(เผยแพร่ครั้งแรก 20 เม.ย. 2022) สำหรับชาวไทยหลายท่านแล้ว เวลาพูดถึงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือสไตล์การทำงาน เราก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะมองคนญี่ปุ่นตามภาพลักษณ์เดิม ๆ คือ คนญี่ปุ่นเป็นคนจริงจัง ทำงานหนักและทำงานล่วงเวลาอยู่เป็นประจำ ขยันขันแข็ง อยู่บริษัทเดิมนานมากไม่ค่อยย้ายบริษัท ไม่ค่อยมีชีวิตส่วนตัวเพราะวัน ๆ ก็อุทิศตัวเพื่อบริษัท ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วคนญี่ปุ่นยุคใหม่ใน Gen-Z นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากในหลาย ๆ สิ่ง ความเปลี่ยนแปลงนี้สำหรับองค์กรญี่ปุ่นในประเทศไทยอาจจะยังไม่เห็นชัดนัก แต่ถ้าเป็นในญี่ปุ่นเองจะเห็นว่ามีความต่างระหว่างคนญี่ปุ่นแต่ละยุคชัดเจนมาก
แต่ละ Generation มีอะไรบ้าง?
1) Baby Boomers
ถ้าเป็นเกณฑ์สากลจะนับคนที่เกิดช่วงตั้งแต่ ค. ศ. 1946-1964 แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้แบ่งปีเป๊ะแบบตะวันตกเพราะนิยมนับเป็นช่วงทศวรรษแทน จึงนับคนที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 50s ถึงทศวรรษที่ 60s ว่าเป็นคนกลุ่มนี้
2) Gen-X
เกณฑ์สากลจะนับคนเกิดช่วงระหว่าง ค. ศ. 1965-1979 (บวกลบได้ 3-5 ปีทั้งขอบบนและขอบล่างแล้วแต่ตำรา) ส่วนที่ญี่ปุ่นนับให้คนเกิดในช่วงทศวรรษที่ 60s ถึงต้นทศวรรษที่ 80s เป็นคนกลุ่มนี้
3) Gen-Y
เกณฑ์สากลจะนับคนเกิดช่วงระหว่าง ค. ศ. 1980-1997 (บวกลบได้ 3-5 ปีทั้งขอบบนและขอบล่างแล้วแต่ตำรา) ในขณะที่ญี่ปุ่นนับให้คนเกิดในช่วงต้นทศวรรษที่ 80s จนถึงกลางทศวรรษที่ 90s เป็นคน Gen-Y
4) Gen-Z
เกณฑ์สากลยังไม่นิ่งนัก แต่ส่วนใหญ่หมายถึงใครก็ตามที่เกิดระหว่างช่วง ค. ศ. 1997-2012 และที่ญี่ปุ่นถือว่าคนที่เกิดในช่วงกลางทศวรรษที่ 90s ถึงต้นทศวรรษที่ 2010s เป็นคน Gen-Z หรือคิดง่าย ๆ แบบคร่าว ๆ คือใครที่เกิดประมาณหลังปี 2000 ให้นับเป็นคน Gen-Z ให้หมด ก็เข้าใจง่ายดี
คน Gen-Z คือกำลังสำคัญที่จะชี้ชะตาประเทศญี่ปุ่นในอนาคต
ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึง 36 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 120 ล้านคน คิดง่าย ๆ คือคนญี่ปุ่นทุก ๆ 4 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คน จัดว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น ทำให้ภาระเรื่องภาษีและการดูแลประเทศตกอยู่กับคนรุ่นหลังโดยแท้ คนญี่ปุ่น Gen-Z ที่ส่วนใหญ่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาได้ไม่นาน และบางส่วนเพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงถูกสังคมจับตามอง ถูกสังคมคาดหวัง และบางครั้งก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมและทัศนคติหลายอย่างที่ “ไม่เป็นไปตามที่สังคมญี่ปุ่นคาดหวัง” ต่าง ๆ นานาดังต่อไปนี้
ลักษณะเด่นของชาว Gen-Z ในญี่ปุ่น
1) ผ่านระบบการศึกษาแบบ “ยุโทะริ (ゆとり教育)”
คือระบบการศึกษาที่ผ่อนปรนลงกว่ายุคก่อน ๆ ไม่เข้มงวดบ้าท่องจำหรือกดดันแข่งกันเอาเป็นเอาตายเท่าคนญี่ปุ่นใน Gen อื่น ๆ ก่อนหน้านั้นที่เป็นยคุฟื้นฟูชาติหลังแพ้สงครามโลก ทำให้ความบ้างาน บ้าเรียน บ้าพลัง บ้าเลือด หรือเรียกว่า “ความทุ่มเท” แบบคนญี่ปุ่นยุคเก่า ๆ นั้นเจือจางลง
2) มีความเป็น Digital Native
คือใช้เทคโนโลยีเก่งมาก เพราะเกิดมาพอจำความได้ก็มีอินเทอร์เน็ตรอบตัวแล้ว
3) ชอบทำงานแบบ Work-smart
ไม่เน้น Work-hard แบบคนญี่ปุ่น Gen ก่อนหน้านั้น เพราะฉะนั้นคนญี่ปุ่น Gen-Z จะเกลียดการทำงานล่วงเวลา เกลียดการทำงานวันหยุด เกลียดการต้องไปดื่มสังสรรค์ต่อหลังเลิกงานหรือไปตีกอล์ฟกับเพื่อนที่บริษัทในวันหยุด เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่คนญี่ปุ่นยุคก่อนหน้านั้น “เห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อหน้าที่การงาน” ดังนั้นคนญี่ปุ่น Gen-Z จะเน้น Work-Life Balance มาก ๆ เพราะต้องการใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างมีความสุขให้มากขึ้น ไม่เอาชีวิตที่วัน ๆ มีแต่งานเหมือนคนยุคก่อน ๆ อีกแล้ว
4) มองตัวเองในฐานะเป็นประชากรโลก
ไม่ได้มองอะไรแต่ในประเทศญี่ปุ่นเหมือนคนญี่ปุ่นยุคก่อน ๆ ดังนั้น โอกาสในชีวิตคือโลกทั้งใบ ไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่น คน Gen-Z พร้อมที่จะไปทำงานต่างประเทศ หรือทำงานกับองค์กรต่างชาติ โดยไม่ลังเลเหมือนคนญี่ปุ่นยุคเก่า
5) อยากเป็นเจ้าของกิจการ มากกว่าอยากเป็นลูกจ้าง
ในขณะที่คนญี่ปุ่นยุคเก่า ๆ จะอยากเป็นลูกจ้างมากกว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการ แนวคิด “Salaryman” แม้จะเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็กลายเป็นแนวคิดหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาโดยตลอด ซึ่ง Gen-Z จะไม่อยากเป็น Salaryman อีกแล้วเพราะอยากมีกิจการของตัวเองกันเป็นส่วนใหญ่
6) เน้นการทำงานที่มีคุณค่า มากกว่ามูลค่า
ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ มากกว่าคนญี่ปุ่นยุคเก่า เงินก็สำคัญ แต่งานที่มีคุณค่าและส่งมอบสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมนั้นยิ่งสำคัญกว่าเงิน สำหรับคน Gen-Z
7) แน่นอน อาชีพในฝันของคนญี่ปุ่น Gen-Z คือ การเป็น Influencer นั่นเอง!
เพราะได้เป็นเจ้าของกิจการ ได้ทำงานสบาย ๆ ไม่ต้องทำงานล่วงเวลาหรือทำอะไรทารุณเหมือน Salaryman ไม่ต้องทนคบหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่น่าหงุดหงิด สามารถใช้ชีวิตส่วนตัวให้มีความสุขได้มากขึ้น ฯลฯ จุดนี้น่าจะเป็นจุดร่วมสำคัญของคน Gen-Z ทั่วโลกที่ต้องการเป็น Influencer คืออยากเป็นคนสำคัญ อยากเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อสังคม อยากมีพลังขับเคลื่อนโลกทั้งใบไปในทางที่ตัวเองเห็นว่าดี
กล่าวโดยสรุป
ในยุคปัจจุบันที่คนเราเชื่อมต่อกันตลอดเวลา ลักษณะพิเศษแบบคนญี่ปุ่นเริ่มเจือจางลงเพราะคนญี่ปุ่น Gen-Z นั้นมองตัวเองในฐานะเป็นประชากรโลกมากขึ้น การทำความเข้าใจคนญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงไม่ควรเอาภาพลักษณ์สมัยเก่าหรือทัศนคติตายตัวที่คนไทยเราได้เห็นหรือรับรู้จากสื่อต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งต่าง ๆ บนสื่อเหล่านั้นมีจำนวนมากที่ยังเป็น “ญี่ปุ่นยุคเก่า” ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นปัจจุบันอีกต่อไป ควรมองญี่ปุ่นปัจจุบันตามที่เป็นอยู่ให้มากกว่ามองญี่ปุ่นโดยเอาภาพลักษณ์ที่เรารู้จากสื่อไปครอบหรือสวมทับ จะทำให้สามารถติดต่อสื่อสารและหรือร่วมงานกับชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ได้ราบรื่นมากขึ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas