(เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ย. 2022) สำหรับประเทศไทยนั้นเราจะได้ยินคำว่า Thailand 4.0 กันบ่อย ๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ทางญี่ปุ่นก็กำลังวางแผนพัฒนาสังคมของตัวเองให้เข้าสู่ยุคสังคม 5.0 อยู่ ซึ่งล้ำหน้าไทยไปก้าวหนึ่ง วันนี้เลยจะมาชวนคุยเรื่อง Japan 5.0 กัน
Japan 5.0 เมื่อเทียบกับ Thailand 4.0
วิธีแบ่ง 1.0-4.0 ของญี่ปุ่นและของไทยค่อนข้างต่างกัน เราจะมาดูของไทยก่อน แล้วค่อยเทียบกับของญี่ปุ่น
Thailand 4.0
เน้นการพูดถึงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ เริ่มยุค 1.0 ตั้งแต่ ค. ศ. 1855 นี้เอง
- 1.0 (ค. ศ. 1855 – ค. ศ. 1961): เศรษฐกิจเน้นเกษตรกรรม เช่น พืชสวน พืชไร่ ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์
- 2.0 (ค. ศ. 1962 – ค. ศ. 1986): เศรษฐกิจเน้นอุตสาหกรรมเบา เช่น สินค้าในชีวิตประจำวันประเภท เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน เครื่องอุปโภคบริโภค
- 3.0 (ค. ศ. 1987 – ค. ศ. 2016): เศรษฐกิจเน้นอุตสาหกรรมหนัก พวกที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเช่น รถยนต์ เหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ การแยกก๊าซธรรมชาติและกลั่นน้ำมัน
- 4.0 (ค. ศ. 2017 – ค. ศ. 2036): เศรษฐกิจเน้นนวัตกรรม คือการคิดใหม่ ทำใหม่ ปฏิรูปอะไรใหม่ ๆ ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ
Japan 5.0
เน้นการพูดถึงสังคมของญี่ปุ่นในแต่ละยุคนับแต่โบราณ ซึ่งย้อนอดีตไปยุคโบราณมากนับพันปีก่อน จึงต่างจากการใช้ตัวเลข 1.0-4.0 ของไทยอยู่มาก
- 1.0 สังคมล่าสัตว์ (狩猟社会): คือสังคมที่ยังชีพโดยการล่าสัตว์
- 2.0 สังคมเกษตรกรรม (農耕社会): คือสังคมที่พัฒนาจากการล่าสัตว์ไปเป็นสังคมที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและเกิดการทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพขึ้น
- 3.0 สังคมอุตสาหกรรม (工業社会): คือสังคมที่สร้างเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองประชากรที่เพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
- 4.0 สังคม IT และข้อมูลข่าวสาร (情報社会): คือยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลจำนวนมหาศาล
- 5.0 สังคมแห่งอนาคต (ยังไม่มีชื่อเรียกทางการ): บางคนเรียกว่า สังคมยุคหลังนวัตกรรม หรือ สังคมใหม่ หรือ สังคมแห่งอนาคต ก็มี จะเป็นยุคแห่งการเชื่อมต่อ Online และ Offline เข้าด้วยกัน เชื่อมต่อ AI เข้ากับมนุษย์ และเชื่อมต่อ Digital World เข้ากับ Real World
ทำไมญี่ปุ่นจึงต้องมีแผน Japan 5.0?
ญี่ปุ่นประสบปัญหาประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึง 36 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 120 ล้านคน คิดง่ายๆ คือคนญี่ปุ่นทุกๆ 4 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คน จัดว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น แล้วยังเคราห์ซ้ำกรรมซัดเพราะอัตราเกิดใหม่ของประชากรก็น้อยมาก ในปี 2020 มีอัตราเกิดเพียง 1.34% (พ่อ 1 คนและแม่ 1 คน รวมเป็นมนุษย์ 2 คน คิดแบบหยาบ ๆ คืออัตราเกิดควรอยู่ที่ 2 แต่นี่ต่ำกว่า 2 ติดกันมานานหลายทศวรรษแล้ว) ทำให้ภาระเรื่องภาษีและการดูแลประเทศตกอยู่กับคนรุ่นหลังโดยแท้ เด็กและวัยรุ่นแบกภาษีแทนผู้สูงอายุกันแบบหลังแอ่นเลยทีเดียว
ส่วนในภาคธุรกิจเองก็ขาดแคลนแรงงานอย่างหนักหนาสาหัสมาก แม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์ให้คนต่างชาติเข้าไปเรียนและไปทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น ๆ ๆ จนในที่สุดมีชาวต่างชาติอาศัยในญี่ปุ่นมากถึง 2.29 ล้านคนในปี 2020 แต่ด้วย “ความญี่ปุ่น” ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนยังชอบทำงานกับบริษัทต่างชาติด้วยกันมากกว่าทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น
นอกจากนี้ วัยรุ่นญี่ปุ่นเองก็มีค่านิยมที่เปลี่ยนไปมาก จากที่ผู้เขียนเคยบอกไว้ใน “ชาวญี่ปุ่น Gen-Z และความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด” วัยรุ่นญี่ปุ่น Gen-Z ก็มองตัวเองในฐานะเป็นประชากรโลกแล้ว ไม่มีใครอยากทำงานหนักแบบสไตล์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกเพราะอยากทำงานแบบ Work Smart มากกว่า ผู้เขียนยังเคยบอกอีกใน “ทำไมญี่ปุ่นมี SMEs เยอะ และในละครชอบมีบทพูดว่า SMEs นั้นค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่?” ว่าธุรกิจ SMEs ในญี่ปุ่นประสบปัญหาไร้ผู้สืบทอดเพราะวัยรุ่นญี่ปุ่นอยากทำงานแบบนานาชาติเหมือนชาวโลกมากกว่าสืบทอดกิจการเก่าแก่ของที่บ้าน
สังคม 5.0 จะช่วยให้ญี่ปุ่นแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ได้อย่างไร?
ประการแรกคือเน้นการใช้ Robots, AI, IoT ในการทำให้แรงงานที่ขาดแคลนสามารถทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด เรียกว่าใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มพลังให้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีน้อยนั่นเอง ตรงไหนไม่ต้องใช้คน ก็ใช้เครื่องจักรแทนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
อีกประการคือการ Work from anywhere ที่จะช่วยให้ธุรกิจของญี่ปุ่นทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วก็ถูกใจวัยรุ่นญี่ปุ่น Gen-Z ด้วย สามารถเป็นเสน่ห์ที่ดึงคน Gen-Z เข้าทำงานกับบริษัทได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วองค์กรญี่ปุ่นเองหลายองค์กรก็ตระหนักถึงปัญหานี้มานานแล้ว อย่างเช่นบริษัท JECC (株式会社ジェック) ที่ผู้เขียนเคยทำงาน ก็มีการใช้ระบบ Work from anywhere ผ่านโปรแกรม Skype มานานมากก่อนจะเกิดวิกฤติ COVID-19 เสียอีก เพราะบริษัท JECC ในโตเกียวสามารถจ้างผู้เขียนเป็นพนักงานประจำได้แบบทำงานประจำที่กรุงเทพแล้วบินไปญี่ปุ่นเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนงานที่เหลือทำงานกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และประชุมด้วย Skype (ยุคก่อน COVID นั้นโปรแกรมพวก Zoom หรือ MS Teams ยังไม่ฮิต) ก็ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีไม่ต่างจากทำงานแบบต้องเข้าบริษัทเจอตัวกัน
กล่าวโดยสรุป
ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น แต่เนื่องจากฐานของเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมีรากฐานที่ดี จึงยังไหวตัวทัน มีความพยายามเตรียมการรับมือมานับทศวรรษแล้ว แม้ว่าปัจจุบันจะยังทำได้ไม่ดีเต็มร้อย แต่ก็ตื่นตัวกันในวงกว้าง ทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการของญี่ปุ่นก็เริ่มค่อย ๆ ปรับตัวกันไปบ้าง คงต้องเฝ้ามองและเรียนรู้ทั้งข้อดีและข้อที่ผิดพลาดจากญี่ปุ่น ดูว่าจะนำอะไรมาปรับใช้กับเมืองไทยได้บ้างเพราะเมืองไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ ปี ค. ศ. 2022 นี่เองที่จะมีประชากร 20% ของประชากรทั้งหมดมีอายุเกิน 60 (คนไทยทุก ๆ 5 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คน)
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas