
รู้ไหมคะว่าซากุระนั้นติดอันดับ 1 ของสิ่งที่คนญี่ปุ่นนึกถึงเมื่อพูดถึงฤดูใบไม้ผลิ! เทศกาลดอกซากุระบานที่ญี่ปุ่นก็ใกล้เข้ามาเต็มที เชื่อว่านักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจำนวนไม่น้อยต่างกำลังวางแผนการเดินทาง เพื่อไปชมความงามของดอกซากุระสีชมพูบานสะพรั่งกันโดยเฉพาะ! วันนี้เราจึงนำ 10 เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ซากุระ ที่จะทำให้กิจกรรมการชมดอกซากุระบานของคุณกับคนในครอบครัว หรือกับเพื่อน ๆ สนุกขึ้นอีกเป็นเท่าตัว!
1. ใบซากุระมีพิษ
ในใบซากุระจะมีสารประกอบที่มีคุณสมบัติเป็นพิษที่ชื่อคูมาริน (Coumarin) แม้จะไม่ใช่พิษที่ร้ายแรง แต่หากใบซากุระร่วงลงพื้นดิน จะทำให้ดินเต็มไปด้วยพิษและส่งผลให้พืชที่อยู่รอบ ๆ หยุดการเติบโต ฉะนั้น จึงไม่มีวัชพืชเกิดรอบ ๆ ต้นซากุระเลย
อย่างไรก็ตาม ใบซากุระสามารถกินได้โดยไม่ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ มิหนำซ้ำ ใบซากุระยังมีสารยับยั้งเชื้อโรค ซึ่งช่วยปกป้องร่างกายของเราจากเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ กลิ่นฉุนติดจมูกจากขนมซากุระโมจิ ยังเป็นกลิ่นของสารประกอบคูมารินที่อยู่ในใบซากุระนั่นเอง
2. ซากุระทำให้คนตื่นตัว กระตือรือร้นได้
ละอองเกสรของดอกซากุระจะมีสารประกอบที่ชื่อเอฟิดรีน (Ephedrine) ซึ่งมีส่วนทำให้มนุษย์อยู่ในอารมณ์ตื่นเต้น ตื่นตัว และกระตือรือร้นได้ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนที่นั่งดื่มเหล้าใต้ต้นซากุระจึงดีดเป็นพิเศษ
3. โทคุกาวะ โยชิมูเนะ เป็นผู้ทำให้การชมดอกซากุระบานสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
เดิมที การชมดอกซากุระบานเป็นธรรมเนียมที่จัดขึ้นเฉพาะในกลุ่มขุนนางญี่ปุ่นเท่านั้น โดย โทคุกาวะ โยชิมูเนะ เป็นผู้เผยแพร่กิจกรรมชมดอกซากุระบานสู่ประชาชนตั้งแต่ยุคเอโดะ เขาได้สั่งให้มีการปลูกต้นซากุระทั่วเมืองเอโดะ ให้ประชาชนได้ชมดอกซากุระบานในฤดูใบไม้ผลิ เพื่อเป็นการลดระดับความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชาชน ทั้งยังเป็นการเรียกนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจสู่พื้นที่ที่จัดกิจกรรมชมดอกซากุระบานอีกด้วย
4. ในอดีต เทศกาลชมดอกไม้ในญี่ปุ่นคือการชมดอกบ๊วย
ในปัจจุบัน คำว่าฮานามิ (花見) หรือการชมดอกไม้ จะหมายถึง ‘การชมดอกซากุระบาน’ ขณะที่คำว่า ฮานามิ ในอดีตหมายถึง ‘การชมดอกบ๊วยบาน’ นั่นเอง
ญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมการชมดอกไม้บานมาจากประเทศจีนตั้งแต่ยุคนาระ ซึ่งในยุคนั้นยังเป็นการชมดอกบ๊วยอยู่ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการชมดอกซากุระตั้งแต่ยุคเฮอันเป็นต้นมา นอกจากนี้ บทกวีจากมันโยชูในยุคนาระ ยังมีการพูดถึงดอกบ๊วยเป็นจำนวนมาก ขณะที่บทกวีโคกินวากาชูในยุคเฮอัน มีการพูดถึงดอกซากุระเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
5. ซากุระ ถือเป็นสิ่งอัปมงคลในอดีต
ก่อนถึงยุคเอโดะ ช่วงที่วัฒนธรรมการชมดอกซากุระยังไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าซากุระเป็นสิ่งอัปมงคล เพราะใบและดอกของต้นซากุระมักร่วงลงพื้นจำนวนมาก จึงเชื่อกันว่า หากแต่งงานในฤดูนี้ จะต้องมีอันเลิกรากันทันที
นอกจากนี้ ซากุระมักบานอยู่ในบริเวณสุสานและสถานที่ที่เกิดการสู้รบกัน จึงมีการพูดกันปากต่อปากว่า ต้นซากุระเติบโตได้เพราะได้รับแร่ธาตุจากกระดูกมนุษย์
6. ที่มาของคำว่า ‘ซากุระ’
มีหลายทฤษฎีที่พูดถึงที่มาของคำว่า ‘ซากุระ’ โดยชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าต้นซากุระ เป็นที่สิงสถิตของเทพพระเจ้าที่ชื่อ ‘ซาคามิ’ และท่านจะเสด็จลงมาบนโลกมนุษย์เมื่อดอกซากุระบาน ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า ต้นซากุระคือบัลลังก์สำหรับพักผ่อนของเทพซากามิ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘มิคุระ’ (御座) ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเรียก มิคุระ ว่า ซากุระ หรือที่แปลว่า บัลลังก์ของเทพซาคามิ ตั้งแต่นั้นมา
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีที่ว่า ซากุระ มาจากคำว่า ซาคุ (咲く) ที่แปลว่า (ดอกไม้) บาน โดยนำมารวมกับคำว่า ระ (ら) ที่แปลว่า จำนวนมาก ซึ่งเป็นการเรียกลักษณะของดอกซากุระ ที่จะเบ่งบานพร้อมกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง
7. ต้นซากุระมักปลูกบริเวณริมแม่น้ำ
นอกจากในเขตสวนสาธารณะแล้ว เรามักพบเห็นต้นซากุระบริเวณริมแม่น้ำอยู่หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนี่คือหนึ่งในภูมิปัญญาของชาวญี่ปุ่นยุคเอโดะ ที่ปลูกต้นซากุระไว้ริมแม่น้ำ เพื่อทำให้ตลิ่งเกิดความแข็งแรง ทนทานต่อน้ำท่วม และป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง แถมยังไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการป้องกันปัญหาอุทกภัยในอดีตอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นซากุระไว้ริมแม่น้ำ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณริมแม่น้ำแข็งแรงขึ้นนั่นเอง
8. เหตุผลที่ ‘ซากุระ’ เป็นคำเรียกแทน ‘(ลูกค้า) หน้าม้า’
ตั้งแต่ยุคเอโดะจนถึงปัจจุบัน ‘ซากุระ’ มีความหมายแฝงว่า ‘(ลูกค้า) หน้าม้า’ ซึ่งถูกใช้เป็นครั้งแรกและรู้กันเฉพาะในกลุ่มคนทำงานโรงละคร ในสมัยนั้น จะมีลูกค้าที่มาขอดูคาบูกิฟรี โดยแลกกับการส่งเสียงเชียร์นักแสดง เพื่อสร้างความคึกคัก แต่เมื่อลูกค้าหน้าม้าคนดังกล่าวหายตัวไป ความสนุกสนานในโรงละครก็หายไปในพริบตา ราวกับดอกซากุระที่มีช่วงเวลาบานน้อยและร่วงเร็ว
9. ซากุระพันธุ์โซเมอิโยชิโนะเกือบทั้งหมดในญี่ปุ่น ขยายพันธุ์ด้วยการโคลนนิ่ง
โซเมอิโยชิโนะ (ソメイヨシノ) เป็นพันธุ์ซากุระที่พบเห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่น ซึ่งซากุระสายพันธุ์นี้ไม่สามารถปลูกขึ้นใหม่ได้จากเมล็ดพันธุ์ แต่ต้องขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งเท่านั้น ว่ากันว่า ซากุระโซเมอิโยชิโนะที่ปลูกอยู่ทั่วญี่ปุ่นนั้น ถูกโคลนนิ่งจากต้นไม้ตัวต้นแบบที่มีอยู่เพียงไม่กี่ต้นอีกด้วย และยังว่ากันว่า เหตุผลที่ซากุระโซเมอิโยชิโนะบานและร่วงในระยะเวลาเดียวกัน เป็นเพราะถูกโคลนนิ่งมาจากต้นไม้ตัวต้นแบบเดียวกันนั่นเอง
10. ภาษาดอกไม้ของ ‘ซากุระ’
ภาษาดอกไม้ของซากุระ หมายถึง ความงดงามภายในจิตใจ (精神の美) โดยมีที่มาจากเหตุการณ์ของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ที่ได้สารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเผลอตัดซากุระต้นสำคัญสำหรับคุณพ่อของเขาไป และอีกความหมายหนึ่งคือ ‘หญิงสาวผู้เลอโฉม’ (優美な女性) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบผู้หญิงว่ามีความสง่างามราวกับซากุระนั่นเอง
และนี่ก็คือ 10 เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ ‘ซากุระ’ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะช่วยให้ทริปเที่ยวชมดอกซากุระบานของเพื่อน ๆ สนุกยิ่งขึ้นนะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก kerokero-info, worldfolksong