Nigehaji Take Aways Feature

ซีรีส์เรื่อง We married as a job (逃げるは恥だが役に立つ) นั้น จริง ๆ ออกอากาศในญี่ปุ่นไปเมื่อปี 2016 ซึ่งโด่งดังมากในญี่ปุ่นตอนนั้น แต่กลับมาเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้งเมื่อปี 2021 ที่พระเอกและนางเอกเรื่องนี้ประกาศแต่งงานกันจริง ๆ เพราะปิ๊งกันจากการร่วมงานกันในซีรีส์เรื่องนี้ แล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง Netflix Thailand ก็เพิ่งจะมีเรื่องนี้มาให้ได้ชมกัน โดยใน Netflix ใช้ชื่ออังกฤษอีกชื่อไปเลยว่า The Full-time Wife Escapist

เรื่องย่อ

นางเอกประสบปัญหาคือสมัครงานเท่าไรก็หางานประจำทำไม่ได้ ได้แค่งานเป็นพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว แล้วปุบปับงานสัญญาจ้างชั่วคราวนั้นก็ถูกเลิกจ้างกะทันหันอีก กลายเป็นคนตกงาน จากนั้นพ่อของนางเอกจึงแนะนำงานให้เป็น “แม่บ้านทำความสะอาด” ให้กับที่พักของพระเอก โชคชะตาเล่นตลกให้นางเอกมีอันต้องย้ายตามครอบครัวของตัวเองไปต่างจังหวัด แต่นางเอกอยากจะหนีจากวงจรแห่งการตกงานนี้ จึงมีข้อเสนอบางอย่างให้พระเอก และในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงกันว่าจะเซ็นสัญญาจ้างนางเอกมาทำงานให้พระเอกในตำแหน่ง “ภรรยา” เสียเลย

การแข่งขันรุนแรงของการหางานในประเทศญี่ปุ่น

Nigehaji Take Aways Japan Employment

ผู้ชมหลายท่านอาจจะข้องใจว่า แค่หางานทำเอง ทำไมนางเอกถึงต้องเครียดรุนแรงถึงขั้นต้องไปแต่งงานหลอก ๆ เพื่อให้ “มีงานทำ” เชียวหรือ เราจึงต้องมาพิจารณาระบบการหางานทำในสังคมญี่ปุ่นกัน

บริษัทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะเปิดรับสมัครพนักงานใหม่เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เรียกว่าเป็น “ฤดูการรับสมัครงาน” (มีเพียงน้อยแห่งที่จะเปิดรับปีละ 2 ครั้ง) ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่เปิดรับกันตลอดเวลา เปิดรับทุกเดือน และกระบวนการในญี่ปุ่นจะกินเวลานาน 1 ปีถึง 1 ปีครึ่งเลยทีเดียว

โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยจะเริ่มหางานเมื่อขึ้นปี 3 และเข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 (ประมาณพฤศจิกายนหรือธันวาคม) สมมุติว่าเริ่มหางานตอนพฤศจิกายนปี 2022 นักศึกษาคนนั้นต้องสมัครประมาณ 30-50 บริษัท และเดินทางไปฟังสัมมนาต่าง ๆ ของทุกบริษัท ต้องสอบข้อเขียนหลายครั้ง และสอบสัมภาษณ์หลายครั้ง นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาปี 4 เกือบทั้งหมดไปกับกิจกรรมการหางาน (ที่เรียกว่า “ชูโชะคุคัตสึโด: 就職活動”) และมักจะได้งานตอนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของอีก 2 ปีถัดไป คือกรณีนี้เริ่มสมัครงานพฤศจิกายนปี 2022 ก็จะได้งานตอนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของปี 2024 และเริ่มงานตอนเมษายน ปี 2024 เลยทีเดียว

กิจกรรมการหางานแบบญี่ปุ่นนี้กินเวลามาก ใช้เงินมากเพราะต้องเดินทางไปที่โน่นที่นี่ และต้องการทั้งแรงกายแรงใจเพื่อฝ่าฟัน 1 ปีกว่า ๆ นี้ไปให้ได้ และหากใครที่พ้นฤดูกาลหางานไปแล้วยังไม่ได้งานที่ไหน ก็จะตกงานยาว ๆ ไปอีกเป็นปีจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูการหางานของปีหน้าไปเลย และถึงรอปีหน้าและกลับมาหางานอีกรอบก็จะเสียเปรียบมากเพราะ “ไม่ใช่นักศึกษาแล้ว” นั่นเอง เนื่องจากบริษัทนิยมจ้างนักศึกษาจบใหม่เพื่อเป็นพนักงานใหม่เท่านั้น ไม่นิยมจ้างนักศึกษาที่ตกงานมาแล้วเป็นปี

นางเอกเรื่อง We married as a job จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทหลังจากหางานไม่ได้เลย เพื่อจะได้รักษาสถานภาพนักศึกษาไว้ เวลาเข้าสู่ฤดูหางานจะได้ยังคงสถานภาพ “นักศึกษาจบใหม่” ทำให้การหางานไม่เสียเปรียบมากเกินไปนัก ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นที่นิยมกันในญี่ปุ่นจริง ๆ กล่าวคือ ในเมืองไทยนิยมเรียนต่อปริญญาโทเพื่อเพิ่มเงินเดือน เพิ่มเครือข่ายสัมพันธภาพ และเพิ่มสถานภาพเพื่อนำไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ในญี่ปุ่นนั้นมีคนจำนวนไม่น้อยนิยมเรียนปริญญาโทเพื่อรักษาสถานภาพนักศึกษาไว้หางานแทน (คนที่เรียนปริญญาโทเพื่อต่อปริญญาเอกเข้าสู่วงวิชาการก็มี แต่ก็มีคนที่เรียนปริญญาโทเพื่อสมัครงานแบบนี้เช่นกัน)

Nigehaji Take Aways Japan Employment 2

แนวโน้มคนญี่ปุ่นจึงมักจะตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง (ไม่ได้เหมารวมคนญี่ปุ่นทุกคน แต่แนวโน้มคือคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะค่อนข้างจริงจังกับงานของตัวเอง) และมักจะพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคทุกรูปแบบในงานที่ทำ เพราะไม่อยากกลับไปสู่สภาพต้องฝ่าฟัน 1 ปีกว่า ๆ แห่งการหางานนั้นอีก เรียกว่าอุปสรรคในที่ทำงานยังไม่หนักเท่ากิจกรรมการหางานตอนนั้นเลย คนส่วนใหญ่จึงตั้งใจทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคใด ๆ ในงานให้ได้ (ในขณะที่เมืองไทย มีหลายคนพอพบอุปสรรคบางอย่างในที่ทำงาน ก็จะลาออก และหางานใหม่ทันที) นางเอกเรื่องนี้จึงมีบุคลิกตั้งใจทำงานสุดขีด แม้จะเป็นงานทำความสะอาด ก็ตั้งใจทำสุดความสามารถแบบเกิน 100% เกินความคาดหวังของพระเอกที่เป็นนายจ้างไปอีก

ประเด็นน่าคิดอื่น ๆ ในเรื่อง We married as a job

นอกจากปัญหาการแข่งขันรุนแรงในการหางาน ที่เป็นตัวขับเคลื่อนพล็อตหลักของเรื่องนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่กล่าวถึงสถานะของผู้ถูกกดทับ เช่น สถานะทางเพศที่ยังไม่เท่าเทียมของญี่ปุ่นอย่างเช่น ผู้หญิงทำงานเก่งแต่ไม่ได้แต่งงานจนกระทั่งอายุเยอะ, ปัญหาเรื่องชาวญี่ปุ่นที่เติบโตที่เมืองนอกและกลับมาอยู่ในสังคมญี่ปุ่นแล้วไม่มีความสุข รักร่วมเพศของญี่ปุ่นที่สังคมญี่ปุ่นยังไม่ค่อยยอมรับ ภรรยาที่โดนสามีนอกใจและต้องใช้เวลาอย่างมากในการตัดสินใจว่าจะหย่าหรือจะให้อภัย

เรื่องนี้นอกจากจะมีมุกตลกน่ารัก ๆ และมีเพลง Ending อันโด่งดังที่คนญี่ปุ่นเต้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ยังมีการตั้งคำถามถึงสถานะของผู้ถูกกดทับหลาย ๆ รูปแบบดังกล่าวมาแล้ว เรียกว่าเอาสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญนัก รื้อมันขึ้นมาให้ผู้ชมได้ชมกันหมดเลยทีเดียว จึงจัดเป็นซีรีส์ในตำนานที่แนะนำว่าห้ามพลาด!

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า