จากสมัยที่ภาษาญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาบ้านเราใหม่ ๆ เราจะค่อย ๆ เห็นวิวัฒนาการที่คนไทยหลาย ๆ คนหันมาเปลี่ยนชื่อไม่ว่าจะเป็น Social Network, User หรือ ID ต่าง ๆ ที่ลงท้ายชื่อเล่นตัวเองว่า “คุง” หรือ “จัง” อาจเป็นเพราะในสายตาคนไทย คนญี่ปุ่นนั้นดูน่ารักและแบ๊ว เลยอยากจะแบ๊วเหมือนเขาบ้าง เอาล่ะ มาดูกันครับว่า “คุง” กับ “จัง” มีการใช้กันอย่างไรบ้าง
“คุง” คำต่อท้ายชื่อผู้ชาย แต่ใช้กับผู้หญิงได้ด้วย?
“คุง” (くん, -kun) เป็นคำที่ใช้ต่อท้ายชื่อผู้ชายที่อายุน้อยกว่าหรือเท่า ๆ กับผู้พูด แต่แม้ว่าคำนี้ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ชาย แต่ในบางกรณีก็ใช้กับผู้หญิงได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือบริษัทที่ผู้ที่อาวุโสหรือตำแหน่งสูงกว่าใช้เรียกผู้ที่เด็กกว่าหรือตำแหน่งต่ำกว่าตนเอง โดยจะใช้ต่อท้ายชื่อจริงหรือนามสกุลก็ได้
“จัง” คำต่อท้ายชื่อผู้หญิง แต่รักใครชอบใครก็ใช้ได้เหมือนกัน!
“จัง” (ちゃん, -chan) เป็นคำที่ใช้ได้หลากหลายมาก โดยทั่วไปจะใช้ต่อท้ายชื่อจริงหรือชื่อเล่นของเด็ก ๆ ชื่อผู้หญิงที่สนิทสนมกับผู้พูด ไปจนถึงชื่อสัตว์เลี้ยง แต่นอกจากนี้ก็เป็นคำที่คู่รักใช้เวลาพูดชื่อฝ่ายตรงข้าม รวมถึงใช้ต่อท้ายชื่อคนที่เราชื่นชอบอย่างเช่นไอดอลเพื่อให้ดูน่ารักขึ้นได้ด้วย
ทีนี้ก็เข้าใจแล้วว่า “คุง” กับ “จัง” สะกดและใช้ให้ถูกยังไง แถมท้ายอีกนิดว่าทั้งสองคำนี้แม้จะใช้ได้หลากหลาย แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามจะไม่มีวันใช้ต่อท้ายชื่อของผู้พูดเอง ดังนั้นถ้าเพื่อน ๆ จะแนะนำตัวกับคนญี่ปุ่นก็ไม่ต้องเติมคุงหรือจังต่อท้ายชื่อของตัวเองนะครับ!
ผู้เขียน Ki_Sama