Tsuda Umeko-Feature

ญี่ปุ่นเปลี่ยนโฉมธนบัตร 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยน ในรอบ 20 ปี โดยนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เพื่อป้องกันปลอมแปลงให้ได้ผลดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาเทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติมาในการผลิตธนบัตรเป็นครั้งแรกของโลก การออกแบบตัวเลขราคาธนบัตรให้มีขนาดใหญ่ และใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้ตัวเลขมีผิวสัมผัสขรุขระ เป็นต้น ซึ่งมีกำหนดเริ่มใช้จริงในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2024

และในจังหวะที่ธนบัตรรุ่นใหม่นี้จะมาถึง เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับว่าที่บุคคลในธนบัตรธนบัตร 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยน โดยครั้งนี้ เป็นคิวของ ‘สึดะ อุเมโกะ’ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 5,000 เยน เธอเป็นสตรีคนแรกของญี่ปุ่นที่เดินทางไปศึกษาที่อเมริกา เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสึดะอีกด้วยและผู้บุกเบิกด้านการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่นอีกด้วย

‘สึดะ อุเมโกะ’ ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่น

สึดะ อุเมโกะ ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่น

สึดะ อุเมโกะ เกิดในครอบครัวปัญญาชน เมื่อปี ค.ศ. 1864 ที่เมืองโอกะจิมาจิ โตเกียว บิดาของเธอ สึดะ เซ็น เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้มีหัวสมัยใหม่ ซึ่งเซ็นเคยเป็นข้ารับใช้ให้กับรัฐบาลโชกุนในฐานะล่าม เนื่องจากเขาเคยเรียนภาษาอังกฤษและภาษาดัตช์มาตั้งแต่เด็ก ๆ อีกด้วย

ปี ค.ศ. 1871 ครั้นเมื่ออุเมโกะมีอายุได้เพียง 6 ขวบ เธอได้เดินทางจากบ้านเกิดไปศึกษาที่อเมริกาตามกำหนด 10 ปี ในฐานะ 1 ใน 5 สมาชิกของ ‘ภารกิจอิวาคุระ’ ซึ่งอุเมโกะเป็นเด็กผู้หญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในภารกิจนี้ การไปศึกษาที่ต่างประเทศนั้นเป็นความตั้งใจของเซ็น ผู้เป็นบิดา เนื่องจากเขาเคยทำหน้าที่ล่ามให้รัฐบาลโชกุนเมื่อปี ค.ศ. 1867 และได้เปิดหูเปิดตาทางด้านเกษตกรรมและความเสมอภาพทางเพศของอเมริกา เขาจึงอยากให้ลูกสาวได้สัมผัสประสบการณ์นั้นด้วย

อุเมโกะใช้เวลาเกือบ 1 เดือนข้ามน้ำข้ามทะเลไปเทียบท่าที่ซานฟรานซิสโก และไปอาศัยอยู่กับครอบครัวนักการทูตชาวอเมริกันที่วอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากครอบครัวที่อุเมโกะอาศัยอยู่ไม่มีลูก เธอจึงได้รับความรักใคร่เอ็นดูเหมือนเป็นลูกแท้ ๆ และได้เรียนรู้วัฒนธรรม ภูมิปัญญาแบบตะวันตกอย่างเต็มที่ จนทำให้เธอตัดสินใจเข้าพิธีรับศีลล้างบาปอีกด้วย

อุเมโกะจบการศึกษาที่โรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งช้ากว่ากำหนดเดิมไป 1 ปีตามความตั้งใจของเธอเอง เธอในวัย 18 ปีเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1882 และต้องเจอกับเหตุการณ์คัลเจอร์ช็อกในบ้านเกิดตัวเอง ทั้งการกดขี่ทางเพศของผู้หญิงญี่ปุ่นที่แตกต่างกับผู้หญิงอเมริกันโดยสิ้นเชิง การถูกคลุมถุงชนให้แต่งงานกับคนที่พ่อแม่เป็นผู้เลือกตั้งแต่อายุได้เพียงไม่กี่สิบปี และเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศเช่นเดียวกันแล้ว พวกเขาได้รับการความคาดหวังจากรัฐบาลเมจิมากกว่า ขณะที่กลุ่มผู้หญิงที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศอย่างอุเมโกะ กลับมีทางเลือกแค่แต่งงานออกเรือนเท่านั้น

ต่อมา อุเมโกะได้มีโอกาสนำเอาความรู้และความสามารถของเธอมาใช้ โดยการเป็นครูสอนที่โรงเรียนสตรีที่เป็นลูกหลานของตระกูลชนชั้นสูง ตามคำแนะนำของ อิโต ฮิโรบูมิ นายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะนักเรียนยังขาดความใฝ่รู้ด้านการศึกษา และถูกสอนเพื่อเป็นผู้รับใช้ปรนนิบัติสามีเท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อุเมโกะฝันที่จะสร้างสถานศึกษาในแบบของเธอเอง

ปี ค.ศ. 1889 อุเมโกะกลับไปศึกษาต่อที่อเมริกาอีกครั้ง ในวิทยาลัยสตรี Bryn Mawr สาขาวิชาชีววิทยา เพื่อตอกย้ำกับตัวเองถึงความสำคัญด้านการศึกษาสำหรับผู้หญิง โดยระหว่างเรียนอยู่ที่นั่น เธอได้ตั้งระบบทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงญี่ปุ่นที่อยากมาเรียนต่อในอเมริกาเหมือนกับเธอด้วย จากนั้น เธอได้เดินทางกลับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1892 และทำหน้าที่เป็นครูสอนที่โรงเรียนสตรีตระกูลชนชั้นสูงตามเดิม เพิ่มเติมคือการควบหน้าที่ครูสอนที่โรงเรียนสตรีเมจิอีกแห่งด้วย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1900 อุเมโกะลาออกจากการเป็นครู และก่อตั้งวิทยาลัยสตรี ‘โจชิ เองะคุ จูคุ’ หรือมหาวิทยาลัยสึดะในปัจจุบัน โดยวิทยาลัยของเธอมุ่งเน้นการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งในปีแรก มีนักเรียนใหม่จากทั่วประเทศทั้งหมด 10 คน โดยนักเรียนทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งครูสอนภาษาอังกฤษผู้หญิงในสมัยนั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย การก่อตั้งวิทยาลัยสตรีในครั้งนี้ จึงถือเป็นใบเบิกทางสำคัญก้าวแรกที่อุเมโกะได้สร้างขึ้นเพื่อทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมีบทบาทในสังคมมากขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สึดะ อุเมโกะ ได้ถึงแก่กรรมด้วยวัย 64 ปี จากอาการป่วย ที่บ้านพักในเมืองคามาคุระ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1929

จบกันไปแล้วสำหรับประวัติที่น่าสนใจของ ‘สึดะ อุเมโกะ’ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 5,000 เยน ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสึดะในปัจจุบัน ครั้งหน้า เราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร่ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 1,000 เยน นักฟิสิกส์และนักวิทยาแบคทีเรีย บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ผู้ค้นพบวิธีการรักษาโรคบาดทะยัก อย่าลืมติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ! และถ้ายังไม่ได้รู้จักกับชิบุซาว่า เออิจิ บิดาแห่งทุนนิยมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นผู้จะมาอยู่บนธนบัตร 10,000 เยนล่ะก็ ไปทำความรู้จักกันได้เลย

สรุปเนื้อหาจาก : tsuda.ac.jpintojapanwaraku.comndl.go.jp

Rabbit_Rapz

โอตาคุไอดอลญี่ปุ่น นักเขียนสายวาไรตี้ ผู้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นตอนชั้นประถม ฯ ด้วยตัวเองจากพจนานุกรมเล่มเดียว (หัวเราะ) ชื่นชอบการอัปเดตเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับญี่ปุ่นแทบทุกสาขา เช่น เทรนด์ล่าสุดตามกระแส ข่าวเด็ดประด็นร้อน แวดวงบันเทิง ไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรมญี่ปุ่นต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า