เป็นประเด็นร้อนในญี่ปุ่นช่วงนี้เลย! ที่ถึงแม้จะเพิ่งเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ไปได้ไม่ถึงเดือน แต่กลับเกิด ‘ปรากฏการณ์ยื่นใบลาออก’ ในกลุ่มพนักงานหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีชาวเน็ตหลายคนบ่นอุบ ‘อยากลาออกตั้งแต่ทำงานวันแรก’ (初日でやめたい) รวมถึง ‘กาชาสุ่มตำแหน่ง-หน้าที่’ หรือ ไฮโซคุ กาชา (配属ガチャ) ที่ติดเทรนด์ X อยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
เมื่องานที่ได้รับมอบหมายไม่ตรงกับที่คุยกันไว้
คุณชินจิ คัตสึมาตะ (นามสมมุติ) หนุ่มจบใหม่ไฟแรงวัย 23 ปี ที่ตัดสินใจลาออกจากบริษัทลูกในเครือของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของญี่ปุ่น หลังเข้าทำงานได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งเขามีเป้าหมายในการทำงานที่บริษัทนี้อย่างชัดเจนว่า เพื่อมาหาประสบการณ์ไว้สืบทอดกิจการของครอบครัวในอนาคต แต่หน้าที่ที่พนักงานฝึกหัดอย่างเขาได้รับ กลับเป็นการออกไปแจกนามบัตรที่หน้าสถานีรถไฟ
“ที่ทำงานตั้งเป้าหมายให้ว่า ต้องแจกนามบัตรให้ได้วันละ 100 ใบ ถ้าแจกไม่หมด ก็กลับบ้านไม่ได้”
คุณคัตสึมาตะเล่าเพิ่มอีกว่าถึงแจกได้ 100 ใบในวันแรก ทางบริษัทก็ยังให้เขาแจกนามบัตรอีก 100 ใบในวันถัดมา และยังมีกรณีที่หัวหน้าพูดว่า “แค่บอกกับคนแถวนั้นไปว่า…ผมเป็นพนักงานฝึกหัดหน้าใหม่ เดี๋ยวเขาก็ใจอ่อนรับเองแหละ” แต่ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่กลับส่งสีหน้าไม่สบอารมณ์แทนแถมคุณคัตสึมาตะยังถูกเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟเรียกไปตักเตือน เพราะสร้างความรบกวนให้กับผู้โดยสารคนอื่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทเคยแจ้งขอบข่ายงานกับพนักงานใหม่เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วว่า ‘พนักงานฝึกหัดจะได้เรียนรู้พื้นฐานงานเซลล์ทั้งในและนอกสถานที่’ แต่หน้าที่คุณคัตสึมาตะได้รับตอนนี้ กลับไม่ใกล้เคียงเลยแม้แต่น้อย แถมมันยังทำให้เพื่อนพนักงานฝึกหัดร่วมรุ่น 5 คน จากทั้งหมด 15 คน ยื่นใบลาออกด้วยเหตุนี้เช่นกัน
วัฒนธรรมดื่มสังสรรค์ ที่ยากจะเข้าใจ
ขณะที่ คุณเคนจิ โคจิมะ (นามสมมุติ) หนุ่มบริษัท IT วัย 22 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ยื่นใบลาออก เพราะทนกับ ‘วัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์’ ของบริษัทตนเองไม่ไหว คุณโคจิมะเริ่มเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในปี 2020 ซึ่งตรงกับช่วงโควิด-19 ระบาด การเรียนผ่านออนไลน์และกฎการรักษาระยะห่างทางสังคมในตอนนั้น ทำให้เขาไม่รู้จักกับวัฒนธรรมการเล่นเกมและการส่งเสียงเชียร์ในวงดื่มสังสรรค์
แม้ในด้านการฝึกงานจะไม่มีปัญหาอะไรเลยก็ตาม แต่ทุกอย่างกลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในปาร์ตี้ต้อนรับของบริษัท คุณโคจิมะถูกรุ่นพี่บังคับให้ ‘แสดงมุกตลก’ ที่เขาไม่เคยทำมันมาก่อน, ถูกถามกลางวงเหล้าแบบไม่เกรงใจว่า “เที่ยวผู้หญิงครั้งล่าสุดเมื่อไร?” ฯลฯ
แต่พอเขาตั้งใจว่าจะไม่ไปร่วมงานดื่มสังสรรค์อีกเป็นครั้งที่สอง คุณโคจิมะกลับถูกรุ่นพี่ตำหนิว่า
“พนักงานชายที่ไม่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ต้องโดนลงดาบ”
…นั่นทำให้คุณโคจิมะรู้สึกโกรธและหมดหวังกับบริษัท จนตัดสินใจยื่นใบลาออกในที่สุด
คุณโคจิมะถูกหัวหน้างานเรียกไปพูดคุยถึงสาเหตุที่อยากลาออกถึง 4 ครั้ง และยืนยันกับหัวหน้าว่า ตนไม่เปลี่ยนใจที่จะลาออกแน่นอน เขากลับถูกหัวหน้าพูดดูแคลนว่า
“เธอคงอยู่ในสังคมนี้ต่อไปไม่ได้ ถ้าคิดจะลาออกด้วยเหตุผลแค่นี้”
ยุคสมัยย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ก่อนจะขมวดคิ้วและพูดว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน’ อาจเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่และผู้มีประสบการณ์ในสังคม ที่ต้องปรับตัวและลองถอยมาสักหนึ่งก้าว เพื่อมองให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่เขามีเป้าหมายในการทำงานอย่างไร และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เขาไม่อยากทนและต้องการลาออก