Kamen Rider Geats Feature

Kamen Rider Geats (仮面ライダーギーツ) เป็นซีรีส์ไรเดอร์เรื่องที่ 4 ในยุคเรวะของญี่ปุ่น ซึ่งมีพล็อตที่เล่นกับเรื่อง “มหาอำนาจ VS ปุถุชนที่ไร้อำนาจ” เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกือบทั้งประเทศเป็นชนชั้นกลางกันหมด ในเรื่องนี้จึงไม่ได้ออกมาในรูปแบบของคนรวยต่อสู้กับคนจนในลักษณะของการห้ำหั่นระหว่างชนชั้น แต่เล่าในรูปแบบของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจล้นฟ้า กับ ปุถุชนที่ไร้อำนาจ ไปแทน

เรื่องย่อ

เปิดเรื่องว่ามีเกมชนิดหนึ่งเรียกว่า Desire Grand Prix (DGP) ซึ่งเป็นเกมก้ำกึ่งระหว่าง Virtual Reality กับ Augmented Reality (คือใช้โลกแห่งความจริงแบบ Augmented Reality แต่ตัดมาบางส่วนเป็นฉากในเกมแบบ Virtual Reality) ที่ผู้เล่นจะต้องแปลงร่างเป็นไรเดอร์ไปต่อสู้กับสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า จะมะโตะ (Jyamato) โดยฉากหลังของเกมคือโลกแห่งความจริง ตึกรามบ้านช่องพังทลายจริง ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็คือเจ็บจริงตายจริง แต่หากไรเดอร์ผู้เล่นคนใดชนะเลิศในเกมได้ก็จะได้รับรางวัลเป็น “สิทธิ์ในการสร้างโลกในอุดมคติ” คือสามารถเปลี่ยนแปลง Reality ของโลกให้เป็นไปตามที่ตัวเองปรารถนาได้ 1 สิ่ง

ความปราดเปรื่องของพล็อตเรื่องที่ช็อคผู้ชม

1.เกมแห่งความตายที่เป็นเพียงรายการโชว์

การเฉลยว่าเกมแห่งความตายที่เล่น ๆ กันมานั้น ที่จริงเป็นแค่ Reality Game Show ที่มีผู้ชมจับตามอง เรตติ้งสูงมาก ความเจ็บปวดหรือความตายของผู้เล่นเกม รวมทั้งหายนะที่เกิดกับบ้านเมืองนั้น เป็นเพียงสิ่งบันเทิงสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้ผู้ชมเท่านั้น

2.มนุษย์จากโลกอนาคตที่อยู่เบื้องหลัง

การเฉลยว่าทีมงานผู้จัดรายการ Reality Game Show รวมทั้งผู้ชมรายการ นั้นเป็นคนที่มาจากโลกอนาคตอันไกลโพ้น ซึ่งเลือกโลกในอดีต (โลกในปัจจุบันของเหล่าตัวเอก) มาเป็นฉากเล่นเกม โดยจะเปลี่ยนไปเลือกโลกอดีตยุคโน้นยุคนี้แล้วจัดการแข่งขันเกมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อความบันเทิงล้วน ๆ

3.โลกปัจจุบันที่อาจไม่ใช่โลกแห่งความจริงอย่างที่เรารู้

การเฉลยว่าโลกปัจจุบันที่พวกเราอยู่อาศัยนั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงโลกในมิติที่ 3.5 โดยในซีรีส์ไม่ได้อธิบายละเอียดว่า หมายถึงโลกแห่งความจริงของเราที่ถูกคนจากอนาคตมาแทรกแซงประวัติศาสตร์ได้ จึงเรียกว่าโลกมิติที่ 3.5 หรือว่า หมายถึงว่าโลกปัจจุบันที่พวกเราอยู่อาศัยนั้นที่จริงแล้วไม่มีอยู่จริง แต่มีลักษณะเหมือนภาพยนตร์ The Matrix คือเป็นเพียงมิติที่คนจากอนาคตสร้างเอาไว้และปล่อยให้วิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ เพื่อใช้เล่นเกมออกรายการ กันแน่

4.การต่อสู้ที่ไม่ได้จบในชาติเดียว

การเฉลยว่าพระเอกของเรื่อง สามารถระลึกชาติได้ ตายแล้วเกิดใหม่ ตายแล้วเกิดใหม่ มาประมาณ 2,000 ปี และมีโอกาสได้ร่วมเกม DGP หลายครั้ง และสั่งสม know-how ต่าง ๆ ของบางชาติที่ตัวเองได้เข้าร่วมเกม (ไม่ได้เข้าร่วมเกมนี้ในทุกชาติ มีบางชาติที่ตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมเกม) เพื่อหาทางเข้าถึงจอมบงการของเกม, แก้ปริศนาของแม่ตัวเองที่หายสาบสูญไปในชาติแรกใน ค.ศ. 1 (คริสตศักราชที่หนึ่ง), และทำลายวงจรอุบาทว์แห่งเกมนี้ลงให้ได้ นับเป็นซีรีส์แรกในประวัติศาสตร์ Kamen Rider ที่มีกล่าวถึงการระลึกชาติและการกลับชาติมาเกิดใหม่ของตัวละครเอก

ความทับซ้อนกับโลกแห่งความจริงในบางประเด็น

1.อายุขัยมนุษย์และเทคโนโลยี Anti-aging

Kamen Rider Geats-Anti-Aging

คนจากอนาคตอธิบายว่า ในอนาคตมีอุปกรณ์ที่สามารถ “ออกแบบตัวตนในอุดมคติ” ได้ โดยกำหนดได้ทั้งรูปร่างหน้าตา บุคลิก เสื้อผ้า ชีวิตใกล้เคียงกับความเป็นยูโทเปีย และมีอายุยืนมากระดับหลายร้อยปี (ไม่ได้มีคำอธิบายว่าในอนาคต คนเราเป็นอมตะหรือไม่) ราวกับเป็นการพยากรณ์อนาคตอันไกลของโลกแห่งความจริงที่เรา ๆ ท่าน ๆ อาศัยอยู่ คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้าน Anti-aging นั้นล้ำหน้าไปเรื่อย ๆ ทำให้คนเราอายุยืนขึ้นและแก่ช้าลงได้จริง ซึ่งหากเทคโนโลยีในอนาคตอันไกลที่อาจจะหลายร้อยปีหรือนับพันปีหลังจากนี้ มนุษย์อาจจะอายุยืนจนใกล้เคียงอมตะก็เป็นได้

2.อัตราการเกิดของเด็กและสังคมผู้สูงอายุ

Kamen Rider Geats-Elderly Society

มีคำอธิบายชัดเจนในเรื่องว่าโครงสร้างร่างกายของคนในอนาคตนั้นต่างจากโครงสร้างร่างกายของมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งก็ตรงกับข้อสันนิษฐานข้อ 1 ว่าอาจใช้วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีบางอย่างในการปรับแต่งร่างกายมนุษย์ จนอายุยืนขึ้นมาก แต่มีข้อแลกเปลี่ยนคือโครงสร้างร่างกายของคนในอนาคตนั้น “ไม่สามารถมีลูกได้” (หนังหรือละครหลายเรื่องที่มีพล็อตเรื่องชีวิตอมตะก็จะมีแนวคิดเดียวกัน คือถ้ามนุษย์กลายเป็นอมตะ หรือมีอายุยืนมากจนผิดปกติเมื่อใด เมื่อนั้นมนุษย์จะกลายเป็นหมัน) เนื่องจากหนังไรเดอร์ต้องออกอากาศในวันเวลาที่เยาวชนดูด้วย จึงไม่ได้กล่าวถึงว่าคนในอนาคตมี Sex ได้หรือไม่ กล่าวถึงเพียงว่ามีลูกไม่ได้เท่านั้น คล้ายกับจะพยากรณ์อนาคตของประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้นที่ประชากรทุก ๆ 4 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คน คือเป็นยุคที่การมีลูกเป็นเรื่องประหลาดหรือเป็นเรื่อง “ปาฏิหาริย์” ไปเลย (ไทยเราก็ไม่แพ้ญี่ปุ่น ตอนนี้คือทุก ๆ 5 คนจะเป็นผู้สูงอายุ 1 คน เช่นกัน)

3.การแสวงหาความบันเทิงจาก Reality Game Show

Kamen Rider Geats-Reality Show Entertainment

เมื่อคนในอนาคตมีชีวิตราวกับอยู่ในยูโทเปีย จึงต้องการ “ความบันเทิง” โดยเน้นไปที่ความบันเทิงทางอารมณ์ คือ รัก โลภ โกรธ หลง เศร้า เจ็บปวด ลุ้น ตื่นเต้น ระทึก เพราะอารมณ์เหล่านี้หาไม่ได้แล้วในอนาคต จึงต้องกลับมาจัดรายการ Reality Game Show ที่โลกอดีตในมิติที่ 3.5 เพื่อไขว่คว้า “ความบันเทิงทางอารมณ์” เหล่านั้น

4.การต่อสู้กับผู้มีอำนาจซึ่งล้วนต้องใช้เวลา

Kamen Rider Geats-Power Struggle

ในเรื่องนี้ พระเอกต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์มากถึง 2,000 กว่าปี กว่าจะโค่นล้มมหาอำนาจได้ ราวกับประวัติศาสตร์จริงในโลกแห่งความจริงเช่น ประเทศมหาอำนาจ บริษัทขนาดยักษ์ คนที่มีอำนาจทางชาติตระกูลอย่างมาก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะของ “ผู้มีอำนาจ” ในโลกแห่งความจริง และอาจมีบางคนที่มองเห็นผู้ไร้อำนาจเป็นแค่สิ่งบันเทิงเริงรมย์ หรืออาจเห็นเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงด้วยซ้ำ และในชีวิตจริงนั้นหากต้องการจะรับมือกับกลุ่มอำนาจเหล่านี้ ใช้เวลาเพียงชั่วชีวิตเดียวย่อมไม่พอจริง ๆ ดังนั้นในเรื่องนี้จึงให้สเกล 2,000 ปีสำหรับพระเอกที่จะต่อกรกับมหาอำนาจจากโลกอนาคตนั่นเอง

สรุป

ซีรีส์ประเภท Kamen Rider นั้นมีผู้เขียนบทของแต่ละภาคแตกต่างกันไป บางภาคเน้นตลาดเด็ก แต่บางภาคก็เน้นตลาดผู้ใหญ่ แต่เกือบทุกภาคมีการสะท้อนอะไรบางอย่างของสังคม ณ ขณะนั้นที่มีการสร้างภาคนั้นขึ้นจริง ๆ อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนเรื่อง Kamen Rider Zero-One และเรื่อง Kamen Rider Black Sun ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดได้ดี ดังนั้นสำหรับเรื่อง Kamen Rider Geats จึงให้แง่คิดอะไรหลายอย่างมากไปกว่าแค่ความบันเทิงทางอารมณ์อย่างเดียว และเป็นซีรีส์น้ำดีที่แนะนำให้ลองหามาดูกัน

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า