เสื้อคาริยูชิ โอกินาว่า

ใครเคยมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดโอกินาว่า เกาะหาดทรายเเสนสวยตอนใต้ของญี่ปุ่น อาจจะเคยเห็นคนใส่เสื้อเชิ้ตลายๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเสื้ออาโลฮ่าฮาวาย แต่ถ้ามองดีๆ ก็จะรู้ว่าไม่เหมือนกัน เสื้อชนิดนั้นคนญี่ปุ่นจะเรียกว่า เสื้อ “คาริยูชิ” ทั้งนี้ต่างกับเสื้อ “อาโลฮ่าฮาวาย” อย่างไรนะ วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ

รู้จักเสื้อ “คาริยูชิ”

Okinawa Kariyushi Wedding
รู้ไหม? ที่โอกินาว่านั้น เสื้อคาริยูชิเป็นเสื้อที่ใส่ไปงานแต่งงานได้ด้วย ©OCVB

เสื้อ “คาริยูชิ” คือ รูปแบบของเสื้อเชิ้ตชนิดหนึ่งซึ่งมีที่มาจากจังหวัดโอกินาว่า เกิดมาจากความคิดของนายมิยาซะโตะ เทโซ นายกสมาพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งโอกินาว่าในปี ค.ศ. 1970 วัตถุประสงค์คือต้องการหาเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายในหน้าร้อน และสามารถทำการโปรโมตการท่องเที่ยวโอกินาว่าไปพร้อมกันได้ในตัว เริ่มแรกวางจำหน่ายขายในชื่อ “เสื้อเชิ้ตโอกินาว่า” ลักษณะของเสื้อเป็นเชิ้ตแบบใส่เปิดคอ มีลวยลายสีสันสดใสที่แสดงถึงความเป็นโอกินาว่า เช่น ลายดอกชบา ดอกทองหลาง และยังใช้วิธีการทอและย้อมสีแบบดั้งเดิม เช่น “ริวกิวคาสุริ” หรือ “บิงกาตะ” เป็นต้น

ต่อมาปี ค.ศ. 2000 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เสื้อคาริยูชิ” ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ และในปีเดียวกันนั้นเองก็กลายมาเป็นที่รู้จักอย่างเเพร่หลาย เนื่องจากเหล่าผู้นำของประเทศต่างๆ ได้นำมาสวมใส่ในการประชุมผู้นำประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 8 ประเทศ (G8 Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนาฮะ จังหวัดโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น

เสื้อคาริยูชิในตอนแรกบุคคลที่สวมใส่จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานในส่วนราชการเป็นหลัก แต่ต่อมาก็ได้รับความนิยมจากบริษัทเอกชนทั่วไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเสื้อคาริยูชิแต่เดิมจะได้รับความนิยมในกลุ่มสุภาพบุรุษวัยกลางคนเป็นต้นไป แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและดีไซน์ จากเสื้อที่ใส่แบบเปิดคอก็เปลี่ยนมามีแบบปิดคอ แขนยาวขึ้นมา รวมไปถึงมีแบบที่สามารถนำไปใส่ทั้งในงานแต่งงานและงานไว้ทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้เองเสื้อคาริยูชิจึงได้รับความนิยมในหมู่สุภาพสตรีและวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น

รูปแบบเสื้อคาริยูชิ

เสื้อคาริยูชิ
©OCVB

ปัจจุบันมีเสื้อคาริยูชิแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นภายใต้การคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น มีการนำเอาเส้นใยที่มีส่วนผสมของก้านดอกเก็ตโตะ ดอกข่าโขม หรือนำหอยนมสาว มาดัดเแปลงทำเป็นกระดุมหลัง ทั้งนี้เสื้อที่จะถูกยอมรับว่าเป็นเสื้อแบบคาริยูชิ ได้นั้นจะต้องเข้าข่าย 2 ข้อต่อไปนี้ คือ

  1. ต้องเป็นเสื้อที่ผลิตในโอกินาว่า
  2. ต้องมีรูปแบบดีไซน์ลวดลายแบบโอกินาว่า

โดยผู้ผลิตเสื้อที่ถูกยอมรับว่าเป็นเสื้อคาริยูชิที่ถูกต้องได้มาตรฐานนั้นจะต้องติดป้ายแทร็กบนเสื้อ ซึ่งออกโดยสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอแห่งโอกินาว่า เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรายดังกล่าวมีการใช้เทคนิคฝีมือและอุปกรณ์ที่ผ่านตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

3 จุดแตกต่างระหว่างเสื้อ “คาริยูชิ” กับ “อาโลฮ่าฮาวาย”

kariyushi aloha shirt
(ซ้าย: เสื้อคาริยูชิ (©OCVB) / ขวา: เสื้ออาโลฮ่าฮาวาย)

1. ที่มาของคำ

เสื้อคาริยูชิ : คำว่า “คาริยูชิ” มาจากภาษาถิ่นของจังหวัดโอกินาว่า ซึ่งมีความหมายว่า “น่ายินดี” “เรื่องดีเป็นมงคล”
เสื้ออาโลฮ่าฮาวาย: คำว่า “อาโลฮ่า” มาจากภาษาฮาวาย ซึ่งมีความหมายว่า “ความหวังดี ความรัก ความเมตตากรุณา ความอ่อนโยน ความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้อื่น การทักทาย”

2. ประวัติความเป็นมา

เสื้อคาริยูชิ: ถูกผลิตและวางจำหน่ายขายในชื่อ “เสื้อเชิ้ตโอกินาว่า” โดยสมาพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว โอกินาว่า เมื่อปี ค.ศ. 1970 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เสื้อ คาริยูชิ” รวมถึงได้กำหนดให้มีรูปแบบดีไซน์ของเสื้อที่ชัดเจน

เสื้ออาโลฮ่าฮาวาย: เกิดขึ้นมาจากการดัดแปลงชุดกิโมโน ให้ไปเป็นเสื้อเชิ้ตไว้สวมใส่ของชาวญี่ปุ่นที่อพยพย้ายถิ่นฐานที่ไปตั้งรกรากที่ฮาวาย โดยเมื่อปี ค.ศ.1935 ได้มีการปรากฏคำว่า “เสื้ออาโลฮ่าฮาวาย” ในหนังสือพิมพ์ The Honolulu Advertiser จากการโปรโมทสินค้าของร้าน มูซาชิยะ โชเท็ง ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่ตั้งอยู่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย

3. ลวดลาย

เสื้อคาริยูชิ: ใช้เทคนิครูปแบบของการทอผ้ารวมไปถึงการย้อมสีแบบดั้งเดิมของโอกินาว่า เช่น “ยะเอยามะ” “ริวกิวคะสุริ” “บิงกาตะ” และนิยมทำออกมาเป็นลวดลายที่สะท้อนเอกลักษณ์ถึงความเป็นโอกินาว่า เช่น “มะระ” “ส้มซีกวาซ่า” หรือ “ซีซ่า” เป็นต้น ทั้งนี้ ลวดลายของเสื้อคาริยูชิ จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นผู้ใหญ่ เรียบง่าย ไม่ฉูดฉาดเท่ากับเสื้ออาโลฮ่าฮาวาย

เสื้ออาโลฮ่าฮาวาย: ในช่วงแรกนั้นเนื้อผ้าถูกนำเข้ามาจากญี่ปุ่น จึงทำให้ลวดลายส่วนใหญ่ที่พบเห็นจะเป็นลวดลายที่ปรากฏบนชุดกิโมโน ต่อมาก็ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงลวดลายให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยลวดลายส่วนใหญ่ที่นิยมจะเป็นลาย “สัปปะรด” “ต้นมะพร้าว” “ดอกชบา” หรือสิ่งของอะไรก็ตามที่มีสีสันสดใส

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ แม้ว่าเสื้อทั้ง 2 แบบจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นที่น่าตกใจว่าเสื้อทั้ง 2 แบบ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ถ้ามีโอกาสก็ลองหาซื้อเสื้อทั้ง 2 แบบมาใส่ดูนะคะ ลวดลายสีสันของเสื้อทั้ง 2 แบบเชื่อได้้ลยว่าเหมาะกับอากาศร้อนแบบบ้านเราแน่นอนค่ะ

เรียบเรียงโดย XROSSX
ที่มา 8.cao.go.jp pref.okinawa.jp

เครดิตภาพปก ©OCVB

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า