ตามธรรมเนียมของคนไทยในการซื้อของไปเยี่ยมผู้ป่วยด้วยดอกไม้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงชนิดของดอกไม้ด้วยว่าเหมาะสมตามกาลเทศะหรือไม่ ซึ่งคนญี่ปุ่นเองก็มีธรรมเนียมการเยี่ยมไข้ที่ใช้ดอกไม้ได้บางชนิดเท่านั้นเหมือนกันเลยล่ะค่ะ เรามาดูกันค่ะว่าดอกไม้ต้องห้ามสำหรับการเยี่ยมไข้ของคนญี่ปุ่นนั้นจะเป็นดอกไม้แบบใดบ้าง

ควรหลีกเลี่ยงดอกไม้กระถางและคำนึงถึงสถานะของอีกฝ่าย

การเยี่ยมไข้ผู้ป่วยหรือการซื้อดอกไม้ให้กับผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาล ตามธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นแล้วสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเลยก็คือ “ห้ามซื้อดอกไม้กระถาง” ไปเยี่ยมผู้ป่วยโดยเด็ดขาด! เพราะการซื้อดอกไม้ประเภทที่ปลูกเป็น “ไม้กระถาง” ไปให้คนป่วยนั้น ตามความเชื่อของญี่ปุ่นเขาจะเข้าใจว่าเราไปแช่งคนไข้ค่ะ! ด้วยเหตุผลเพราะไม้กระถางจะมีรากอยู่ใต้ผิวดินที่ให้ความหมายเหมือนกับ “การหยั่งรากฝังลึก” หรือ “การล้มหมอนนอนเสื่อ” จึงมีความหมายโดยนัยที่สื่อว่า “เธอจะอยู่กับอาการนี้ไปอีกนาน” นั่นเอง

นอกจากเรื่องประเภทของดอกไม้เยี่ยมไข้แล้วเรายังต้องคำนึงถึง “สถานะของอีกฝ่าย” ด้วย นั่นคืออาการป่วยของผู้ที่เราจะต้องไปเยี่ยมไข้ เพราะการให้ดอกไม้ไปแล้วนั้น ก็อาจต้องจัดใส่แจกันและคอยเปลี่ยนน้ำอย่างสม่ำเสมอด้วย เราจึงควรเลือกดอกไม้ที่คงทนและไม่ต้องดูแลมากนัก ควรเลือกซื้อดอกไม้ที่มีการประดับช่อแบบสำเร็จจากร้านมาให้แล้ว เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องลำบากเปลี่ยนน้ำและจัดดอกไม้ใหม่เองค่ะ

สีของดอกไม้ก็สำคัญนะ

ตอนที่เลือกดอกไม้จำเป็นต้องคำนึงถึงสีของดอกไม้อีกด้วย โดยเฉพาะ สีขาว สีฟ้า สีม่วง ยิ่งต้องเลี่ยงก่อนเลยค่ะ เพราะมักจะเป็นสีที่ใช้เพื่อแสดงความเสียใจค่ะ หากซื้อไปมีหวังเข้าใจผิดว่าเราแช่งให้ตายจะยิ่งร้ายแรงไปกันใหญ่เลย
เวลาที่เลือกจัดช่อดอกไม้อาจจะใส่สีดังกล่าวแทรกเข้าไปได้เล็กน้อย แต่การเลือกช่อดอกไม้ที่มีสีโทนเย็นเป็นหลักจะให้ความรู้สึกที่ซีดเซียว ไม่มีชีวิตชีวาหรือหม่นหมองได้ค่ะ
แต่ถ้าเป็นคนสนิทกันก็อาจเป็นกรณียกเว้นได้แต่ก็ควรกล่าวสั้นๆ ตอนที่ให้ดอกไม้ไปด้วยว่า “ที่จริงฉันรู้มารยาท แต่เห็นว่านี่เป็นดอกไม้โปรดของเธอ” เป็นต้นค่ะ

กลิ่นของดอกไม้ก็สำคัญ

ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จะทำให้ผู้ที่ได้กลิ่นรู้สึกผ่อนคลาย แต่ในทางกลับกัน การนำดอกไมัที่มีกลิ่นแรงหรือกลิ่นฉุนไปเยี่ยมผู้ป่วยอาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะเท่าไหร่ เช่นดอกลิลลี่ แดฟโฟดิล และฟรีเซีย เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราอยู่ร้านดอกไม้อาจมีกลิ่นของดอกไม้หลากหลายชนิดปะปนกันจนอาจไม่ได้สังเกตว่าดอกไม้ที่เราซื้อนั้นมีกลิ่นฉุนเกินไปหรือไม่ หากเราไม่แน่ใจอาจลองสอบถามพนักงานที่ร้านดูก่อนดีกว่าค่ะ

ดอกฟรีเซีย

นอกจากกลิ่นแล้วยังควรต้องคำถึงขนาดของดอกไม้ที่จะซื้อไปเยี่ยมด้วย เช่น กรณีที่เป็นห้องผู้ป่วยรวมควรซื้อดอกไม้ที่มีขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้เกะกะผู้ป่วยคนอื่นด้วย

ความหมายของดอกไม้

สำหรับการเลือกดอกไม้ไปเยี่ยมผู้ป่วยนั้น คนไทยเรามักเลือกดอกไม้ที่ดูสวยงามและให้ความสดชื่นเป็นหลัก ซึ่งคนไทยเราไม่ค่อยนิยมจำความหมายดอกไม้กันมากนัก แต่ไม่ใช่สำหรับคนญี่ปุ่นแน่นอน เพราะการรู้ความหมายของดอกไม้ที่เราซื้อไปเยี่ยมผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรคำนึงถึงเลยด้วยซ้ำไปค่ะ

ดอกไซคาเลน

ตัวอย่างเช่น “ดอกไซคลาเมน” มีความหมายถึงการจากลา ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Shikuramen” โดยคำว่า “Shi” นั้นพ้องเสียงกับคำว่า 死 (Shi) ที่หมายถึงความตาย อีกดอกไม้หนึ่งคือดอกเบญจมาศที่แม้จะสดทนอยู่ได้นาน แต่มักถูกนำไปใช้ในงานศพจึงให้ความหมายในเชิงลบนั่นเอง

แม้แต่ดอกลิลลี่ที่มีความหมายสากลว่า “ความบริสุทธิ์” ก็ห้ามซื้อไปเยี่ยมไข้เด็ดขาดนะคะ เพราะดอกลิลลี่มีความหมายเกี่ยวข้องกับศาสนาและถูกใช้สำหรับงานศพด้วย นอกจากนี้ดอกลิลลี่ 1 ดอกยังมีความหมายถึง “การอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับ” อีกด้วยค่ะ

ดอกลิลลี่

เป็นอย่างไรบ้างคะ? เพียงการจะไปเยี่ยมไข้ใครสักคนต้องคำนึงหลายอย่างกว่าที่คิดมากเลยนะคะเนี่ย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องระมัดระวังอย่างมาก การที่เราใส่ใจเลือกดอกไม้ย่อมทำให้ผู้รับรู้สึกดีแน่นอนอยู่แล้ว แต่การเลือกให้เหมาะสมตามสถานการณ์ก็ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยได้อย่างดีเลยล่ะค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก : hibiyakadan kokkaen-ec.jp

tisttai

จากอดีตที่เคยเมินทุกสิ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่น สู่ล่ามผู้มีฝันอยากเที่ยวไปทุกจังหวัดและชิมอาหารให้ครบทุกภูมิภาค ขอมาร่ายเสน่ห์แดนปลาดิบในหลากมุมมองให้ผู้อ่านได้หลงใหลไปพร้อมๆ กันค่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า