แม้ โรคเดือนห้า หรือ โกะกัทซึเบียว (五月病) จะไม่ใช่ชื่อทางการแพทย์ แต่ก็เป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึมเศร้า หดหู่ และขาดเรี่ยวแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายในกลุ่มนักเรียนที่เพิ่งเปลี่ยนชั้นเรียนใหม่ นักเรียนผ่านการสอบอย่างหนักและต้องปรับตัวสู่รั่วมหาวิทยาลัย และพนักงานใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ไม่ได้ รวมถึงพนักงานที่โหมงานหนัก สะสมความเครียดเอาไว้เยอะ ๆ พอได้หยุดยาวช่วง Golden Week ก็ไม่มีแรงจะกลับไปเจอความกดดันในที่ทำงาน
ภัยเงียบจาก “โรคเดือนห้า”
คุณหมอชาวญี่ปุ่นได้ออกมาเตือนว่าหลังจบ Golden Week ที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนมิถุนายนจะไม่มีวันหยุดราชการให้ได้พักหายใจ บวกกับสภาพอากาศในช่วงนี้ ที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวอาจทำให้เกิดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดสะสมได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น แนะนำวิธีป้องกัน ‘โรคเดือนห้า’ เพื่อจัดการความเครียดในแต่ละวัน และป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดความเครียดสะสมไว้ 3 ข้อ ได้แก่
- แบ่งปันเรื่องราวให้คนที่เราไว้ใจฟัง
- หัวเราะ
- หางานอดิเรกที่จะทำให้เราออกห่างจากงานได้
โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทได้ฟัง เพื่อจัดการกับความกังวลและความหงุดหงิดในใจ บางทีการได้เล่าให้ใครสักคนฟัง อาจได้คำแนะนำดี ๆ หรือแนวทางคลี่คลายปัญหานั้นได้อีกด้วย
สรุปเนื้อหาจาก: youtube, city.takahama