Studio Ghibli

เราได้รู้จัก Studio Ghibli ในฐานะบริษัทผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพสูงและทรงคุณค่าจากบทความ ตอนจุดกำเนิดของ Studio Ghibli และได้เห็นความสำเร็จในการสร้างสถิติมากมายภายทั้งภายในและนอกประเทศในบทความ ตอนยุคทองของ Studio Ghibli ทว่าทุกสิ่งมีขึ้นก็ต้องมีลง ในบทความตอนนี้เราจะมาเล่าถึงว่าหลังจากประสบความสำเร็จมาได้อีกขั้นหนึ่งแล้ว Studio Ghibli เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในการดำเนินกิจการบ้าง มาติดตามต่อกันเลยค่ะ

“ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์” กับการทดลองทำสิ่งใหม่

Howl's Moving Castle

ภาพจากผลงานเรื่อง ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl’s Moving Castle)

อนิเมชั่นสุดฮิตขวัญใจแฟน ๆ ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้กับเรื่อง “ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl’s Moving Castle)” ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.2004 และสร้างประวัติศาสตร์จำนวนรอบฉายสูงที่สุดของภาพยนตร์ญี่ปุ่น หลังจากออกฉายได้เพียง 6 เดือนก็แซงหน้าผลงานก่อนหน้าเรื่อง เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (Princess Mononoke) ได้สำเร็จทั้งในเรื่องของรายได้และ Box Office จนกลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมที่ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากเรื่อง มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (Spirited Away) ทำให้ภาพยนตร์ 3 อันดับแรกแห่งประวัติศาสตร์ Box Office ของญี่ปุ่นล้วนเป็นภาพยนตร์จาก Studio Ghibli ที่กำกับโดยคุณมิยาซากิทั้งหมด ด้วยสถิตินี้บอกเลยว่า Ghibli เองรู้สึกลังเลมากกว่ายินดีเสียด้วยซ้ำไป

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Ghibli เลือกใช้ในการโปรโมท ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ นั้นมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเล็งเห็นว่าการประโคมโฆษณาในสื่อโทรทัศน์หรืออื่น ๆ มากเกินไป ซึ่งนั่นอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าได้เคยเห็นมาหมดแล้ว ก็จะไม่รู้สึกตื่นเต้นและเลือกที่จะไม่เข้าไปดูหนังเรื่องนั้นในโรงภาพยนตร์ ดังนั้น Ghibli จึงหยุดแคมเปญทุกอย่าง ไม่ออกตัวอย่างลงจอโทรทัศน์และไม่แม้แต่จะเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ถึงภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่จะอออกฉาย จากนั้นจะเน้นการโฆษณาเฉพาะ 1 เดือนก่อนออกฉายเท่านั้น ซึ่งหากดูจากผลลัพธ์แล้วเรียกได้ว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จแบบสุด ๆ

Howl's Moving Castle

ภาพจากผลงานเรื่อง ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl’s Moving Castle)

ยิ่งไปกว่านั้นปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ยังถูกส่งชื่อเข้าชิงในงาน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice International Film Festival) ครั้งที่ 61 และสามารถคว้ารางวัล “Osella Awards” มาได้ก่อนที่ตัวภาพยนตร์จะเข้าฉายที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่ที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่มีความยอดเยี่ยมในหลาย ๆ ด้านทั้งการกำกับ, การเขียนบทและเทคนิคต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการคว้ารางวัลนี้มาได้นั้นเป็นการช่วยโปรโมทภาพยนตร์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้คุณมิยาซากิยังได้รับราลวัล “Golden Lion for Lifetime Achievement” จากการสร้างผลงานคุณภาพมาอย่างยาวนานอีกด้วย

การเดบิวต์ของผู้กำกับ “มิยาซากิ โกโระ”

Tales from Earthsea

ภาพจากผลงานเรื่อง ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร (Tales from Earthsea)

Ghibli ได้เริ่มเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหน้าใหม่คนอื่นที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ด้วยกันให้ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ส่วนคุณมิยาซากิและคุณทาคาฮาตะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างแทน และหนึ่งในกลุ่มผู้กำกับหน้าใหม่ที่ถูกเลือกให้เข้ามามีบทบาทในช่วงนั้นคือ “มิยาซากิ โกโระ” ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของคุณมิยาซากิ ฮายาโอะนั่นเอง ในตอนนั้น Studio Ghibli ได้แยกตัวออกจาก Tokuma Shoten และโปรดิวเซอร์ซูซูกิที่เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของ Tokuma Shoten ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง President & Representative Director ของ Studio Ghibli ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ทำให้แฟน ๆ ต่างตั้งตารอผลงานจาก Ghibli อย่างใจจดใจจ่อ และแล้ว Ghibli ก็ได้เลือกสร้าง ”Gedo Senki” หรือ “ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร (Tales from Earthsea)” ที่กำกับโดยคุณมิยาซากิ โกโระ

การสร้างผลงานดังกล่าวนั้นกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับ Ghibli เลยทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกผลงานที่ไม่ใช่ Original work ของคุณมิยาซากิหรือคุณทาคาฮาตะ และการมอบหมายหน้าที่ผู้กำกับให้กับคุณมิยาซากิ โกโระ ลูกชายของคุณมิยาซากิ ฮายาโอะที่ไม่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับทาง Ghibli มาก่อนเลยนั้น สร้างความประหลาดใจได้มากเลยทีเดียว แม้จะมีข้อกังขาอยู่บ้างแต่คุณมิยาซากิ โกโระก็แสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ออกมาได้อย่างดี ทั้งความสามารถด้านการเป็นผู้นำของโปรเจค, การทำสตอรี่บอร์ด, การวาง Layout ต่าง ๆ ทำให้การทำงานนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้น Gedo Senki ก็ออกฉายในปีค.ศ. 2006 พร้อมทั้งยังขึ้นอันดับ 1 Box Office ของปีนั้น และสร้างสถิติใหม่ของ Box Office ในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ได้อีกด้วย

The Borrower Arrietty

ภาพจากผลงานเรื่อง อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว (The Borrower Arrietty)

หลังจากนั้น Ghibli ก็ให้ผู้กำกับรุ่นเยาว์ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้กำกับมากขึ้น อาทิเช่น “อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว (The Borrower Arrietty)” หรือ “ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (From Up on Poppy Hill)” ซึ่งล้วนได้รับผลตอบรับดีและสามารถขึ้นเป็นอันดับ 1 Box Office ในปีที่ออกฉายด้วย

อุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ที่ Ghibli ต้องเผชิญ

From Up on Poppy Hill

ภาพจากผลงานเรื่อง ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (From Up on Poppy Hill)

เมื่อญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นทั้งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2012 ส่งผลให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในความโกลาหล สถานที่ผลิตภาพยนตร์ถูกระงับเป็นการชั่วคราว แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติแต่ Studio Ghibli ยังคงเลือกที่จะดำเนินการสร้าง ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ ต่ออย่างกล้าหาญ โดยยึดมั่นในคติที่ว่า “สิ่งที่ต้องทำคือการผลิตภาพยนตร์ และเราต้องไม่ทิ้งสตูดิโอ” และด้วยแรงสนับสนุนของทีมสร้างทุกคนที่สู้กันเต็มที่ ทำให้สามารถสร้างอีกหนึ่งภาพยนตร์แอนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมขึ้นมาสำเร็จได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีในขณะนั้น และขึ้นเป็นอันดับ 1 ใน Box Office ของปีนั้นด้วย

การปล่อยผลงานของสองผู้กำกับพร้อมกันอีกครั้ง

The Wind Rises

ภาพจากผลงานเรื่อง ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก (The Wind Rises)

และแล้วในปี ค.ศ.2013 สองผู้กำกับก็ได้ทำการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น 2 เรื่องในช่วงเวลาเดียวกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตั้งใจให้ออกฉายพร้อมกันเลยด้วย ซึ่งได้แก่ “ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก (The Wind Rises)” กำกับโดยคุณมิยาซากิ และ “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ (The Tale of the Princess Kaguya)” ที่เป็นผลงานกำกับในรอบ 14 ปีของคุณทาคาฮาตะ แต่เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการสร้างทำให้ “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่” ถูกเลื่อนกำหนดฉายออกไป 4 เดือน

”ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก’‘ เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 86 โดยมีคู่แข่งอย่าง “Frozen” ที่ได้รับความนิยมเป็นพลุแตก

The Tale of the Princess Kaguya

ภาพจากผลงานเรื่อง เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ (The Tale of the Princess Kaguya)

และเมื่อ “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่” ออกฉายก็ยังสามารถทำรายได้ Box Office ในประเทศไปได้มากถึง 2.5 พันล้านเยน นอกจากนี้การนำเสนอและศิลปะของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับความชื่นชมอย่างสูง และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 อีกด้วย

การประกาศวางมือของมิยาซากิ ฮายาโอะ

ก่อนที่ภาพยนตร์ ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก จะออกฉายคุณมิยาซากิได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อประกาศการเกษียณอายุตนเองและลาออกจากวงการผลิตภาพยนตร์ ทั้งนักข่าวและแฟน ๆ ต่างพากันช็อคกับการประกาศวางมือในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ปี ค.ศ 2014 เขาได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างและวาดภาพในงานนิทรรศการพิเศษที่ Ghibli Museum ในชื่องานว่า “Ghibli Museum Original Walnut Wari Doll And Mouse King Exhibition” และปลายปีนั้นก็ได้เดินทางไปอเมริกาเพื่อรับรางวัล “Academy Honorary Award” ซึ่งเป็นสาขารางวัลแห่งเกียรติยศ ซึ่งเป็นรางวัลออสการ์ที่มอบให้กับผู้ที่สร้างผลงานในวงการภาพยนตร์เป็นระยะเวลานานตลอดชีวิตของบุคคลนั้นค่ะ ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังจากนั้นคุณมิยาซากิก็ได้ค่อย ๆ กลับเข้ามามีบทบาทใน Ghibli อีกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คุณมิยาซากิ ฮายาโอะกล่าวขอบคุณหลังรับรางวัล Academy Honorary Award 2014

Ghibli ในยุคสมัยใหม่และการประกาศหยุดกิจการ

When Marnie Was There

ภาพจากผลงานเรื่อง ฝันของฉันต้องมีเธอ (When Marnie Was There)

อีกหนึ่งผลงานที่โด่งดังเรื่องถัดมาของ Studio Ghibli คือ “ฝันของฉันต้องมีเธอ When Marnie Was There” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไม่มีชื่อของคุณมิยาซากิในเครดิตภาพยนตร์ และยังได้ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เคยฝากผลงานกำกับเอาไว้ในเรื่อง อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว มากำกับให้ และยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 ทำให้ Studio Ghibli มีผลงานที่ถูกเข้าชิงต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ความสำเร็จของ Studio Ghibli เลยทีเดียว

สิงหาคมปีค.ศ 2014 ก็เกิดข่าวที่แฟน ๆ ต้องช็อคอีกครั้ง เมื่อโปรดิวเซอร์ซูซูกิประกาศเรื่องการ “ระงับการผลิตภาพยนตร์ของ Ghibli” ทำให้ตอนนั้น Studio Ghibli ต้องยุบฝ่ายผลิต พนักงานต่างแยกตัวกันไป การบริหารจัดการของ Ghibli ในตอนนั้นจึงกลายเป็นการบริหารพิพิธภัณฑ์และกลุ่มสินค้าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นหลักแทน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดคำถามมากมายถึงอนาคตของ Studio Ghibli ที่อาจมาถึงทางตัน ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการต่าง ๆ รวมถึงเรื่องผู้สืบทอด ทำให้เกิดการตัดสินใจระงับกิจกรรมของ Studio Ghibli เป็นการชั่วคราวอาจเป็นทางออกสำหรับคำถามเหล่านั้นก็เป็นได้

หลังจากที่ Ghibli ตัดสินใจหวนคืนวงการ เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2017 โปรดิวเซอร์ซูซูกิจึงประกาศว่า “Studio Ghibli จะทำการการคัดเลือกพนักงานใหม่สำหรับการสร้างภาพยนตร์เรื่องยาว” ซึ่งขณะนั้นก็เป็นที่จับตามองว่าคุณมิยาซากิ ฮายาโอะอาจวางแผนที่จะประกาศวางมือจาก Studio Ghibli อีกก็ได้

พฤษภาคม ปีค.ศ. 2017 Studio Ghibli เปิดรับสมัครพนักงานใหม่จากทั่วโลกลง Official Website อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งการตัดสินใจถอนตัวออกจากการเกษียณอายุของคุณมิยาซากิ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า “ผมได้ค้นพบผลงานที่ควรค่าต่อการสร้างภาพยนตร์แล้ว”

แม้ปัจจุบันคุณมิยาซากิ โกโระจะปฏิเสธการรับช่วงกิจการต่อจากพ่อของเขา ทำให้ Studio Ghibli ต้องประกาศขายหุ้นกว่าครึ่งให้กับ Nippon TV ไป และทำให้ไร้ผู้สืบทอดก็ตาม แต่ทาง Nippon TV เองก็ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกิจการของ Ghibli โดยมอบอิสระในการทำงานกับอย่างเต็มที่เพื่อให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของ Studio Ghibli เอาไว้ต่อไป

ponyo on the cliff by the sea

ภาพจากผลงานเรื่องโปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย (ponyo on the cliff by the sea)

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาทำให้เข้าใจดีเลยว่า Studio Ghibli นั้นมีอิทธิพลที่ช่วยขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์อนิเมชั่นของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก แม้จะมีชื่อเสียงและถูกยกย่องในระดับสูงของวงการ แต่ Studio Ghibli ก็ยังคงถือคติเดิมว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างภาพยนต์อนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมให้แก่เหล่าเด็ก ๆ ต่อไป” จึงไม่แปลกใจเลยที่ Studio Ghibli จะถูกมองว่าเป็น Role Model ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการวางกลยุทธ์การบริหารงานและความสามารถในการผลิตภาพนตร์จนกลายเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วโลก แม้จะพบกับคลื่นอุปสรรคมาแล้วมากมายแต่ Studio Ghibli ที่ก้าวสู่ยุคใหม่ตอนนี้ก็พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายใหม่อีกครั้ง และจะยังคงยึดมั่นในคติที่มุ่งเน้นการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมให้เข้าถึงผู้ชมทุกช่วงวัยเพื่อ “พัดพาโลกอนิเมชั่นของญี่ปุ่นออกไปโลดแล่นและเป็นที่รู้จักในระดับโลก” เฉกเช่นลมร้อนที่พัดผ่านทะเลทรายซาฮาราที่สมกับชื่อ “Ghibli” ต่อไปอีกนานแสนนานแน่นอน

สรุปเนื้อหาจาก : ghibli.jp , gigazine.net

tisttai

จากอดีตที่เคยเมินทุกสิ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่น สู่ล่ามผู้มีฝันอยากเที่ยวไปทุกจังหวัดและชิมอาหารให้ครบทุกภูมิภาค ขอมาร่ายเสน่ห์แดนปลาดิบในหลากมุมมองให้ผู้อ่านได้หลงใหลไปพร้อมๆ กันค่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า