Japan Drinking Culture - Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2021)​ หลาย ๆ ท่านที่รับชมสื่อจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือการ์ตูน อาจจะคุ้นชินกับฉากร้านอาหารที่จะต้องมีเหล้าเบียร์เครื่องดื่มมึนเมาต่าง ๆ ประกอบอยู่ในฉากอยู่บ่อย ๆ ราวกับเป็นวิถีชีวิตประจำวันปกติของชาวญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องขอยืนยันว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบนี้เป็นวิถีชีวิตหนึ่งของญี่ปุ่นจริง ๆ ถึงขั้นมีคำศัพท์ว่า “โนะมินิเกชั่น (飲みニケーション)” ที่แปลว่า การสื่อสารโดยการดื่ม กันเลยทีเดียว

โนะมินิเกชั่นมีรากศัพท์จาก โนะมุ (飲む) ที่แปลว่าดื่ม และ นิเกชั่น จากคำว่า คอมมิวนิเกชั่น (Communication) ที่มีความหมายว่าการสื่อสาร เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมีความผูกมัดและระเบียบเคร่งครัด เมื่อเลิกงานแล้วการไปดื่มให้มึนเมาจึงทำให้เปิดอกคุยกันได้มากขึ้นกว่าสถานที่ที่เป็นทางการอย่างในบริษัท การโนะมินิเกชั่นจึงเป็นพื้นที่สำหรับสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นกับเพื่อนร่วมงาน และเปิดอกคุยกันในหลายเรื่อง

รู้จักสาเกต่างๆ ในวัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น

Japan Drinking Culture - Types of Sake

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า สาเก (ออกเสียงญี่ปุ่นว่า ซะเกะ: 酒) ที่จริงคำนี้มี 2 ความหมาย ความหมายกว้าง ๆ หมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่ถ้าความหมายแคบจะหมายถึงเหล้าญี่ปุ่น หรือที่เรียกอีกอย่างว่า นิฮนชุ (日本酒) ปรากฏการณ์คล้ายกับคำว่า “เนื้อ” ในภาษาไทย ถ้าเป็นคนกินเจหรือมังสวิรัติ เนื้อจะมีความหมายกว้าง ๆ ว่าเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่ถ้าความหมายแคบจะหมายถึงเนื้อวัวนั่นเอง

สาเก 2 ชนิดหลักที่คนญี่ปุ่นนิยม

Japan Drinking Culture - Mainstream Sake

การจะเข้าใจสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะสังคมคนทำงาน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็นมาก เรามาดูชนิดของเครื่องดื่มที่ชาวญี่ปุ่นนิยมดื่มกัน แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

1. เหล้าหมัก เรียกว่า โจโซชุ (醸造酒) คือ Fermented Liquor แนวโน้มจะมีแอลกอฮอล์น้อยกว่าเหล้ากลั่น และมักมีตะกอนอยู่ บอดี้จะไม่ได้ใสแจ๋ว เหล้าประเภทนี้ที่ญี่ปุ่นนิยมดื่มได้แก่ เบียร์, ไวน์, นิฮนชุ (หรือ สาเก ในความหมายแคบที่กล่าวไปแล้ว) เวลาดื่มจะนิยมดื่มเพียว ๆ ไม่ผสมอะไรเลย

2. เหล้ากลั่น เรียกว่า โจริวชุ (蒸留酒) คือ Distilled Liquor แนวโน้มจะมีแอลกอฮอล์สูงกว่าเหล้าหมัก บอดี้มักจะใสแจ๋วไม่มีตะกอน เหล้าประเภทนี้ที่ญี่ปุ่นนิยมดื่มได้แก่ วิสกี้, วอดก้า, จิน, โชจู (焼酎), อะวะโมะริ (泡盛) เวลาดื่มจะมีแนวโน้มผสมน้ำหรือผสมโซดาดื่ม เพราะแรงกว่าเหล้าหมัก แต่ก็มีผู้นิยมดื่มเพียว ๆ เช่นกัน

2 สาเกเบาๆ มิตรแท้คนไม่ดื่ม

Japan Drinking Culture - Alternative Sake

นอกจากนี้ยังมีเหล้าแบบพิเศษคือ เหล้าที่ไม่ใช่เหล้า หรือบางคนเรียกว่าเหล้าปลอมก็มี เหล้าประเภทนี้มีที่ฮิตในญี่ปุ่นมาก ๆ อยู่ 2 ประเภทคือ

1. ฮัปโปชุ (発泡酒) คือเบียร์ที่มีส่วนผสมของมอลต์น้อยกว่าปกติ มีผลดีทางภาษีเพราะเสียภาษีน้อยกว่าเบียร์ธรรมดา จึงมีราคาถูกกว่าเบียร์ อีกทั้งยังมีความขมน้อยกว่า เพราะมอลต์น้อย ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ชอบดื่มรสเบียร์บาง ๆ อารมณ์แบบว่าเบียร์ใส ๆ วัยรุ่นชอบ ไม่ใช่เบียร์เข้มข้นแบบที่เบียร์ปกติเป็นกัน (แต่ก็เมานะ เพราะมีแอลกอฮอล์เช่นกัน แค่มีมอลต์น้อยกว่าเบียร์ปกติ)

2. ฮ็อปปี้ (ホッピー) เป็นเครื่องดื่ม non-alcohol รสชาติคล้ายเบียร์ ถึงจะบอกว่าเป็น non-alcohol แต่จริง ๆ ก็มีแอลกอฮอล์อยู่เล็กน้อยคือแค่ 0.8% ซึ่งน้อยกว่านิยาม “เครื่องดื่มมึนเมา” ที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดไว้ที่มากกว่า 1% จึงเรียกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากผลิตจากมอลต์และฮ็อปเหมือนเบียร์ จึงมีรสชาติคล้ายเบียร์มาก สิงห์นักดื่มที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่จึงนิยมดื่มฮ็อปปี้ (แอลกอฮอล์น้อยจนไม่เมา) อีกทั้งนำมาผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ก็เพลิดเพลินกับรสชาติไปอีกแบบ จึงเป็นที่นิยมเช่นกันในญี่ปุ่นโดยเฉพาะโตเกียวและภาคกลางของญี่ปุ่น

Japan Drinking Culture - Business Fun Fact

ความรู้เบื้องต้นของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ นี้จำเป็นสำหรับผู้ที่จะต้องติดต่อธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นอย่างมาก เวลาชาวญี่ปุ่นถามว่า “ดื่มซะเกะ (สาเก) ไหม” ต้องแยกให้ออกว่า เขาถามว่า “ดื่มแอลกอฮอล์เป็นไหม” หรือว่ากำลังถามว่า “คุณอยากดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไหน” บางครั้ง เราไม่ดื่มเหล้าเลย เราตอบว่าไม่ดื่มซะเกะ คนญี่ปุ่นเลยสั่งโชจูมาให้แทน เพราะสื่อสารคำว่า “ซะเกะ” กันด้วยคนละความหมายอยู่ เราตีความ “ซะเกะ” ว่าหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่คนญี่ปุ่นตีความ “ซะเกะ” ว่าหมายถึงเหล้าหมักประเภทนิฮนชุ พอเราบอกว่าไม่ดื่มเหล้าหมัก เขาเลยสั่งเหล้ากลั่นมาให้เราแทน เป็นต้น

หรือบางครั้งคนญี่ปุ่นจะมีรสนิยมที่ บางท่านชอบแต่เหล้าหมัก บางท่านชอบแต่เหล้ากลั่น รวมทั้งวิธีการดื่มว่า ออนเดอะร็อก หรือ ผสมน้ำ หรือ ผสมโซดา หรือ ฯลฯ เป็นสิ่งที่พึงสังเกตและจดจำรสนิยมการดื่มของคู่สนทนาให้ดี จะสามารถสร้างความประทับใจในวง “โนะมินิเกชั่น” ได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเครื่องดื่มเหล่านี้เลย ช่วยให้การเจรจาใด ๆ ราบรื่นขึ้นได้จริง

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า