Japan 5.0 Society - Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ย. 2022) สำหรับประเทศไทยนั้นเราจะได้ยินคำว่า Thailand 4.0 กันบ่อย ๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ทางญี่ปุ่นก็กำลังวางแผนพัฒนาสังคมของตัวเองให้เข้าสู่ยุคสังคม 5.0 อยู่ ซึ่งล้ำหน้าไทยไปก้าวหนึ่ง วันนี้เลยจะมาชวนคุยเรื่อง Japan 5.0 กัน

Japan 5.0 เมื่อเทียบกับ Thailand 4.0

วิธีแบ่ง 1.0-4.0 ของญี่ปุ่นและของไทยค่อนข้างต่างกัน เราจะมาดูของไทยก่อน แล้วค่อยเทียบกับของญี่ปุ่น

Thailand 4.0

Japan 5.0 Society - Thailand 4.0

เน้นการพูดถึงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ เริ่มยุค 1.0 ตั้งแต่ ค. ศ. 1855 นี้เอง

  • 1.0 (ค. ศ. 1855 – ค. ศ. 1961): เศรษฐกิจเน้นเกษตรกรรม เช่น พืชสวน พืชไร่ ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์
  • 2.0 (ค. ศ. 1962 – ค. ศ. 1986): เศรษฐกิจเน้นอุตสาหกรรมเบา เช่น สินค้าในชีวิตประจำวันประเภท เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน เครื่องอุปโภคบริโภค
  • 3.0 (ค. ศ. 1987 – ค. ศ. 2016): เศรษฐกิจเน้นอุตสาหกรรมหนัก พวกที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเช่น รถยนต์ เหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ การแยกก๊าซธรรมชาติและกลั่นน้ำมัน
  • 4.0 (ค. ศ. 2017 – ค. ศ. 2036): เศรษฐกิจเน้นนวัตกรรม คือการคิดใหม่ ทำใหม่ ปฏิรูปอะไรใหม่ ๆ ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ

Japan 5.0

Japan 5.0 Society - Japan Eras

เน้นการพูดถึงสังคมของญี่ปุ่นในแต่ละยุคนับแต่โบราณ ซึ่งย้อนอดีตไปยุคโบราณมากนับพันปีก่อน จึงต่างจากการใช้ตัวเลข 1.0-4.0 ของไทยอยู่มาก

  • 1.0 สังคมล่าสัตว์ (狩猟社会): คือสังคมที่ยังชีพโดยการล่าสัตว์
  • 2.0 สังคมเกษตรกรรม (農耕社会): คือสังคมที่พัฒนาจากการล่าสัตว์ไปเป็นสังคมที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและเกิดการทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพขึ้น
  • 3.0 สังคมอุตสาหกรรม (工業社会): คือสังคมที่สร้างเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองประชากรที่เพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
  • 4.0 สังคม IT และข้อมูลข่าวสาร (情報社会): คือยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลจำนวนมหาศาล
  • 5.0 สังคมแห่งอนาคต (ยังไม่มีชื่อเรียกทางการ): บางคนเรียกว่า สังคมยุคหลังนวัตกรรม หรือ สังคมใหม่ หรือ สังคมแห่งอนาคต ก็มี จะเป็นยุคแห่งการเชื่อมต่อ Online และ Offline เข้าด้วยกัน เชื่อมต่อ AI เข้ากับมนุษย์ และเชื่อมต่อ Digital World เข้ากับ Real World

ทำไมญี่ปุ่นจึงต้องมีแผน Japan 5.0?

Japan 5.0 Society - Aging Society

ญี่ปุ่นประสบปัญหาประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึง 36 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 120 ล้านคน คิดง่ายๆ คือคนญี่ปุ่นทุกๆ 4 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คน จัดว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น แล้วยังเคราห์ซ้ำกรรมซัดเพราะอัตราเกิดใหม่ของประชากรก็น้อยมาก ในปี 2020 มีอัตราเกิดเพียง 1.34% (พ่อ 1 คนและแม่ 1 คน รวมเป็นมนุษย์ 2 คน คิดแบบหยาบ ๆ คืออัตราเกิดควรอยู่ที่ 2 แต่นี่ต่ำกว่า 2 ติดกันมานานหลายทศวรรษแล้ว) ทำให้ภาระเรื่องภาษีและการดูแลประเทศตกอยู่กับคนรุ่นหลังโดยแท้ เด็กและวัยรุ่นแบกภาษีแทนผู้สูงอายุกันแบบหลังแอ่นเลยทีเดียว

ส่วนในภาคธุรกิจเองก็ขาดแคลนแรงงานอย่างหนักหนาสาหัสมาก แม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์ให้คนต่างชาติเข้าไปเรียนและไปทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น ๆ ๆ จนในที่สุดมีชาวต่างชาติอาศัยในญี่ปุ่นมากถึง 2.29 ล้านคนในปี 2020 แต่ด้วย “ความญี่ปุ่น” ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนยังชอบทำงานกับบริษัทต่างชาติด้วยกันมากกว่าทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น

นอกจากนี้ วัยรุ่นญี่ปุ่นเองก็มีค่านิยมที่เปลี่ยนไปมาก จากที่ผู้เขียนเคยบอกไว้ใน “ชาวญี่ปุ่น Gen-Z และความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด” วัยรุ่นญี่ปุ่น Gen-Z ก็มองตัวเองในฐานะเป็นประชากรโลกแล้ว ไม่มีใครอยากทำงานหนักแบบสไตล์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกเพราะอยากทำงานแบบ Work Smart มากกว่า ผู้เขียนยังเคยบอกอีกใน “ทำไมญี่ปุ่นมี SMEs เยอะ และในละครชอบมีบทพูดว่า SMEs นั้นค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่?” ว่าธุรกิจ SMEs ในญี่ปุ่นประสบปัญหาไร้ผู้สืบทอดเพราะวัยรุ่นญี่ปุ่นอยากทำงานแบบนานาชาติเหมือนชาวโลกมากกว่าสืบทอดกิจการเก่าแก่ของที่บ้าน

สังคม 5.0 จะช่วยให้ญี่ปุ่นแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ได้อย่างไร?

Japan 5.0 Society - Solution

ประการแรกคือเน้นการใช้ Robots, AI, IoT ในการทำให้แรงงานที่ขาดแคลนสามารถทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด เรียกว่าใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มพลังให้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีน้อยนั่นเอง ตรงไหนไม่ต้องใช้คน ก็ใช้เครื่องจักรแทนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

อีกประการคือการ Work from anywhere ที่จะช่วยให้ธุรกิจของญี่ปุ่นทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วก็ถูกใจวัยรุ่นญี่ปุ่น Gen-Z ด้วย สามารถเป็นเสน่ห์ที่ดึงคน Gen-Z เข้าทำงานกับบริษัทได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วองค์กรญี่ปุ่นเองหลายองค์กรก็ตระหนักถึงปัญหานี้มานานแล้ว อย่างเช่นบริษัท JECC (株式会社ジェック) ที่ผู้เขียนเคยทำงาน ก็มีการใช้ระบบ Work from anywhere ผ่านโปรแกรม Skype มานานมากก่อนจะเกิดวิกฤติ COVID-19 เสียอีก เพราะบริษัท JECC ในโตเกียวสามารถจ้างผู้เขียนเป็นพนักงานประจำได้แบบทำงานประจำที่กรุงเทพแล้วบินไปญี่ปุ่นเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนงานที่เหลือทำงานกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และประชุมด้วย Skype (ยุคก่อน COVID นั้นโปรแกรมพวก Zoom หรือ MS Teams ยังไม่ฮิต) ก็ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีไม่ต่างจากทำงานแบบต้องเข้าบริษัทเจอตัวกัน

กล่าวโดยสรุป

Japan 5.0 Society - Conclusion

ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น แต่เนื่องจากฐานของเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมีรากฐานที่ดี จึงยังไหวตัวทัน มีความพยายามเตรียมการรับมือมานับทศวรรษแล้ว แม้ว่าปัจจุบันจะยังทำได้ไม่ดีเต็มร้อย แต่ก็ตื่นตัวกันในวงกว้าง ทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการของญี่ปุ่นก็เริ่มค่อย ๆ ปรับตัวกันไปบ้าง คงต้องเฝ้ามองและเรียนรู้ทั้งข้อดีและข้อที่ผิดพลาดจากญี่ปุ่น ดูว่าจะนำอะไรมาปรับใช้กับเมืองไทยได้บ้างเพราะเมืองไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ ปี ค. ศ. 2022 นี่เองที่จะมีประชากร 20% ของประชากรทั้งหมดมีอายุเกิน 60 (คนไทยทุก ๆ 5 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คน)

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า