ญี่ปุ่นเปลี่ยนโฉมธนบัตร 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยน ในรอบ 20 ปี โดยนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เพื่อป้องกันปลอมแปลงให้ได้ผลดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาเทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติมาในการผลิตธนบัตรเป็นครั้งแรกของโลก การออกแบบตัวเลขราคาธนบัตรให้มีขนาดใหญ่ และใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้ตัวเลขมีผิวสัมผัสขรุขระ เป็นต้น ซึ่งมีกำหนดเริ่มใช้จริงในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2024
และในจังหวะที่ธนบัตรรุ่นใหม่นี้จะมาถึง เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับว่าที่บุคคลในธนบัตรธนบัตร 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยน โดยครั้งนี้ เป็นคิวของ ‘ชิบุซาว่า เออิจิ’ (渋沢栄一) ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของญี่ปุ่น และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทุนนิยมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นอีกด้วย
‘ชิบุซาว่า เออิจิ’ บิดาแห่งทุนนิยมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น
ชิบุซาว่า เออิจิ เกิดในครอบครัวเกษตรกรเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ปี ค.ศ.1840 ที่เมืองฟุกายะ จ.ไซตามะในปัจจุบัน เขาช่วยเหลือกิจการครอบครัวโดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ และได้เดินทางไปเรียนคำสอนของขงจื๊อกับ โอดากะ อึตสึทาดะ ญาติของเขาตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ
ปี ค.ศ. 1863 เออิจิวัย 23 ปีและเหล่าญาติ ๆ ผู้เชื่อมั่นในแนวปรัชญา ‘ซนโนโจอิ’ มองเห็นความเสื่อมถอยของระบบศักดินาของรัฐบาลโชกุน และเห็นความไม่เป็นธรรมในนโยบายต่างประเทศที่ทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกโดยไม่ได้รับการยินยอมจากองค์จักรพรรดิก่อน เขาจึงเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปร่วมมือกับขบวนต่อต้านในการยึดปราสาททาคาซากิและร่วมแผนโจมตีโรงงานของคนต่างชาติในเมืองโยโกฮาม่าด้วย
แต่ทว่า แผนการกลับถูกยกเลิกกลางคัน เขาจึงหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลโชกุนไปที่เมืองเกียวโต และได้มีโอกาสรับใช้ตระกูลฮิโตะสึบาชิ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1864 ด้วยความรู้และความสามารถที่เขามี ส่งผลให้สถานะทางการเงินของตระกูลฮิโตะสึบาชิเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงทำให้เออิจิเริ่มกลายเป็นที่ยอมรับทีละน้อย
ปี ค.ศ. 1867 เออิจิในวัย 27 ปี ได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานแสดงสินค้านานาชาติที่ปารีส ในฐานะผู้ติดตามของ โทกุงาวะ อากิทาเกะ น้องชายของ โทกุงาวะ โยชิโนบุ และได้ศึกษาถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม รวมถึงระบบสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งใหญ่สำหรับเออิจิหลังจากนี้
หลังกลับจากปารีสถึงญี่ปุ่น เออิจิได้เดินทางกลับไปพบ โทกุงาวะ โยชิโนบุ ที่ขังตัวอยู่แต่ในบ้านที่แคว้นชิซูโอกะ ก่อนจะก่อตั้ง ‘สมาคมการค้า’ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในท้องถิ่นเมื่อปี ค.ศ. 1869 และเข้ารับตำแหน่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกระทรวงการคลังในปี ค.ศ. 1872 หลังระบอบโชกุนถูกโค่นล้มและเกิดการปฏิรูปสมัยเมจิ
ปี ค.ศ. 1873 เออิจิลาออกจากราชการ และก่อตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของญี่ปุ่น ชื่อ ‘ไดอิจิ โคคุริซึ กิงโค’ (First National Bank) หรือธนาคารมิซูโฮในปัจจุบัน โดยหวังสร้างญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ให้เติบโตโดยมีธนาคารเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังเผยแพร่แนวคิดที่ว่า ‘ธุรกิจสอดคล้องกับจริยธรรม’ และมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้บริษัทกว่า 500 แห่งในญี่ปุ่นเติบโต อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นทูตประชาชนและคอยสนับสนุนสถาบันการศึกษาและระบบสาธารณูปโภคอีกกว่า 600 แห่งด้วย เรียกได้ว่าเออิจิ มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมาก ก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรมด้วยวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1931
จบกันไปแล้วสำหรับประวัติที่น่าสนใจของ ‘ชิบุซาว่า เออิจิ’ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 10,000 เยน บิดาแห่งทุนนิยมสมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ครั้งหน้า เราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ ‘สึดะ อุเมโกะ’ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 5,000 เยน ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่น เธอเป็นสตรีคนแรกของญี่ปุ่นที่เดินทางไปศึกษาที่อเมริกาอีกด้วย และยังมี ‘คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร่’ นักฟิสิกส์และนักจุลชีววิทยาผู้เป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ของญี่ปุ่นด้วย อย่าลืมติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก : shibusawa.or.jp, city.fukaya.saitama.jp, weblio.jp