คอซีรีส์ญี่ปุ่นน่าจะทราบกันดีกว่า ในบรรดาซีรีส์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะแนวรักโรแมนติก แนวครอบครัว หรือแนวโรงเรียน… ญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องการทำซีรีส์ที่เกี่ยวกับหมอและแนวสืบสวน-สอบสวนเป็นอย่างยิ่ง! โดยเฉพาะซีรีส์แนวสืบสวน ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘MIU404 คู่หูสืบตระเวน’ ที่รับบทนักแสดงนำคู่โดย นักแสดงชื่อดังอย่าง อายาโนะ โก และโฮชิโนะ เก็น, เรื่อง ‘ห้องสอบสวนด่วนพิเศษ Emergency Interrogation Room’ ซีรีส์ดังที่ออกอากาศตั้งแต่ปี 2014 ยาวนานมาจนถึงซีซีนล่าสุดในปี 2021 ไม่ว่าซีรีส์ไหนต่างก็มีเรื่องราวที่น่าติดตาม เดาทางได้ยาก ทำให้เราอินและรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา แถมยังได้ความรู้แบบอัดแน่นอีกด้วย
เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมซีรีส์สืบสวนญี่ปุ่นของเพื่อน ๆ ให้มากขึ้น วันนี้เราจะมาแนะนำศัพท์สแลงวงการตำรวจที่ถูกใช้พูดในซีรีส์สืบสวนบ่อย ๆ ซึ่งบางคำศัพท์ก็ส่งอิทธิพลถึงวงการตำรวจและถูกใช้พูดในชีวิตประจำวันด้วยนะ ส่วนจะมีคำไหนบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ!
ศัพท์สแลงวงการตำรวจที่พบบ่อยในละครสืบสวนญี่ปุ่น
‘โฮชิ’ คนร้ายที่ถูกหมายหัว
ถ้าสังเกตในละครแนวสืบสวนของญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่า ตำรวจเรียกแทนคนร้ายว่า ‘โฮชิ’ (ホシ) มีที่มาจากคำว่า เมะโบชิ (目星) แปลว่า ที่หมายตา/หัวไว้ ซึ่งคำนี้ก็ถูกใช้ในวงการตำรวจด้วยเช่นกัน แต่อาจมีตำรวจจริง ๆ ใช้คำนี้น้อย เพราะเนื่องมาจากคำนี้ถูกใช้พูดในฉากเท่ ๆ ในละครมากเกินไป จึงอาจทำให้ตำรวจรู้สึกเขินที่จะพูดในชีวิตจริงนั่นเอง (หัวเราะ)
‘กะสะอิเระ’ การตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัย
กะสะอิเระ (ガサ入れ) หมายถึง การตรวจค้นบ้านหรือบริษัทของผู้ต้องสงสัยเพื่อหาหลักฐาน มีที่มาจากคำว่า สะกะสุ (さがす) โดยอ่านกลับหลังและพูดย่อให้สั่นกระชับยิ่งขึ้น ส่วนคำว่า หมายค้น ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า กะสะโจว (ガサ状) นั่นเองค่ะ
เรียกแทนตำรวจว่า ‘เดกะ’
นอกจากคำว่า เคอิซัตสึ (警察) ที่แปลว่าตำรวจแล้ว ภาษาญี่ปุ่นยังมีศัพท์แสลงที่ใช้เรียกตำรวจอีกคำหนึ่งคือ เดกะ (デカ) คำนี้มีที่มาจากเป็นเครื่องแบบตำรวจในสมัยเมจิ เป็นยุคที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มก่อตั้งองค์กรตำรวจใหม่ ๆ ซึ่งในยุคนั้นญี่ปุ่นยังไม่นิยมสวมเสื้อผ้าสไตล์ยุโรปเท่าไหร่นัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาเครื่องแบบมาตรฐานสไตล์ยุโรปให้ตำรวจสวมใส่เหมือนกันทั่วประเทศ
จึงมีการนำเสื้อคลุมที่มีลักษณะคล้ายยูกาตะ แต่มีปกคอเสื้อและมีแขนยาวเป็นทรงสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่า คะคุโซเดะ (角袖) มาเป็นเครื่องแบบตำรวจในยุคนั้นแทน ทำให้ชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นเรียกแทนตัวตำรวจว่า เดกะ デカ ซึ่งมาจากการอ่านคำว่า คะคุโซเดะ กลับหลังและพูดย่อให้สั่นกระชับยิ่งขึ้นนั่นเอง
この投稿をInstagramで見る
ไอโบ คู่หูตำรวจ
ใครที่ชอบดูละครแนวสืบสวนของญี่ปุ่น อาจสังเกตเห็นว่า พล็อตเรื่องส่วนใหญ่มักจับตัวละครเอกต่างขั้ว 2 คนมาทำงานร่วมกันเป็นคู่ดูโอ้ใช่ไหมคะ? และเราก็มักจะได้ยินคำศัพท์ว่า ไอโบ (相棒) ที่ใช้เรียกแทนตัวเพื่อนร่วมงานอีกฝ่ายอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งคำว่า ไอโบ แปลว่า สหาย, เพื่อนคู่หู หรือ Buddy นั่นเอง คำนี้มีที่มาจากอาชีพคนแบกเสลี่ยงสำหรับการเดินทางในสมัยก่อน มีท่อนไม้พาดกลางระหว่างที่นั่งของผู้โดยสาร ซึ่งจำเป็นต้องหามไม้ด้านหน้าและด้านหลังพร้อมกัน 2 คน จึงเรียกคนแบกเสลี่ยงว่า ไอโบ ที่มาจากคำว่า ไอ (相) แปลว่า ร่วมกัน และ โบ (棒) แปลว่า ท่อนไม้
เดิมที ในวงการตำรวจจะเรียกเพื่อนร่วมงานว่า ไอสึโตเมรุ (相勤) แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากละครแนวสืบสวน ทำให้ ไอโบ ถูกใช้เรียกแทนเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานคู่กันนั่นเอง
ศัพท์แสลงวงการตำรวจที่ไม่ค่อยถูกใช้ในละคร
ไอจัง หมายถึง การล้วงกระเป๋า
ไอจัง คำนี้ฟังดูน่ารัก แต่เป็นศัพท์แสลงที่ตำรวจใช้เรียก การล้วงกระเป๋า หรือ โจรล้วงกระเป๋า นั่นเอง! ซึ่งมีที่มาจากคำว่า ไอเทะยาชิ (相手屋師) แปลว่า การล้วงกระเป๋า ที่นิยมเรียกกันในยุคเมจิ และค่อย ๆ เพี้ยนโดยเรียกให้สั้นลงเหลือแค่ ไอจัง (あいちゃん)
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบคำอธิบายถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมคนยุคเมจิถึงเรียก การล้วงกระเป๋า ว่า ไอเทะยาชิ
นักต้มตุ๋นสีดำ สีขาว สีแดง และสีฟ้า
การฉ้อโกง ต้มตุ๋นนั่นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้แบ่งประเภทการต้มตุ๋นเป็น ‘สี’ เช่น สีดำ ‘คุโรซากิ’ (黒詐欺) ซึ่งเพื่อน ๆ อาจเคยได้ยินคำนี้มาจากหนังสือการ์ตูนกันบ้างใช่ไหมคะ? แปลตรงตัวว่า การต้มตุ๋นสีดำ ใช้เรียกแทนนักต้มตุ๋นระดับมืออาชีพ
สีขาว ‘ชิโรซากิ’ (白詐欺) หมายถึง นักต้มตุ๋นมือสมัครเล่น เป็นนักต้มตุ๋นที่ฉ้อโกงคนระดับชาวบ้านและคนธรรมดา
สีแดง ‘อากะซากิ’ (赤詐欺) เป็นรหัสลับที่ใช้เรียกนักต้มตุ๋นที่หลอกแต่งงาน
สีฟ้า ‘อาโอะซากิ’ (青詐欺) หมายถึง นักต้มตุ๋นที่ฉ้อโกงระดับบริษัท ธุรกิจ และการฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์หรือการปลอมแปลงเอกสารต่าง ๆ
ส่วนคำว่า ‘โทคุชูซากิ’ (特殊詐欺) หมายถึง อาชญากรรมที่เกิดจากแก๊งโจรจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุจำนวนได้ และมีการวางแผนก่อเหตุโดยทำเป็นกระบวนการนั่นเอง
และทั้งหมดนี้ก็คือศัพท์แสลงวงการตำรวจที่พบบ่อยในซีรีส์สืบสวนของญี่ปุ่น มีคำไหนที่เพื่อน ๆ คุ้นเคยหรือเพิ่งเคยทราบความหมายกันบ้างคะ? ซึ่งหวังว่าคำศัพท์ที่เรานำมาเสนอในวันนี้จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมซีรีส์สืบสวนญี่ปุ่นของเพื่อน ๆ ให้มากขึ้นด้วยนะ!
สรุปเนื้อหาจาก : kotobanogimon.life, npa.go.jp