพูดคุยกับลูกค้า เป็นต้น
@home café
ในช่วงปี 2000s เป็นยุคที่ Maid Café เฟื่องฟูมาก เราจะสามารถพบเห็นร้าน Maid Café ได้มากมายหลายร้านโดยเฉพาะในย่านอากิฮาบาระ ในบรรดาร้านเหล่านี้ มีบางร้านก็ล้มหายตายจากไปบ้างในปัจจุบัน แต่มี Maid Café ร้านหนึ่งที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2004 และยังคงได้รับความนิยมอยู่ ร้านที่ว่านี้มีชื่อว่า “แอทโฮม คาเฟ่” หรือ @home café (あっとほぉーむカフェ) แม้ว่าคาเฟ่แห่งนี้จะเปิดมาเกือบ 20 ปี แต่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ อะไรคือเคล็ดลับที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้
ครั้งนี้ผู้เขียนได้นำบทสัมภาษณ์ของคุณ ชิกะ ฮิโตมิ (志賀瞳) หรือชื่อที่เธอใช้ในวงการคือ hitomi สาวสวยผู้ได้ชื่อว่าเป็น “Maid ระดับตำนานของญี่ปุ่น” มาเล่าให้ฟังค่ะ
คุณฮิโตมิ เริ่มทำงานที่ @home café มาตั้งแต่สมัยที่เปิดร้านในปี 2004 ปัจจุบันเธอมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้แลเรื่องการทำ Branding หรือ CBO (Chief Branding Office) ของร้าน
คุณฮิโตมิเล่าว่า คอนเซปต์ของร้านนี้อยากให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน ลูกค้ากว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ชาย แต่ก็มีลูกค้าผู้หญิงและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยเหมือนกัน และไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น บางครั้งก็มีลูกค้าที่เป็นวัยคุณตาคุณยายมาที่ร้านพร้อมกับหลานๆ ด้วย
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้าน Maid Café เป็นที่รู้จักในสมัยแรก คือความโด่งดังของวงไอดอลอย่าง AKB48 ซึ่งเปิดตัววงอย่างเป็นทางการในปี 2006 โดยวงไอดอลนี้มีการแสดงเป็นประจำที่เธียร์เตอร์ในอากิฮาบาระ ทำให้มีทั้งคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาที่ย่านนี้มากขึ้น
จุดสำคัญคือการสื่อสาร
ที่ @home café ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับลูกค้ามาก สิ่งสำคัญที่เป็นภารกิจหลักของเหล่า Maid ในร้านนี้คือการพยายามทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและไม่ประหม่า
ซึ่งคุณฮิโตมิเชื่อว่า การสื่อสารแบบนี้ไม่สามารถทดแทนได้แม้จะเป็นในยุคที่มีการใช้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และทำให้มีคนต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกคิดถึงการสื่อสารกับผู้คน
ในวันหยุดจะมีลูกค้ากลุ่มคนวัยทำงานค่อนข้างมาก เพราะพวกเขามาที่ Maid Café แล้วรู้สึกว่าได้สื่อสารกับผู้คน อีกทั้งยังสามารถลืมเรื่องานและพูดคุยได้อย่างผ่อนคลายและแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่
ให้ความสำคัญกับการดูแล Maid
การบริหารจัดการของ @home café ค่อนข้างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารบุคลากร หรือ Maid ที่จะทำหน้าที่เป็นหน้าเป็นตาของร้าน
หลังจากผ่านการสัมภาษณ์เข้าทำงาน เหล่า Maid ฝึกหัดจะยังไม่สามารถรับหน้าที่ต้อนรับลูกค้าหน้าร้านได้ทันที คุณฮิโตมิจะเป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนเหล่าน้องใหม่ด้วยตัวเอง โดยจะสอนทั้งระบบการทำงาน มารยาทและการแสดงออกกับลูกค้า รวมถึงยังมีการสอบเพื่อให้ผ่านการฝึกหัดงานอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง โดย Maid ที่มีความชำนาญและอยู่มานานกว่าก็จะคอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำเหล่าน้องใหม่อีกด้วย
ใน @home café มีฝ่ายที่ทำหน้าที่ดูแลพนักงาน ไม่ใช่แค่การฝึกสอน Maid น้องใหม่เท่านั้น แต่ยังคอยเป็นที่ปรึกษากรณีที่พนักงานของร้านมีเรื่องไม่สบายใจหรือมีปัญหา เพราะทางร้านเชื่อว่า หากพนักงานทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ดีและมีความสุข ก็จะสามารถมอบบริการที่ดีและทำให้ลูกค้ามีความสุขได้เช่นกัน
การปรับตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ในช่วงที่โควิด-19 ทำให้ร้านรวงต่างๆ ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เต็มที่เหมือนปกติ และมีลูกค้าเข้ามาหน้าร้านน้อยลง @home café ได้โปรโมทบริการ Virtual @home café ที่ลูกค้าสามารถใช้บริการได้แม้ไม่ต้องมาที่ร้าน
ยิ่งในยุคที่ VTuber หรือ YouTuber ที่เป็นตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นกำลังได้รับความนิยมที่ญี่ปุ่นนี้ ผู้คนก็คุ้นเคยกับการเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวและพูดคุยกับเราผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ
ลูกค้าสามารถใช้บริการ Virtual @home café ผ่านเว็บไซต์ v.cafe-athome โดยสร้างตัวละคร Avatar ที่เป็นตัวแทนของเราได้ ส่วนค่าบริการก็จะคิดตามระยะเวลา เริ่มจากขั้นต่ำ 30 นาที ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าไปพูดคุยหรือเล่นเกมกับเหล่า Maid ที่มีหลายคาแรคเตอร์ให้เลือก และสามารถเลือกซื้อของขวัญและถ่ายรูปกับ Maid ที่เราชื่นชอบได้อีกด้วย
คุณฮิโตมิส่งท้ายว่า เธอพยายามสร้างให้ @home café เป็นเหมือนธีมปาร์คสำหรับลูกค้า (เทียบได้กับดิสนีย์แลนด์) ที่ลูกค้าสามารถมาใช้เวลาผ่อนคลาย สร้างความสนุกสาน และปล่อยความทุกข์และความเครียดทั้งหมดไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้เธอยังจะพยายามคิดหาสิ่งใหม่ๆ มาลองใช้กับคาเฟ่แห่งนี้ เพื่อให้ลูกค้าให้สัมภาษณ์กับประสบการณ์ที่ดีที่สุดอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ อ่านมาถึงตรงนี้มีใครที่อยากลองไปใช้บริการ @home café กันบ้างหรือเปล่า การที่คาเฟ่แห่งนี้ยังได้รับความนิยมอยู่ได้ทั้งๆ ที่ตั้งมาเกือบ 20 ปี แสดงว่าร้านนี้ก็ต้องมีอะไรดีอย่างที่คุณฮิโตมิว่า ถ้ามีโอกาส ผู้เขียนเองก็อยากจะลองไปใช้บริการดูสักครั้งเหมือนกันค่ะ