นึกย้อนกลับไปตอนช่วงวัยเรียน ผู้เขียนจำได้ว่าทั้งครูและอาจารย์แต่ละคนก็มีวิธีการเรียกนักเรียนนักศึกษาแตกต่างกันไป มีทั้ง เธอ คุณ เบสิคสุดก็คือเรียกชื่อจริงหรือไม่ก็ชื่อเล่น ส่วนทางฝั่งคุณครูชาวญี่ปุ่นก็มีวิธีการเรียกนักเรียนที่หลากหลายเช่นกัน
สรรพนามเรียกนักเรียนที่ญี่ปุ่น
โดยพื้นฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นจะเรียกคนที่ยังไม่สนิทด้วยนามสกุลก่อน อาจเติม “ซัง” เข้าไปด้วยเพื่อเป็นการให้เกียรติอีกฝ่าย ซึ่งนอกจากจะใช้ในการทำงานแล้วในโรงเรียนเองก็ใช้แพทเทิร์นนี้ได้เช่นกัน จากการสำรวจโดย National Institute for Japanese Language and Linguistics ที่ได้ไปทำการสำรวจนักเรียนในกรุงโตเกียวจำนวน 2,217 คน (ชาย 1,157 คน หญิง 1,060 คน) เรามาดูกันว่าคุณครูใช้สรรพนามเรียกนักเรียนว่าอะไรและนักเรียนรู้สึกอย่างไรกันบ้าง
ตารางที่ 1 แสดงอัตราส่วนของคำสรรพนามที่ครูใช้ (ในที่นี้ไม่ได้ระบุระดับชั้นของนักเรียนและเพศของคุณครู)
วิธีเรียก | นักเรียนชาย (%) | นักเรียนหญิง (%) |
---|---|---|
นามสกุล + คุง | 38.7 | 3.1 |
นามสกุล + ซัง | 3.0 | 60.8 |
นามสกุลอย่างเดียว | 73.5 | 58.6 |
ชื่ออย่างเดียว | 8.6 | 4.3 |
อานาตะ | 7.7 | 15.6 |
คิมิ | 18.6 | 12.5 |
โอมาเอะ | 15.0 | 9.0 |
จากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ว่าในฝั่งนักเรียนชายจะถูกครูเรียกด้วย “นามสกุล” ห้วน ๆ อย่างเดียวมากที่สุดถึง 73.5% รองลงมาคือ “นามสกุล + คุง“ 38.7% ฝั่งนักเรียนหญิงจะถูกครูเรียกด้วย “นามสกุล + ซัง” มากที่สุดคือ 60.8% รองลงมาใกล้เคียงกันคือ “นามสกุล” ห้วน ๆ อย่างเดียว 58.6% แต่คำว่า “โอมาเอะ” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ค่อยสุภาพ ใช้เรียกนักเรียนชายเพียง 15% และนักเรียนหญิงเพียง 9%
แล้วเหล่านักเรียนมีความเห็นอย่างไรบ้างต่อคำสรรพนามที่ครูใช้เรียก ลองดูในตารางที่ 2.1 และ 2.2 กันค่ะ
นักเรียนชาย | ชอบ | เฉย ๆ | ไม่ชอบ | ไม่มีคำตอบ |
---|---|---|---|---|
นามสกุล + คุง | 68.3 | 19.8 | 10.7 | 1.1 |
นามสกุลอย่างเดียว | 63.2 | 25.4 | 10.3 | 0.9 |
ชื่ออย่างเดียว | 50.5 | 22.2 | 22.2 | 5.0 |
อานาตะ | 37.0 | 35.9 | 24.7 | 2.2 |
คิมิ | 32.5 | 40.4 | 23.2 | 3.7 |
โอมาเอะ | 23.1 | 41.6 | 32.9 | 2.3 |
นักเรียนหญิง | ชอบ | เฉย ๆ | ไม่ชอบ | ไม่มีคำตอบ |
---|---|---|---|---|
นามสกุล + ซัง | 82.4 | 13.6 | 3.2 | 0.6 |
นามสกุลอย่างเดียว | 63.1 | 21.2 | 14.6 | 0.9 |
ชื่ออย่างเดียว | 34.7 | 28.2 | 34.7 | 2.1 |
อานาตะ | 33.9 | 43.0 | 21.8 | 1.2 |
คิมิ | 26.5 | 46.2 | 27.2 | 0.0 |
โอมาเอะ | 20.0 | 31.5 | 47.3 | 1.0 |
ฝั่งนักเรียนชาย สรรพนามที่เด็ก ๆ พอใจที่สุดคือ “นามสกุล + คุง” 68.3% รองลงมาไม่ต่างกันมากคือ “นามสกุล” ห้วน ๆ อย่างเดียว 63.2% ฝั่งนักเรียนหญิง สรรพนามที่เด็ก ๆ พอใจที่สุดคือ “นามสกุล + ซัง” สูงถึง 82.4% รองลงมาคือ “นามสกุล” ห้วน ๆ อย่างเดียว 63.1% แต่สรรพนามที่ทั้งสองกลุ่มไม่ชอบให้ครูเรียกที่สุดคือ “โอมาเอะ” โดยนักเรียนชายไม่ชอบ 32.9% และนักเรียนหญิงไม่ชอบ 47.3%
จากผลสำรวจนี้จะเห็นว่าการเรียกด้วย “นามสกุล + คุง” และ “นามสกุล + ซัง” จะได้รับการตอบรับที่ดีกว่า ส่วนคำว่า “โอมาเอะ” จะเป็นวิธีเรียกอีกฝ่ายที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะในหมู่เพื่อนผู้ชายที่สนิทกันมักจะเรียกกันด้วยคำนี้
แต่ในทางกลับกันคำนี้ก็เป็นวิธีเรียกที่ไม่สุภาพ บางครั้งอาจแฝงความรู้สึกเหมือนว่าเราอยู่เหนือกว่าอีกฝ่าย การที่คุณครูเรียกด้วยคำว่า “โอมาเอะ” อาจเป็นเพราะต้องการพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกศิษย์ แต่ก็กลายเป็นว่าใช้คำที่ไม่สุภาพจนทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ยินดีที่ถูกเรียกแบบนั้น ถ้าหากว่าคุณครูต้องการสนิทสนมกับเด็ก ๆ ก็อาจจะต้องค่อย ๆ ใช้วิธีอื่นหรือเลือกคำเรียกให้เหมาะสมสักหน่อย
บางครั้งการเลือกคำสรรพนามให้เหมาะสมก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องคำนึงถึงในหลายมิติ ทั้งความสัมพันธ์ ช่วงวัย ความสนิทสนม บางครั้งเรียกไปก็ไม่รู้ว่าจะขัดหูอีกฝ่ายหรือเปล่า เหมือนกับเป็นดาบสองคมที่สามารถพาให้อีกฝ่ายเข้าใจเราผิดได้ สิ่งสำคัญคือการสังเกตปฏิกิริยาและการแสดงออกจากฝั่งตรงข้ามเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้ แล้วช่วงวัยเรียนทุกคนเคยถูกคุณครูเรียกว่าอะไรกันบ้างคะ?
สรุปเนื้อหาจาก: kotobaken