เกียวยูเซ็น

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่นคงไม่มีใครไม่รู้จักกิโมโน แต่น้อยคนที่จะรู้จัก “ยูเซ็น” ลวดลายสวยงามที่ปรากฎอยู่บนกิโมโน ยูเซ็นเป็นเทคนิคการย้อมผ้าโดยใช้แปรงทาลงบนผ้าไหมโดยตรงที่ต้องอาศัยความละเอียดและพิถีพิถัน ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักขั้นตอนการทำยูเซ็นแบบเกียวโตหรือที่เรียกกันว่า “เกียวยูเซ็น” ศิลปะเฉพาะตัวของเมืองเกียวโตที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

รู้จัก 3 ยูเซ็นหลักแห่งการย้อมผ้าของญี่ปุ่น!

ยูเซ็น การย้อมผ้า

ปัจจุบัน “ยูเซ็น” ในญี่ปุ่น แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ดังนี้

  1. โตเกียว ยูเซ็น  หรือ เอโดะ ยูเซ็น สืบทอดมาในกรุงโตเกียว
  2. คากะ ยูเซ็น สืบทอดมาในเมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิคาวะ
  3. เกียวยูเซ็น สืบทอดมาในเมืองเกียวโตและเป็น ยูเซ็นที่เก่าแก่ที่สุด ในสามยูเซ็นหลักของประเทศญี่ปุ่น

ที่มาของ “เกียวยูเซ็น”

เกียวยูเซ็น

“เกียวยูเซ็น” เริ่มต้นในเมืองเกียวโตในสมัยเกนโรขุหรือในสมัยเอโดะ มีต้นกำเนิดมาจาก มิยาซากิ ยูเซนไซ (宮崎友禅斎) ซึ่งโด่งดังในสมัยนั้นในฐานะจิตรกรและช่างฝีมือที่วาดภาพลงบนพัด ความนิยมอย่างกว้างขวางของ “เกียวยูเซ็น”  เกิดจากการที่รัฐบาลโชกุนเอโดะสั่งห้ามสินค้าฟุ่มเฟือยและส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดอดออม ส่งผลให้เกิดการห้ามสวมชุดกิโมโนหรูหรา เช่น กิโมโนเลื่อมทอง กิโมโนที่ใช้วิธีปัก หรือการใส่ชิโบริ ทำให้เกียวยูเซ็น ซึ่งเป็นชุดกิโมโนย้อมที่งดงาม และแฝงไว้ด้วยความสง่างาม รวมทั้งไม่ใช้เทคนิคต้องห้ามจากทางการกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

“อิโตเมะ” เทคนิคทั่วไปของยูเซ็น

เกียวยูเซ็น อิโตเมะ

อิโตเมะตามปกติจะหมายถึงเส้นด้ายเล็ก ๆ แต่เมื่ออยู่ในบริบทของยูเซ็นจะหมายถึง เทคนิคของยูเซ็นที่เป็นเส้นสีขาวตรงขอบของลวดลาย โดยทั้งคากะยูเซ็นและเกียวยูเซ็นต่างก็ใช้เทคนิคอิโตเมะเหมือนกัน

ในกระบวนการนี้ช่างจะใช้วิธีติดกาวเพื่อป้องกันไม่ให้สีตกและไหลเวลาใช้แปรงทาสี เทคนิคนี้นอกจากจะช่วยให้สามารถย้อมสีได้อย่างทนทานแล้วยังทำให้ช่างสามารถย้อมสีได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นการลงสีจะทำได้ยากและใช้เวลานานเพราะสีมีโอกาสไหลซึมออกมาได้ง่าย

เอกลักษณ์ของเกียวยูเซ็น

สิ่งที่ทำให้เกียวยูเซ็นแตกต่างจากยูเซ็นเมืองอื่นคือ การออกแบบลวดลายที่หรูหรา เช่น การใช้ลวดลายความงามของธรรมชาติและลายยูโซคุ ซึ่งเป็นลวดลายโบราณมาตั้งแต่สมัยเฮอัน 

ส่วน คากะ ยูเซ็น จะเป็นสไตล์ซามูไร และมีความโดดเด่นด้วยการใช้ภาพดอกไม้ที่ดูสมจริง โดยเน้นไปที่การออกแบบแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะคล้ายกับภาพลักษณ์ของราชสำนักหรือขุนนางในราชสำนัก รวมถึงการใช้ลวดลายที่มีรายละเอียดมาก

นอกจากนี้ เกียวยูเซ็นจะไม่มีสีพื้นฐานที่ตายตัว แต่ คากะ ยูเซ็น จะมีพื้นฐานมาจากห้าสีที่เรียกว่า “คากะ โกไซ” สำหรับเกียวยูเซ็นเมื่อช่างลงสี สีที่ออกมาจะมาจากความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างฝีมือแต่ละคน และการใช้สีที่หลากหลายก็เป็นลักษณะเฉพาะตัวของช่าง จึงกล่าวได้ว่าแต่ละชิ้นจะไม่มีวันเหมือนกัน

เกียวยูเซ็นไม่เพียงแต่ใช้วิธีย้อมอย่างพิถีพิถันเท่านั้น แต่ยังมีการจบชิ้นงานด้วยสีทองและสีเงิน และการปักด้ายสีทองเพื่อขับให้ผืนผ้าดูงดงามยิ่งขึ้น รวมถึงการลงทองไปตามเส้นสีขาวของอิโตเมะด้วย ส่งผลให้ชุดกิโมโนมีความหรูหรามากยิ่งขึ้น

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือการแบ่งงานกันทำของช่างฝีมือซึ่งแตกต่างไปจากกรรมวิธีของคากะยูเซ็น ซึ่งงานส่วนใหญ่จะทำโดยช่างเพียงคนเดียว แต่เกียวยูเซ็นมีกระบวนการทำงานประมาณ 23 กระบวนการ และทั้งหมดได้รับการจัดสรรโดยช่างฝีมือเฉพาะทางที่มีถนัดแตกต่างกัน

ขั้นตอนการทำเกียวยูเซ็น

เกียวยูเซ็นสร้างสรรค์ขึ้นโดยกลุ่มช่างมืออาชีพที่ได้ฝึกฝนทักษะเฉพาะในกระบวนการของตน โดยมีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนออกแบบ
ช่างฝีมือจะออกแบบโดยพิจารณาถึงตำแหน่งของลวดลายและความสมดุลของสี

ขั้นตอนที่ 2 การย้อมฮิกิ
ในขั้นแรกจะทำแบบ ชิตะโซเมะ (下染め) หรือก็คือลงสีเป็นชั้น ๆ เพื่อให้ได้สีที่คงที่สม่ำเสมอและนุ่มลึกพอ ๆ กัน

ขั้นตอนที่ 3 การวาดภาพ
จะทำการร่างคร่าว ๆ ไว้บนผ้าหลังจากการออกแบบในเบื้องต้นและทาสีโดยใช้สีคราม ซึ่งสามารถหลุดออกได้ง่ายเมื่อโดนน้ำ

ขั้นตอนที่ 4 การวางกาวอิโตเมะตามแนวของภาพร่าง
ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้สีย้อมตกระหว่างระบายสี วัสดุกาวที่ใช้มีหลายประเภท เช่น กาวที่ทำจากข้าวเหนียวและรำข้าว กาวเรซิน และกาวยาง

ขั้นตอนที่ 5 ทากาว
เมื่อย้อมสีพื้นให้ทากาวทับลวดลายไว้เพื่อป้องกันไม่ให้สีตกเข้าลาย

ขั้นตอนที่ 6 ฮิคิโซเมะ
ฮิคิโซเมะคือการย้อมสีพื้นที่นอกเหนือจากส่วนของลวดลายเพื่อให้สีย้อมสม่ำเสมอกัน โดยขั้นแรกให้เทส่วนผสมของน้ำถั่วเหลือง (ทำน้ำถั่วเหลืองสกัด) และฟูโนริ (สาหร่าย) ลงบนผ้าแห้ง แล้วใช้แปรงขนาดใหญ่เกลี่ยให้ทั่วกัน แปรงที่ใช้ในการย้อมจะแบ่งตามสีและความกว้างขนาดต่าง ๆ ช่างฝีมือจะใช้แปรงเหล่านี้ในการย้อมผ้าเพื่อให้เกิดความแม่นยำเวลาลงสี

ขั้นตอนที่ 7 ดำเนินการกระบวนการนึ่ง
การนึ่งในที่นี้ทำเพื่อให้สีที่ย้อมไว้ที่พื้นหลังทนทานมากขึ้นและให้ได้สีที่คมสวยชัดเจน โดยจะนึ่งที่อุณหภูมิประมาณ 100°C เป็นเวลา 20 – 50 นาที

ขั้นตอนที่ 8 มิซูโมโตะ (หรือยูเซ็น นากาชิ 友禅流し)
คือการซักผ้าด้วยน้ำเพื่อขจัดสีย้อมหรือกาวส่วนเกินที่ติดอยู่บนผ้า ในปัจจุบันจะทำขั้นตอนนี้ที่บ้านพักอาศัยโดยใช้กระแสน้ำเทียมเพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่ในอดีตเรียกว่า “ยูเซ็น นากาชิ” และทำกันที่แม่น้ำคาโมกาวะ

ขั้นตอนที่ 9 การย้ำสี
เมื่อลงสีบริเวณที่มีลวดลาย จะดึงน้ำหนักออกมาอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าสีย้อมจะซึมลงในเนื้อผ้าได้อย่างสม่ำเสมอ

ขั้นตอนที่ 10 การระบายสี
เพื่อเพิ่มสีสันให้กับบริเวณที่มีลวดลายที่ลงกาวอิโตเมะไปแล้ว ด้วยการใช้แปรงและพู่กันหลากหลายชนิดลงสีอย่างงดงาม ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก นอกจากนี้ ทักษะและเซ้นส์การใช้สีของช่างฝีมือก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะเป็นรูปทรงและลวดลายเดียวกันก็สามารถแสดงออกมาได้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

ขั้นตอนที่ 11 การนึ่ง
ทำซ้ำขั้นตอนที่ 7 เพื่อแก้ไขและลงสีย้อมในบริเวณที่วาดลวดลาย

ขั้นตอนที่ 12 มิซูโมโตะ
ทำซ้ำขั้นตอนที่ 8  เพื่อล้างสีย้อมและกาวส่วนเกินออก

ขั้นตอนที่ 13 การติดทองหรือเงินลงบนผ้าที่ย้อมเสร็จแล้ว
ซึ่งเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนมาก การเพื่มทองคำลงไปในลวดลายนี้เป็นเทคนิคเฉพาะของเกียวยูเซ็นและสร้างความงดงามที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ขั้นตอนที่ 14 การตัดเย็บ
ขั้นตอนสุดท้ายคือการปรับความกว้างของผ้า จากนั้นจึงเย็บให้เป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์

เทคนิคอื่น ๆ ของเกียวยูเซ็น

นอกจาก “ยูเซ็นที่วาดด้วยมือ” ที่แนะนำไปข้างต้น ยังมีเทคนิคอื่น ๆ มากมายสำหรับเกียวยูเซ็น อาทิเช่น

1. ยูเซ็นที่ไม่มีเส้น

เป็นยูเซ็นที่ทาสีด้วยมือโดยไม่ใช้กาวอิโตเมะ ต่างจากยูเซ็นที่ทาสีด้วยมือทั่วไปเนื่องจากไม่มีการทากาวเพื่อให้ผ้าทนทานต่อการย้อมสี ดังนั้นช่างต้องมีทักษะที่ยอดเยี่ยมและแม่นยำ

2. กะตะยูเซ็น

เป็นการย้อมโดยใช้แม่พิมพ์ที่แกะสลักเป็นลวดลาย เนื่องจากสีแต่ละสีจะถูกย้อมด้วยแม่พิมพ์เพียงอันเดียว ช่างจึงต้องใช้แม่พิมพ์เท่ากับจำนวนสีต่าง ๆ ซึ่งเคยปรากฎว่ามีการใช้แม่พิมพ์หลายสิบถึงหลายร้อยแบบในการย้อมชุดกิโมโนเพียงหนึ่งชุด ซึ่งการแกะสลักแม่พิมพ์ก็เป็นงานฝีมืออีกประเภทหนึ่ง และในปัจจุบันเหลือช่างแกะสลักอยู่น้อยมากแล้ว

3. การพิมพ์สิ่งทอด้วยเครื่องจักร

การย้อมลวดลายด้วยเครื่องจักรจะทำให้สีสม่ำเสมอกัน โดยการเตรียมม้วนที่เรียกว่าแม่พิมพ์ที่มีลวดลายแกะสลักตามจำนวนสีที่จะย้อมและตั้งค่าให้เครื่องทำการย้อมตามแบบ และต้องใช้ทักษะระดับสูงในการตั้งค่าแม่พิมพ์โดยไม่ทำให้สีผิดแนว แม้จะใช้เครื่องจักรแต่ก็ต้องอาศัยทักษะของช่างฝีมืออยู่มากทีเดียว

เกียวยูเซ็น

ก็กล่าวได้ว่าชุดกิโมโนที่ทำขึ้นด้วยเทคนิคเกียวยูเซ็นนั้น กว่าจะออกมาเสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของช่างฝีมือมากกว่า 20 คน ภายใต้การดูแลของช่างย้อมมืออาชีพ! จึงไม่แปลกเลยค่ะที่จะอกมาสวยงามขนาดนี้ ทุกการสร้างสรรค์บนผืนกิโมโนล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นโดยการผสมผสานเทคนิคที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะของบรรดาช่างฝีมือทั้งนั้น ที่น่าทึ่งกว่าก็คือการรักษาภูมิปัญญาและศาสตร์ความรู้พวกนี้เอาไว้ไม่ให้สูญหายไปไหนจนถึงทุกวันนี้

นอกจากเทคนิคการย้อมผ้าแบบยูเซ็นที่กล่าวมาแล้ว ลวดลายแต่ละแบบก็น่าสนใจไม่แพ้กันนะคะ เพราะแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งบางอย่างเอาไว้… สามารถตามไปอ่านกันได้ที่บทความ ความหมายบนลายกิโมโนฟุริโซเดะ เบื้องหลังความสวยงามนั้นแฝงอะไรเอาไว้?

ที่มา: kimono-nagami furisode-hakubi
เรียบเรียงโดย Puk

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า