Gyeongseong Creature_Feature

ณ เวลาที่เขียนต้นฉบับนี้คือวันที่ 29 ธันวาคม 2023 นั้น ซีรีส์เรื่อง ‘สัตว์สยองกยองซอง (Gyeongseong Creature)’ ก็ออกอากาศไปแล้ว 7 ตอน และที่ญี่ปุ่นกำลังดราม่ากันหนักมาก เพราะเหมือนถูกเกาหลีขุดแผลเก่าขึ้นมาแล้วขยี้ ๆ ออกสื่อให้ชาวโลกได้ประจักษ์กันอีกครั้ง ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์อย่างมาก จึงขอนำมาแบ่งปันไว้ในครั้งนี้ ดังนั้น ในคอลัมน์นี้จะพูดถึง ‘จักรวรรดิญี่ปุ่น’ หมายถึงกองทัพญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้หมายถึงญี่ปุ่นปัจจุบัน และพูดถึง ‘โชซอน’ หมายถึงเกาหลีในยุคก่อนแบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ไม่ได้หมายถึงเกาหลีใต้ในปัจจุบันแต่อย่างใด

ชื่อเรื่องที่กินความหมายกว้าง

มีผู้ชมชาวไทยหลายคนบ่นว่าสัตว์ประหลาดในเรื่องออกมาน้อยไปหน่อย ไม่สมชื่อเรื่อง ‘สัตว์สยอง’ เลย อีกทั้งไม่ค่อยสนุกในฐานะหนัง Action แต่ที่จริงแล้วชื่อไทยนั่นเองที่ทำให้ผู้ชมมีความคาดหวังที่เปลี่ยนไปจาก Essence ของซีรีส์นี้ เนื่องจากชื่อต้นฉบับจริง ๆ ไม่ได้ใช้คำว่า ‘สัตว์สยอง’ หรือ ‘สัตว์ประหลาด (Monster)’ เลย แต่ใช้คำว่า Creature ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบทั้งคนและสัตว์ เมื่อลองตรวจสอบต้นฉบับชื่อเรื่องภาษาเกาหลีก็พบว่าใช้ 경성크리처 (Gyeongseongkeuricheo) ซึ่งใช้คำว่า 크리처 (keuricheo) เพื่อสะกดคำว่า Creature ตามนั้นเป๊ะ ส่วนประเทศคู่รักคู่แค้นอย่างญี่ปุ่นก็ใช้ชื่อเรื่องนี้ว่า 京城クリーチャー (keijyou kuriichaa) ซึ่งก็ใช้คำว่า   クリーチャー (kuriichaa) เพื่อสะกดคำว่า Creature เช่นกัน

การใช้คำว่า Creature จึงเป็นได้ทั้ง Creature ที่ถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นสร้างขึ้นในห้องทดลอง หรือหมายถึง Creature ที่ไปบุกประเทศของคนอื่นอย่างจักรวรรดิญี่ปุ่น หรือ Creature ที่ต้องทนกล้ำกลืนใช้ชีวิตอยู่ในกยองซองอย่างชาวโชซอน คือต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีความปราดเปรื่องตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องให้กินความหมายได้กว้างขวางขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชม แต่บอกได้คำเดียวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ซีรีส์ Action สยองขวัญที่หวังจะเห็นฉากต่อสู้เท่ ๆ เยอะ ๆ แน่นอน

ประวัติศาสตร์เอเชียในปี ค. ศ. 1945

ประวัติศาสตร์เอเชียตอนนั้นต่างจากปัจจุบันในปี ค. ศ. 2023 อย่างมาก มีรายละเอียดมากมาย แต่สรุปประเด็นหลักได้คือ มหาจักรวรรดิญี่ปุ่น (大日本帝国) มีแสนยานุภาพมาก และตระเวนยึดหลายดินแดนในเอเชีย หลัก ๆ ที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีคือ ไต้หวัน ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค. ศ. 1895-1945 ส่วนเกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค. ศ. 1910-1945 ดูแผนที่ประกอบ จะเป็นแผนที่แสดงลำดับการเข้ายึดของมหาจักรวรรดิญี่ปุ่นว่ายึดที่ไหนเวลาใดบ้าง จะเห็นได้ว่ายึดหลายพื้นที่ทั่วเอเชียมาก

© Kimdime69 / Wikimedia Commons / CC-BY-SA-3.0 / GFDL

ในเรื่อง Gyeongseong Creature จะมีการพูดถึงดินแดนที่ชื่อว่าแมนจู จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไม่เรียกว่าประเทศจีน เพราะตอนนั้นแมนจู หรือ แมนจูเรีย ก็ยังไม่ได้เป็นประเทศจีน เพราะเป็นดินแดนใต้การปกครองของญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีก็จะไม่มีตัวละครตัวใดเรียกเกาหลีว่าเกาหลี เพราะตอนนั้นยังเรียกเกาหลีว่าโชซอน กันอยู่ อีกทั้งเมือง 京城 ที่ชาวโชซอนเรียกว่าเมืองกยองซอง (경성) ส่วนชาวจักรวรรดิญี่ปุ่นเรียกว่าเมืองเคโจ (けいじょう) นั้นหมายถึงกรุงโซลในปัจจุบันนั่นเอง

มิติของตัวละครและแรงจูงใจของตัวละคร

ปัจจุบันออกอากาศไปแล้ว 7 ตอน เหลืออีก 3 ตอนจะจบ Season 1 และมีการวางแผนทำ Season 2 ต่อเรียบร้อยแล้วด้วย ดังนั้นในอนาคตอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงอีกพอสมควร

แต่ ณ ขณะนี้จะเห็นได้ว่า ตัวละครฝั่งจักรวรรดิญี่ปุ่นนั้น ถ้าเป็นตัวละครที่เลว จะไม่มีการปูพื้นหลังให้ตัวละครเลย คือโผล่มาถึงก็ตั้งหน้าตั้งตาเลว ตั้งหน้าตั้งตาทำเรื่องต่ำช้ากันแบบไม่มีการปูพื้นด้านแรงจูงใจ ในขณะที่ถ้าเป็นตัวละครฝ่ายที่ไม่เลว อย่างชาวโชซอน หรือชาวญี่ปุ่นที่เป็นฝ่ายดีอย่างซะจิโมะโตะนัดวาด ก็จะมีการปูพื้นหลังด้านแรงจูงใจและการสร้างมิติให้ตัวละครเพื่อให้ผู้ชมผูกพันและเห็นใจ ไม่ได้มีการแบ่งขาว-ดำชัดเจนเพราะทุกคนต่างก็มีเหตุผลในการเลือกทางเลือกชีวิตของแต่ละคน แม้แต่ตัวสัตว์ประหลาดนาจินในเรื่องก็ยังมีการปูพื้นหลังให้ผู้ชมได้รับรู้

ราวกับว่าผู้เขียนบทละครจงใจไม่ปูพื้นหลังให้ตัวละครฝั่งจักรวรรดิญี่ปุ่น จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นปัจจุบันที่ได้รับชมเรื่องนี้แล้ววิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนักเพราะราวกับจงใจทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นปีศาจร้ายแบบไร้แรงจูงใจ แต่ผู้ชมทั่วโลกก็คงเข้าใจได้เพราะเรื่องนี้สร้างขึ้นโดยใช้ประวัติศาสตร์ความเจ็บแค้นของชาวโชซอนที่มีต่อจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฐานคิด การที่จะสร้างให้ทหารญี่ปุ่นเลวร้ายสุดขีดจึงเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้

Unit 731

Unit 731 ที่จริงมีฐานที่มั่นในแมนจูเรีย แต่ก็มี Unit ย่อยอีกหลายแห่ง นอกจากเรื่อง Gyeongseong Creature แล้ว มีภาพยนตร์หรือซีรีส์อีกจำนวนมากที่กล่าวถึง Unit 731 ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นจับเชลยศึกหรือจับชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาทดลองทางวิทยาศาสตร์แบบทารุณ ที่เมืองไทยรู้จักดีที่สุดน่าจะเป็นเรื่องจับคนมาทำเชื้อโรค (1988) ที่เป็นประเด็นร้อนแรงมากของเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะว่าโหดกว่าเรื่อง Gyeongseong Creature อีกมากมายหลายขุมนัก ดูแล้วหลอนติดตาฝันร้ายไปหลายคืนกันเลย

ล่าสุดที่ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบคือการรีบู๊ตซีรีส์ Kamen Rider Black (1987-1988) ให้กลายเป็น Kamen Rider Black Sun (2022) ก็กล่าวถึง Unit 731 เต็ม ๆ ว่าการทดลองของจักรวรรดิญี่ปุ่นนี่เองที่มีส่วนทำให้มนุษย์กลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด Kaijin ในเรื่อง ซึ่งเป็นการเอาคำว่า Black Sun มาเล่นกับชื่อจีนของภาพยนตร์จับคนมาทำเชื้อโรค (1988) เพราะชื่อจีนคือ “黑太陽731” แปลตรงตัวคือ “Black Sun 731” นั่นเอง

นอกจากนี้ก็ยังมี The X-Files บางตอน กล่าวถึง Unit 731 เช่นกัน แล้วยังมี VDO Games อีกบางเกมที่กล่าวถึง Unit 731 ส่วนอนิเมะที่ฮิตมากอย่างเรื่อง My Hero Academia ก็เคยก่อดราม่าในประเทศจีนมาแล้วเพราะนักวิทยาศาสตร์ผู้ชั่วร้ายในเรื่องชื่อ ชิงะ มะรุตะ (志賀丸田) ดันไปพ้องเสียงกับคำเรียกที่ทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นเรียกเชลยที่ถูกจับไปทดลองว่า มะรุตะ (丸太) ที่แปลว่าท่อนซุง เพื่อไม่ให้รู้สึกว่ากำลังทดลองและฆ่ามนุษย์อยู่ แต่เรียกว่าท่อนซุงแทน แล้วก็คุยกันในสถานที่ทดลองว่า “วันนี้ท่อนซุงร่วงไปกี่ท่อน” หมายถึงมีคนตายจากการทดลองไปกี่ศพนั่นเอง

เรียกว่าประวัติศาสตร์ของ Unit 731 นี้ยังไม่เลือนไปจากใจของเหยื่อได้ง่าย ๆ แม้เวลาจะผ่านมา 70 กว่าปีแล้วก็ตาม

สรุป

รัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบันยังคงต้องคอยแก้ภาพลักษณ์ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเคยสร้างไว้ในหลายประเทศทั่วเอเชีย มีซีรีส์และภาพยนตร์อีกมากมายที่ไม่รีรอจะจำลองเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ยังโดนจักรวรรดิญี่ปุ่นย่ำยี (อย่างเรื่อง Ip Man ภาคแรกก็ด้วย เป็นต้น) ส่วนเรื่อง  Gyeongseong Creature นั้นก็น่าติดตามว่าจะทำไปถึง Season 2 ครอบคลุมเนื้อเรื่องในประวัติศาสตรืถึงช่วงไหน จะทำถึงตอนญี่ปุ่นแพ้สงคราม หรือทำไปถึงตอนที่แบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ไปเลย ก็น่าติดตามทุกแบบ

แต่ผู้เขียนย้ำอีกรอบว่าต้นฉบับนี้เขียนในขณะที่ซีรีส์ยังไม่จบ เพราะเพิ่งจบไป 7 ตอน อาจมีการหักมุมใหญ่ ๆ เกิดขึ้นที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เขียนในคอลัมน์นี้ก็ได้ ถึงตอนนั้นอาจมีโอกาสได้เขียนส่วนของ Season 2 ในอนาคต

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า