ญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็นชาติที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อย่างที่เราเห็นว่าจะมีการแยกขยะอย่างเข้มงวดตั้งแต่ 4 ประเภท ไปจนถึงเกิน 10 ประเภทก็มี แล้วแต่กฎเกณฑ์ของแต่ละที่ว่าการอำเภอว่าเข้มงวดเพียงใด ประชากรญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการพยายามลดมลพิษในประเทศตัวเอง การรักษาทรัพยากรรูปแบบต่าง ๆ เช่น ป่าไม้ น้ำ อากาศ และการไม่ทิ้งขยะลงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
นอกจากระบบการศึกษาและสภาพสังคมที่หล่อหลอมให้ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้ว สื่อมวลชนก็ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขันเช่นกัน วันนี้จะพูดถึงภาพยนตร์ประเภทโทะคุซัทสึ (特撮) ยอดฮิตตลอดกาล 3 เรื่องที่มีการสอดแทรกปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้ นั่นคือ ก็อดซิลล่าซีรีส์ อุลตร้าแมนซีรีส์ และ คาเมนไรเดอร์ซีรีส์
1. ก็อดซิลล่าซีรีส์
ภาพยนตร์เรื่องก็อดซิลล่า (ゴジラ) นั้นออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 1954 คือเก่ามากและฮิตมาหลายทศวรรษมาก แต่ภาพยนตร์ดั้งเดิมจริง ๆ นั้นมีแรงบันดาลใจมาจากความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์ อย่างที่เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในประวัติศาสตร์โลกที่เคยได้ลิ้มรสความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์กันแบบเนื้อ ๆ ในขณะที่ประเทศอื่นไม่เคยโดนถล่มแบบนี้มาก่อน ญี่ปุ่นจึงเป็นชาติที่หวาดกลัวอาวุธนิวเคลียร์อย่างมาก เมื่อมีความพยายามอยากสร้างภาพยนตร์ปีศาจร่างยักษ์ จึงเอาแนวคิดมลพิษจากนิวเคลียร์มาทำให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงกลายเป็นปีศาจก็อดซิลล่า ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ปนเปื้อนกับกัมมันตภาพรังสีจากนิวเคลียร์และกลายพันธุ์กลายเป็นปีศาจร่างยักษ์ที่มีความสามารถเกินไปกว่ามนุษย์จะจินตนาการได้ ทำให้เห็นว่า “นิวเคลียร์ทำให้มนุษย์ย่อยยับเพียงใด” ผ่านการทำลายล้างของก็อดซิลล่าที่เป็นผลพวงจากนิวเคลียร์นั่นเอง
แม้ว่าก็อดซิลล่าภาคหลัง ๆ จะมีการเปลี่ยนจุดโฟกัสไปเน้นจิกกัดทุนนิยมบ้าง, จิกกัดสังคมญี่ปุ่นบ้าง, จิกกัดนักการเมืองบ้าง แต่เกือบทุกภาคก็จะยังคงเคารพต้นฉบับไว้พอสมควรที่ว่าก็อดซิลล่าคือสิ่งมีชีวิตที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์จนกลายพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตแบบใหม่ที่มนุษย์ไม่สามารถทำความเข้าใจมันได้ เพื่อตอกย้ำความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
2. อุลตร้าแมนซีรีส์
ภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมน (ウルトラマン) ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค. ศ. 1966 ก็เก่าเหมือนกันแต่ว่าใหม่กว่าก็อดซิลล่าอยู่ 10 กว่าปี เรื่องอุลตร้าแมนไม่ได้มีประเด็นหลักเป็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่กล่าวถึงสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดพลังงานของยอดมนุษย์อุลตร้าแมนมากกว่า คือมีการอธิบายว่าแต่เดิม ชาวอุลตร้าแมนนั้นมีรูปร่างเหมือนมนุษย์โลกทุกประการและอาศัยอยู่บน “ดินแดนแห่งแสงสว่าง (光の国)” หรือก็คือ “ดาวอุลตร้า (ウルトラの星)” ซึ่งอยู่ในเนบิวลาที่ M78 แต่อยู่มาวันหนึ่งดวงอาทิตย์ที่คอยมอบแสงสว่างให้ดาวอุลตร้าเกิดระเบิดและดับสูญลงไป มีประชากรบนดาวล้มตายเป็นจำนวนมากเพราะไร้ดวงอาทิตย์ย่อมไร้สิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์บนดาวเลยคิดค้น “ดวงอาทิตย์จำลองที่ขับเคลื่อนด้วยเตาปฏิกรณ์พลังงานพลาสม่าสปาร์ค (人工太陽プラズマスパーク)” เพื่อให้แสงสว่างแทนดวงอาทิตย์ และชาวดาวอุลตร้าก็ใช้ชีวิตต่อมาได้แม้จะไม่มีดวงอาทิตย์จริง ๆ ส่องแสงให้ดาวของตัวเอง
แต่หลังจากนั้น มีการค้นพบว่า เตาปฏิกรณ์พลังงานพลาสม่าสปาร์คนั้น จริง ๆ แล้วมีการแผ่ “รังสีดิฟเฟอร์เรเตอร์ (ディファレーター光線)” ออกมาด้วย มีผลให้ร่างกายของชาวดาวอุลตร้าค่อย ๆ วิวัฒนาการ สามารถขยายร่างให้ใหญ่ขึ้น มีพละกำลังมหาศาล บินได้ ปล่อยลำแสงจากพลังงานในร่างออกมาได้ อุลตร้าแมนในแต่ละภาคต่อ ๆ มาจึงมีความผูกพันกับดวงอาทิตย์อย่างมาก เวลาที่อุลตร้าแมนแต่ละตัวไปปฏิบัติการอยู่บนดาวต่าง ๆ จะสามารถดำรงอยู่ในร่างของอุลตร้าแมนได้ไม่เท่ากันเพราะสภาพแวดล้อมที่ต่างกันในแต่ละดาว ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับบนโลกนั้นอุลตร้าแมนจะอยู่ในร่างอุลตร้าได้เพียง 3 นาทีเท่านั้น และอุลตร้าแมนทุกคนเลยต้องมีปุ่มเตือนพลังอยู่บนคอยบอกว่าหมดเวลาที่จะสู้แล้วเพราะพลังงานหมดนั่นเอง เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของ “สภาพแวดล้อม” และ “ดวงอาทิตย์” เพียงแต่ไม่ได้ออกมาในรูปแบบที่น่ากลัวเหมือนก็อดซิลล่า
3. คาเมนไรเดอร์ซีรีส์
ภาพยนตร์เรื่องคาเมนไรเดอร์ (仮面ライダー) ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1971 และเป็นเรื่องฮิตที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาพูดให้กำลังใจกันด้วยคำว่า “สู้ต่อไป ทะเกะชิ (ก่อนที่ยุคต่อมาจะมีคนพูดว่า “สู้ต่อไป จีบัน”)” เพราะพระเอกของเรื่องที่ชื่อ ฮงโก ทะเกะชิ นั่นเอง
เรื่องคาเมนไรเดอร์นั้นออกอากาศในช่วงไม่นานนักหลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มมีประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือเกิดโรคอิไตอิไต (イタイイタイ病) ของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากภาวะได้รับแคดเมียมสะสมในกระดูกติดกันเป็นเวลานาน มีผลให้กระดูกผุไปทั่วร่างและมีผลเสียต่ออวัยวะภายในอีกด้วย รักษาให้หายได้ยาก และมีความเจ็บปวดรวดร้าวไปทั่วร่างจนร้องว่า “อิไต” ที่แปลว่าเจ็บ นั่นเอง
ประกอบกับช่วงนี้ในวงการนิยายและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เริ่มมีพล็อตในแนวใช้วิทยาศาสตร์ในทางที่ผิด, จับมนุษย์หรือสัตว์มาทดลอง กันมากขึ้น คาเมนไรเดอร์ภาคแรกจึงมีพล็อตขององค์กรชั่วร้ายที่จับมนุษย์และสัตว์มาทดลองตัดต่อพันธุกรรมหรือผ่าตัดให้กลายเป็นมนุษย์ดัดแปลง และพระเอกของเราจึงต้องโดนองค์กรชั่วลักพาตัวไปผ่าตัดให้กลายเป็นมนุษย์ดัดแปลงที่มีแหล่งกำเนิดพลังจากตั๊กแตน (バッタ) เพราะตั๊กแตนมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมในระบบภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น เวลาแปลงร่างก็ต้องใช้พลังลม คือขับมอเตอร์ไซค์เร่งความเร็วให้สูงที่สุด (เร่งได้ถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เพื่อให้ลมพัดกังหันในเข็มขัด เมื่อลมแรงถึงขีดสุดจะทำให้เข็มขัดทำงานและแปลงร่างเป็นคาเมนไรเดอร์ที่มีพละกำลังเหนือมนุษย์ได้ เพราะพลังงานลมคือสัญลักษณ์ของพลังงานสะอาดไร้มลพิษ ทั้งตั๊กแตนและพลังงานลมจึงมีนัยของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างชัดเจน (คาเมนไรเดอร์ช่วงแรกสุดจะไม่มีท่าแปลงร่าง เพราะต้องใช้พลังงานลมและเร่งความเร็วมอเตอร์ไซค์อย่างที่ว่ามา) องค์กรชั่วร้ายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามจึงต้องเป็นพวกที่ใช้ธรรมชาติและใช้วิทยาศาสตร์ในทางหายนะเพื่อแสดงขั้วตรงข้ามกับฝ่ายพระเอกตามแนวคิดที่ว่ามา
กล่าวโดยสรุป
สื่อต่าง ๆ แม้ว่าจะทำหน้าที่หลักเพื่อความบันเทิง แต่ก็ไม่ควรละเลยหน้าที่รอง คือ การสะท้อนสังคมในปัจจุบัน
และชี้นำสังคมไปสู่อนาคตที่ดีงามเท่าที่จะทำได้ ตามที่กล่าวมาในคอลัมน์นี้คือ แม้ว่าภาพยนตร์ประเภทโทะคุซัทสึจะทำหน้าที่หลักคือให้ความบันเทิงและขายของเล่นให้กับบริษัทผู้ผลิตของเล่น แต่ก็สามารถสอดแทรกแนวคิดสร้างสรรค์สังคมลงไปได้โดยไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องเสียอรรถรส หนำซ้ำยังทำให้เนื้อเรื่องมีรสชาติ มีความเติมเต็มให้พล็อตเรื่องมากขึ้นอีกด้วย
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas