Kamen Rider Zero-One Feature

ซีรีส์ Kamen Rider Zero-One นั้นออกอากาศตั้งแต่กันยายน 2019 ถึงสิงหาคม 2020 ซึ่งผ่านมานับปีแล้ว แต่เนื้อเรื่องไม่เก่าเลย เพราะพูดถึงโลกอนาคตที่มี AI อยู่ร่วมกับมนุษย์และช่วยเหลือมนุษย์ในทุกด้านและทุกวิชาชีพ ซึ่งค่อนข้างจะใกล้เคียงกับโลกแห่งความจริงในยุคปัจจุบันที่มนุษย์มีแนวโน้มจะพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นตระกูลหนังแปลงร่างแต่ก็มีเนื้อเรื่องที่น่าติดตามมากเมื่อพิจารณาจากสภาพของยุคปัจจุบันที่มนุษย์แทบจะใช้ชีวิตโดยขาดเทคโนโลยีไม่ได้อีกต่อไป

เรื่องย่อของ Kamen Rider Zero-One

Kamen Rider Zero-One Plot

ในโลกยุคอนาคต มีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ไปถึงขั้นสูง สามารถมี AI ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ทุกอย่างเรียกว่า Humagear และมนุษย์จำนวนมากใช้ Humagear ในการทำงานต่าง ๆ แทนมนุษย์ ตั้งแต่เป็นหมอ เซลส์ขายบ้าน นักวาดการ์ตูน นักเล่นตลกคาเฟ่ เลขาประธานบริษัท ฯลฯ โดยพระเอกของเรื่องจับพลัดจับผลูรับสืบทอดตำแหน่งประธานบริษัท Hiden Intelligence ที่เป็นผู้ผลิต Humagear รายใหญ่ และชะตาลิขิตให้ต้องกลายเป็น Kamen Rider Zero-One เพื่อต่อกรกับผู้ก่อการร้ายไซเบอร์ที่มีชื่อองค์กรว่า MetsubouJinrai.net ซึ่งจะคอยแฮ็คระบบให้ HumaGear ที่ช่วยงานมนุษย์กลายเป็นหุ่นยนต์ปีศาจที่คอยเข่นฆ่ามนุษย์ไปเสีย โดยจุดมุ่งหมายขององค์กร MetsubouJinrai.net นั้นคือกำจัดเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สูญสิ้นไปจากโลก

คำว่า Zero-One ที่เป็นชื่อของภาคนี้ มีที่มาจากปีเรวะที่ 1 (令和 1 年) เพราะเป็น Kamen Rider ภาคแรกของยุคเรวะพอดี อีกทั้งยังหมายถึงเลข 0 และเลข 1 ซึ่งเป็นพื้นฐานของดิจิตอลที่เป็นแหล่งพลังของตัวละครหลักทุกตัวในเรื่อง เรียกว่าเข้าใจตั้งชื่อมาก

สาเหตุที่แนะนำเรื่องนี้

เรื่องนี้มีพล็อตเรื่องที่อ้างอิงจากโลกแห่งความจริงอยู่มาก โดยเฉพาะสังคมญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีเด็กเกิดน้อย การพึ่งพา AI จึงจำเป็นต่อการอยู่รอดของประเทศชาติ เพียงแต่เอาแนวคิดนี้มาขยายต่อไปถึงขั้นมี HumaGear เป็นร่างคนมาช่วยงานมนุษย์กันจริง ๆ ไปเลย นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง “ภาวะ Singularity” ซึ่งเป็นนิยามที่มีอยู่ในโลกแห่งความจริงด้วยว่า หมายถึงการที่ AI เข้าสู่ภาวะที่เหนือกว่ามนุษย์ทุกด้านคือ สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างหรือพัฒนา AI ต่อ ๆ ไป สามารถตัดสินใจอะไรต่อมิอะไรเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป อาจตีความได้ว่าคือ ภาวะที่ AI กลายเป็นสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งไป และอาจนำไปสู่การสิ้นสุดของมนุษยชาติ ก็ว่าได้

นอกจากพล็อตแล้ว ยังได้นักแสดงมากฝีมือหลายท่าน ทั้งตัวเอกทุกตัวและตัวร้ายทุกตัวคือ ทั้งหน้าตาดีหล่อ สวย เท่ ฝีมือแสดงเด่น มีการพัฒนาคาแรคเตอร์ของตัวละครอย่างชัดเจนมาก ชนิดว่าตอนเริ่มเรื่องกับตอนจบคือตัวละครทุกตัวมาไกลมากจนกลายเป็นคนละคนกันไปแล้วเลยทีเดียว

ยังมีการแสดงให้เห็นปมขัดแย้ง (Conflict) ทั้ง 3 แนวทางของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และ AI ที่น่านำมาคิดต่อคือ:

1) แนวทางของพระเอก – คือเชื่อว่าโลกในอนาคตจะเป็นโลกที่มนุษย์และ AI จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะ AI จะช่วยเหลือมนุษย์ในทุกด้าน และมนุษย์ก็จะให้เกียรติและเคารพ AI ในฐานะที่ไม่ต่างจากเป็นมนุษย์เช่นกัน โดย AI จะสามารถเรียนรู้สิ่งดี ๆ จากมนุษย์และเติบโตต่อไปได้

2) แนวทางของ อะมัทสึ ไก (ตัวละครสีเทา ๆ ตัวหนึ่งในเรื่อง) – คือเชื่อว่า AI นั้นเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ต่างจากอุปกรณ์อะไรสักอย่าง ดังนั้น AI จึงมีไว้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความร่ำรวยทางธุรกิจเท่านั้น

3) แนวทางของกลุ่มก่อการร้าย MetsubouJinrai.net – คือเชื่อว่ามนุษย์ควรจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ลงไป และโลกควรจะตกเป็นของเหล่า AI แทน ทั้ง 3 แนวทางของปมขัดแย้งในเรื่องล้วนน่าคิดตาม ว่าในโลกแห่งความจริงนั้น ทิศทางของการพัฒนาและการใช้ AI จะเป็นอย่างไรต่อไป และทิศทางไหนใน 3 แนวทางนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลจากปัจจุบันเท่าไรแล้ว เรื่อง Kamen Rider Zero-One จึงเป็นซีรีส์ที่ทำหน้าที่ของสื่อบันเทิงที่ดีได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือให้ความบันเทิง และให้แง่คิดต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้คิดถึงโลกแห่งความจริงรอบตัวผู้ชมด้วย

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า