ญี่ปุ่นเปลี่ยนโฉมธนบัตร 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยนในรอบ 20 ปี โดยนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เพื่อป้องกันปลอมแปลงให้ได้ผลดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาเทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติมาในการผลิตธนบัตรเป็นครั้งแรกของโลก การออกแบบตัวเลขราคาธนบัตรให้มีขนาดใหญ่ และใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้ตัวเลขมีผิวสัมผัสขรุขระ เป็นต้น ซึ่งมีกำหนดเริ่มใช้จริงในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2024
และในจังหวะที่ธนบัตรรุ่นใหม่นี้จะมาถึง เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับว่าที่บุคคลในธนบัตรธนบัตร 1,000 เยน, 5,000 เยน และ 10,000 เยน โดยครั้งนี้เป็นคิวของ ‘คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร่’ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 1,000 เยน ซึ่งเป็นทั้งนักฟิสิกส์และนักจุลชีววิทยา บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ และผู้ค้นพบวิธีการรักษาโรคบาดทะยัก
‘คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร่’ บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่
คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร่ เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1853 ที่หมู่บ้านคิตาซาโตะ เมืองโคะกุนิ อำเภออาโสะ จังหวัดคุมาโมโตะในปัจจุบัน ซึ่งครอบครัวของเขาได้สืบทอดหน้าผู้ที่ปกครองที่หมู่บ้านคิตาซาโตะกันมารุ่นต่อรุ่น
แม้ชิบาซาบุโร่เคยใฝ่ฝันที่จะทหารหรือนักการเมืองมาก่อนก็ตาม แต่ในปี ค.ศ. 1871 ครั้นเมื่อเขาอายุได้ 18 ปี ก็ได้ตัดสินใจฝากตัวเป็นศิษย์กับแพทย์ทหารจากเนเธอร์แลนด์นาม Constant George van Mansveldt ที่โรงเรียนแพทย์ของคุมาโมโตะ ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนแพทย์ของโตเกียว (หรือคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 1877 ในระหว่างกำลังศึกษา ชิบาซาบุโร่ได้มุ่งมั่นทำการวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคมาโดยตลอด
หลังจบการศึกษา ชิบาซาบุโร่ได้เข้าทำงานที่กรมอนามัยภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้น (ปัจจุบันคือกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน) ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันในปี ค.ศ. 1886 เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์กับ Heinrich Hermann Robert Koch นักจุลชีววิทยาผู้มีชื่อเสียง ระหว่างกำลังศึกษาในปี ค.ศ. 1889 ชิบาซาบุโร่ก็สามารถเพาะเชื้อบริสุทธิ์ของบาดทะยักได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังค้นพบวิธีการรักษาบาดทะยักจนได้รับการยกย่องจากบุคลากรการแพทย์ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ชิบาซาบุโร่ในวัย 39 ปี ตัดสินใจเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1892 และก่อตั้งสถาบันค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อเอกชนแห่งแรกของญี่ปุ่น (ก่อนจะเป็น สถาบันค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อแห่งชาติในปี ค.ศ. 1899) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียและการป้องกันโรคติดต่อ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ฟุคุซาวะ ยูคิจิ นักเขียนและนักการศึกษาผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคเมจิ อีกทั้ง ยังก่อตั้งโรงพยาบาลที่รักษาโรควัณโรคแบบเฉพาะทางแห่งแรกของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1893 อีกด้วย
ต่อมาในปี ค.ศ. 1894 ชิบาซาบุโร่ได้เดินทางไปยังฮ่องกงที่กำลังมีการระบาดของกาฬโรค และค้นพบแบคทีเรียที่ชื่อ “เยอร์ซีเนีย เพสติส” (Yersinia Pestis) สาเหตุการเกิดกาฬโรคได้อย่างรวดเร็วเป็นคนแรก หลังจากนั้น ชิบาซาบุโร่ได้ลาออกจากหน้าที่ผู้อำนวยการสถานค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อแห่งชาติในปี ค.ศ. 1914 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลได้ย้ายสถาบันไปเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการอย่างกระทันหัน พร้อมก่อตั้งสถาบันค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อเอกชนคิตาซาโตะในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ชิบาซาบุโร่ได้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคโอขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและคณบดีคณะแพทยศาสตร์คนแรก เพื่อตอบแทนบุญคุณของฟุคุซาวะ ยูคิจิ ที่ช่วยเหลือเขามาโดยตลอด ทั้งยังอุทิศตนเพื่อสังคมโดยมีส่วนช่วยในการก่อตั้งโรงพยาบาลและองค์กรการแพทย์ต่าง ๆ ก่อนที่บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร่ จะถึงแก่กรรมด้วยวัย 78 ปี ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ค.ศ. 1931
จบกันไปแล้วสำหรับประวัติที่น่าสนใจของ ‘คิตาซาโตะ ชิบาซาบุโร’ ว่าที่บุคคลในธนบัตร 1,000 เยน สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่เคยอ่านประวัติของ ‘ชิบุซาว่า เออิจิ’ บุคคลในธนบัตร 10,000 เยน บิดาแห่งทุนนิยมสมัยใหม่ และ ‘สึดะ อุเมโกะ’ บุคคลในธนบัตร 5,000 เยน ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาของผู้หญิงญี่ปุ่น ก็ติดตามอ่านกันต่อได้นะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก : kitasato.ac.jp, kitasato-u.ac.jp, kitasato.ac.jp