Kamen Rider Black Sun 2022 Feature

ซีรีส์แปลงร่างเรื่อง Kamen Rider Black (1987-1988) จัดเป็นซีรีส์ไรเดอร์ที่โด่งดังข้ามทศวรรษ และอยู่ในใจของแฟน ๆ จำนวนมหาศาล การที่ตัดสินใจรีบู๊ตจักรวาลเรื่องนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมากต่อการโดนแฟน ๆ สาปส่งเอาได้ แต่ภาครีบู๊ตอย่าง Kamen Rider Black Sun (2022) ที่มีทั้งหมด 10 ตอน ตอนละ 40 กว่านาทีนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการรีบู๊ตเนื้อเรื่องใหม่ทั้งหมด และทำเนื้อเรื่องได้โหดเหี้ยมและหดหู่แบบไม่ประนีประนอมต่อผู้ชมเลยสักนิด

เรื่องย่อของภาค 2022

ลืมเรื่องเดิมของปี 1987-1988 เสียให้หมด เพราะนี่ไม่ใช่การรีเมค แต่เป็นการรีบู๊ต จึงแต่งเนื้อเรื่องใหม่หมด ดังนั้น จงลืม ๆ เนื้อเรื่องเดิมไปเสียให้หมด และซีรีส์ภาคใหม่นี้ยังขยับฐานแฟนคลับจากผู้ใหญ่ดูได้เด็กดูดี ไปเป็นซีรีส์สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ห้ามเยาวชนดูโดยเด็ดขาด!!

เนื้อเรื่องกล่าวถึงสังคมในยุคปัจจุบัน ที่ประเทศญี่ปุ่นค้นพบว่ามีเหล่า “ไคจิน (怪人)” คือมนุษย์ที่แปลงร่างเป็นสัตว์ประหลาดได้ อาศัยปะปนอยู่กับมนุษย์ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น และเกิดการเหยียดเผ่าพันธุ์อันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ทั้งสอง นักการเมืองฉ้อฉล ความเกลียดชัง ความ Coming-of-age ของวัยรุ่น และนำไปสู่การหักมุมแล้ว หักมุมอีก ชนิดนี้ผู้ชมค่อย ๆ ตับพังไปเรื่อย ๆ จนจบเรื่อง

Kamen Rider Black Sun และความทับซ้อนกับโลกแห่งความจริงหลายเรื่อง

1. Kamen Rider Black (1987-1988)

มีการใช้ตัวละครหลายตัวจากต้นฉบับภาคเดิมในปี 1987 แต่ต้นฉบับเดิมนั้นพระเอกและสัตว์ประหลาดทั้งหลายในเรื่องจะเป็นมนุษย์ดัดแปลง หรือ “ไคโซนิงเง็น (改造人間)” คือมีลักษณะของชีวจักรกล เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากทั้งเทคโนโลยีจักรกลบวกกับเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ในภาค Black Sun (2022) นี้พระเอกและเหล่าสัตว์ประหลาดจะเป็นปีศาจไปเลยคือเป็น “ไคจิน (怪人)” เน้นไปที่เทคโนโลยีชีวภาพล้วน ๆ อีกทั้งจะไม่ได้มีการแบ่งฝ่ายดี-ร้ายออกเป็นสีขาว-ดำอย่างชัดเจนเหมือนภาคเก่า เพราะในภาคนี้ตัวละครทุกตัวจะสีเทา ๆ หม่น ๆ กันไปหมด จนยากจะตัดสินว่าใครเป็นฝ่ายถูกต้องกันแน่

2. จับคนมาทำเชื้อโรค (1988)

ไม่รู้ว่าบังเอิญ หรือจงใจกันแน่ แต่ในอดีตเคยมีภาพยนตร์ฮ่องกงที่ชื่อ “จับคนมาทำเชื้อโรค” ซึ่งมีชื่อเรื่องภาษาจีนคือ “黑太陽731” ที่แปลตรงตัวคือเรื่อง “Black Sun 731” แต่ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมชื่อเรื่องภาษาอังกฤษทางการกลับแปลว่า “Men Behind the Sun” ไปแทน แล้วภาคหลัง ๆ จากนั้นจึงค่อยกลับไปใช้ชื่อ Black Sun ตามต้นฉบับภาษาจีน เช่นภาค Black Sun: the Nanking Massacre (1995) โดยเรื่องจับคนมาทำเชื้อโรคที่เป็นภาคแรก (1988) นี้อิงเค้าโครงประวัติศาสตร์จริงโดยกล่าวถึงกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีหน่วยทางการทหารที่ชื่อ Unit 731 ที่คอยจับเชลยศึกชาวจีนมาทดลองทางชีวภาพแบบสุดโหดเกินกว่ามนุษย์จะกระทำต่อกัน (หนังโหดอย่างไม่น่าเชื่อ ดูแล้วหลอนติดตา ฝันร้ายไปหลายคืน) ซึ่งในเรื่อง Kamen Rider Black Sun (2022) ก็กล่าวถึงประวัติศาสตร์ทับซ้อนกับเรื่องจับคนมาทำเชื้อโรคพอดี ๆ คือเฉลยว่าเหล่า“ไคจิน (怪人)” นั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นมนุษย์ปกติที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจับมาทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างโหดเหี้ยมจนกลายพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไปแทน แม้ว่าจะยังไม่มีแหล่งอ้างอิงอย่างเป็นทางการถึงความเกี่ยวข้องกันของทั้ง 2 เรื่องนี้ แต่ส่วนตัวผู้เขียนคอลัมน์นี้ค่อนข้างเชื่อว่า Kamen Rider Black Sun (2022) ภาคนี้มีการอ้างอิงจากประวัติศาสตร์สงครามโลกของญี่ปุ่นที่ทับซ้อนกับเรื่อง Black Sun 731 (1988) อย่างแน่นอน

3. การเหยียดเผ่าพันธุ์

สะท้อนความจริงในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างร้ายแรงในประเทศ แต่ชาวญี่ปุ่นเองจำนวนไม่น้อยก็ยังต่อต้าน “คนต่างเผ่า” อยู่มาก ในเรื่อง Kamen Rider Black Sun (2022) จะเห็นได้ว่า แม้ในตอนท้าย มนุษย์ทั่วโลกทั้งในประเทศและนอกประเทศญี่ปุ่นจะพบความจริงแล้วว่าเหล่าไคจินนั้นแท้จริงเป็นมนุษย์ผู้น่าสงสารที่ถูกจับมาทดลอง แต่มนุษย์จำนวนมากก็ยังรังเกียจเหล่าไคจินและพร้อมจะหาทางฆ่าฟันให้แหลกลาญลงไป นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่เป็นคนผิวดำที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และมีตัวละครที่เป็นคนแคระ ซึ่งก็เป็น “คนชายขอบ” ในสังคมญี่ปุ่นอยู่ดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่างที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อ “ผู้แตกต่าง” จากพวกตัวเอง

4. ขบวนการนักศึกษาในทศวรรษที่ 60-70

ในญี่ปุ่นมีขบวนการนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 60-70 อยู่จริง ซึ่งในเรื่อง Kamen Rider Black Sun (2022) ก็สมมติให้ทับซ้อนกับประวัติศาสตร์จริงว่าการเคลื่อนไหวของวัยรุ่นในปี 1972 นั้นเป็นไปเพื่อปลดปล่อยการเหยียดเผ่าพันธุ์ที่มนุษย์มีต่อไคจิน

5. นักการเมืองชั่ว

จะเห็นได้ว่าตัวละครที่ชั่วร้ายที่สุดในเรื่อง ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป หรือไคจิน แต่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศญี่ปุ่น และนักการเมืองอีกจำนวนมากที่อยู่เบื้องหลังการทดลองสุดโหดตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งปัจจุบัน และอยู่เบื้องหลังสารเคมีผิดกฎหมาย การฆาตกรรม เรื่องสารพัดชั่วล้วนเกิดจากนักการเมืองญี่ปุ่นตลอดหลายทศวรรษ เรียกว่ากล้าเล่นประเด็นนี้และเล่นไปจนสุดทางชนิดที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ประนีประนอมใด ๆ กับเรื่องการเมืองเลย

สรุป

Kamen Rider Black Sun (2022) นี่ไม่ได้มาเล่น ๆ คือมาแบบกลับไปสู่เจตจำนงดั้งเดิมของอาจารย์อิชิโนะโมะริ โชทะโร่ กันเลย ที่ไม่ได้วาดการ์ตูนเรื่อง Kamen Rider เพื่อเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด แต่เขียนไว้ด้วยความหม่นหมอง หดหู่ และโหดเหี้ยม สำหรับผู้ใหญ่รับชมเท่านั้น เพียงแต่พอทำเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็ต้องลดระดับความโหดให้เหมาะกับเด็กและกลายเป็นซีรีส์ขายของเล่นไปในภายหลัง แต่ Kamen Rider Black Sun (2022) นี้ได้ดึงผู้ชมกลับไปสู่ความเป็นต้นฉบับในอดีตแต่ก็ผูกเรื่องได้สมกับเป็นซีรีส์ยุคใหม่แบบปัจจุบัน และมีการกล่าวถึงประเด็นทางชีวิตและธรรมชาติสมกับที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในบทความ “การสอดแทรกแนวคิดสิ่งแวดล้อมไว้ในภาพยนตร์ประเภทโทะคุซัทสึ (特撮) ของญี่ปุ่น” ว่าซีรีส์ Kamen Rider นั้นมีการสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วย เอาเป็นว่าถ้าใครรับได้กับความโหดเลือดสาดของ Kamen Rider Black Sun (2022) ก็แนะนำให้หามาชมกัน จัดเป็นซีรีส์น้ำดี เรียกว่าเป็นซีรีส์แบบ Sci-Fi ที่มาในรูปของหนังแปลงร่างเท่านั้นเอง ได้ทั้งประเทืองอารมณ์และประเทืองปัญญาแน่นอน

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า