Studio Ghibli เป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมของญี่ปุ่นที่ครองใจผู้คนมาหลายทศวรรษผ่านผลงานมากมายกว่า 50 เรื่อง การันตีด้วยรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมในปี ค.ศ.2003 นอกจากผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังมีเบื้องหลังการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ที่แตกต่างและรอบคอบจนสังคมญี่ปุ่นให้การชื่นชมและยกเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากนำเสนอไทม์ไลน์ความสำเร็จของ Studio Ghibli ให้ได้ทราบกันว่า กว่าจะกลายมาเป็น Ghibli ที่คนทั่วโลกรู้จักอย่างตอนนี้มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
จุดเริ่มต้นของ Ghibli
ยุคที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อนิเมชั่นเฟื่องฟูอย่างปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่สามารถตีตลาดโลกจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นแน่นอนว่ามี “Studio Ghibli” ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้วย โดยบริษัทแห่งนี้เป็นสตูดิโอที่เน้นการผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมและสามารถครองใจผู้คนได้มากมายหลายทศวรรษ
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1984 กับความสำเร็จในอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ชื่อ “มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (Nausicaa of the Valley of the Wind) ” ซึ่งสร้างขึ้นจากมังงะชื่อดังฝีมือคุณมิยาซากิ ฮายาโอะที่ถูกตีพิมพ์โดย Tokuma Shoten หลังจากนั้นก็เดินหน้าผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องที่สองอย่าง “ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา (Castle in the Sky) ” ในปีถัดมา ซึ่งกระแสตอบรับจากผู้ชมดีอย่างไม่คาดคิดเช่นเดียวกับเรื่องแรก และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัดสินใจก่อตั้ง Studio Ghibli ขึ้น
ภาพจากผลงานเรื่อง Castle in the Sky
ขณะนั้นคุณมิยาซากิ ฮายาโอะที่เป็นแกนขับเคลื่อนหลักของ Studio Ghibli มีเพียงความตั้งใจที่อยากจะ “นำพาโลกอนิเมชั่นของญี่ปุ่นให้กลายเป็นที่รู้จัก” เท่านั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจที่สอดคล้องกับชื่อ “Ghibli” ที่เขาตั้งให้เสียด้วย ซึ่งคุณมิยาซากิเลือกชื่อนี้มาจากชื่อของเครื่องบินรบสัญชาติอิตาลีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุเพราะมีความชื่นชอบเครื่องบินเป็นการส่วนตัว โดยชื่อของ Ghibli นั้นมีความหมายว่า “ลมร้อนที่พัดผ่านในทะเลซาฮาร่า” ค่ะ
อนิเมชั่นทั่วไปในยุคนั้นจะเน้นการสร้างแบบทีวีซีรีส์จากมังงะที่ได้รับความนิยมมาอยู่ก่อนแล้วขึ้นมาเป็นหลัก เพราะการสร้างผลงานภาพยนตร์ที่ไม่สามารถรับประกันถึงกระแสตอบรับได้นั้นเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมากทีเดียว แต่ภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Ghibli นั้นมีแนวทางที่แตกต่างออกไป โดยจะมุ่งเน้นการสร้างผลงานต้นฉบับสำหรับทำเป็นภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นจุดยืนที่แข็งแรงเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น ทำให้ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Studio Ghibli ไปโดยปริยาย
ผู้ก่อตั้งที่เป็นแรงขับเคลื่อนของ Ghibli มาจนถึงปัจจุบันนอกจากคุณมิยาซากิ ฮายาโอะแล้ว ยังมีคุณทาคาฮาตะ อิซาโอะด้วย ซึ่งหากให้เล่าถึงการพบกันครั้งแรกของเขาสองคนนั้น คงต้องย้อนความไปกว่าครึ่งทศวรรษเลยทีเดียว โดยช่วงนั้นทั้งสองท่านทำงานอยู่บริษัทผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันคือ “Toei Animation” ที่ขณะนั้นผลิตเฉพาะภาพยนตร์เรื่องยาวเท่านั้น แต่เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไปจึงเริ่มผันตัวสู่วงการโทรทัศน์ โดยมีอนิเมชั่นเรื่อง “ไฮดี้ สาวน้อยแห่งเทือกเขาแอลป์ (Heidi, Girl of the Alps) ” ออกอากาศในปี ค.ศ.1974 ที่คุณทาคาฮาตะเป็นผู้กำกับ ส่วนคุณมิยาซากิเป็นผู้แต่ง และเรื่องนี้เป็นหนึ่งในอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่กล่าวขานอย่างมากเรื่องหนึ่งเลยด้วยล่ะค่ะ
แต่ในการทำผลงานชิ้นนั้นก็ทำทำให้ทั้งสองท่านรู้ตัวว่าการทำอนิเมชั่นลงจอโทรทัศน์นั้นไม่สามารถสร้างให้ผู้ชมเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครที่สุข, เศร้าหรือยินดีอย่างสมจริงได้ รวมถึงมีข้อจำกัดทั้งเรื่องการจัดตารางเวลาออกอากาศและงบประมาณที่ทำให้เนื้อหาบางส่วนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างที่ต้องการได้ สุดท้ายแล้วทั้งสองจึงช่วยกันก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่นของตัวเองขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างผลงานคุณภาพสูง, เน้นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและความรู้สึกต่างๆที่ชัดเจนและสมจริงผ่านตัวละคร จึงทำให้เกิดอนิเมชั่นเรื่อง “มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (Nausicaa of the Valley of the Wind) ” ขึ้นมา
ภาพจากผลงานเรื่อง มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (Nausicaa of the Valley of the Wind)
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ Studio Ghibli ได้สรรค์สร้างอนิเมชั่นมากมายสู่สายตาชาวโลก ผ่านมุมมองและทัศคติจากผู้อำนวยการสร้างและกำกับทั้ง 2 ท่าน ที่ทั้งทุ่มเทกับทุกรายละเอียดของผลงานแต่ละเรื่องด้วยตนเอง ตั้งแต่การตั้งงบประมาณในการสร้างไปจนถึงกำหนดแผนดำเนินการต่าง ๆ เองอย่างรอบคอบเพื่อผลงานที่ออกมาอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการบริหารกิจการด้านต่าง ๆ ของ Studio Ghibli ควบคู่ไปด้วยก็ดูจะยากลำบากพอสมควร แต่กระนั้นเองพวกเขากลับแสดงศักยภาพให้เราได้เห็นถึงความตั้งใจและความสามารถผ่านอนิเมชั่นมากมายในชื่อ Studio Ghibli ที่ประสบความสำเร็จและครองใจแฟน ๆ ไปทั่วโลก
หากพูดตามตรงคือไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า Ghibli จะอยู่มาได้นานขนาดนี้ด้วยซ้ำ เหล่าแฟน ๆ ของ Ghibli ก็คงทราบดีเพราะคุณมิยาซากิเองก็เคยออกมาประกาศวางมือจากการทำอนิเมชั่นด้วย เดิมทีทั้งสองท่านเพียงแค่ต้องการจะทำหนังที่ตนเองชอบหากเรื่องไหนไม่ประสบความสำเร็จก็คงต้องยอมรับและปล่อยให้จบไปก็เท่านั้นเอง ซึ่งคุณทาคาฮาตะเองก็เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่ไม่มีความแน่นอนนี้อยู่แล้ว จึงเสนอรูปแบบการทำงานเป็นรายโปรเจคโดยจ้างจำนวนคนเพียง 70 คนต่อการสร้างภาพยนตร์ 1 เรื่องแทนที่จะจ้างพนักงานถาวร ซึ่งก็เป็นแนวทางการทำงานของ Studio Ghibli ในขณะนั้น
เมื่อ Ghibli เป็นที่จับตามองของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น
ภาพจากผลงานเรื่อง โทโทโร่เพื่อนรัก (My Neighbor Totoro)
หลังจากนั้นไม่นาน Ghibli ต้องเผชิญความท้าทายขึ้นอีกขั้นเมื่อ “โทโทโร่เพื่อนรัก (My Neighbor Totoro)” ที่เป็นผลงานสร้างของคุณมิยาซากิ และยังมี “สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Firefly)” ของคุณทาคาฮาตะ โดยทั้งสองเรื่องนี้ถูกสร้างในช่วงเวลาเดียวกันและเปิดตัวเป็นพร้อมกันเป็นแพ็คคู่ในเดือนเมษายน ค.ศ.1988 แน่นอนว่าครั้งนั้นถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่หายากมาก ๆ ในการเผยแพร่ผลงานของทั้งสองท่านออกมาพร้อมกัน การโฟกัสให้กับคุณภาพงานของทั้งสองเรื่องอย่างเต็มที่ไปพร้อม ๆ กันโดยมิให้ขาดตกบกพร่องนั้นก็เรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยปณิธานแรงกล้าที่ว่าหากไม่ทำตอนนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสอีกแล้วจึงลงแรงทุ่มกันอย่างสุดกำลัง และผลลัพธ์คือทั้งสองเรื่องถูกสร้างออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งก้าวแห่งความสำเร็จที่สร้างชื่อให้กับ Ghibli จนกลายเป็นที่จดจำอีกด้วย
เบื้องหลังความสำเร็จของ Ghibli
นอกจากผู้สร้างทั้งสองท่านแล้วยังมีอีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli ขึ้นมาอีกหนึ่งท่าน คือคุณโทคุมะ ยาซูโยชิ อดีตประธานของบริษัท Ghibli ที่เดิมทีเคยเป็นประธานของสำนักพิมพ์ Tokuma Shoten และยังเป็นผู้สร้างธุรกิจอื่นในเครือ Tokuma Group มาก่อนด้วย แม้จะไม่ค่อยได้เผยตัวสู่สาธารณะชนมากนักแต่เขาผู้นี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจสร้างภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องตั้งแต่ มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม และนอกจากนี้ในช่วงที่กำลังสร้างทั้งโทโทโร่เพื่อนรักและสุสานหิ่งห้อยนั้นแน่นอนว่ามีความลำบากในหลาย ๆ ส่วนเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากประธานโทคุมะที่เป็นกำลังสำคัญหลักในขณะนั้น เพราะเขาช่วยเดินสายหาคอนเนคชั่นเพื่อโปรโมตภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องด้วยตัวเอง จึงกล่าวได้ว่าหากไม่มีประธานโทคุมะก็อาจไม่มี Ghibli อย่างทุกวันนี้เลยก็ว่าได้
แม้ว่าโทโทโร่เพื่อนรักและสุสานหิ่งห้อยจะไม่ได้เปิดตัวเข้าฉายในฤดูร้อนซึ่งนับเป็นช่วงที่ดึงดูดคนดูมากที่สุดแห่งปี และก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จใน Box Office ดังที่หวังเอาไว้ แต่กลับได้รับคำชื่นชมจากหลาย ๆ ด้านในเรื่องของเนื้อหา ซึ่ง โทโทโร่เพื่อนรัก นั้นสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยเอาชนะภาพยนตร์ญี่ปุ่นทั้งหมดในปีนั้นมาได้ ส่วนเรื่อง สุสานหิ่งห้อย เองก็ได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะภาพยนตร์วรรณกรรมอีกด้วย
อีกสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อ โทโทโร่ (Totoro) ได้รับความนิยมแบบสุด ๆ ชนิดที่สามารถครองใจผู้ชมได้อย่างท่วมท้น จนทำให้หลังจากภาพยนตร์ถูกฉายออกไปเพียง 2 ปีก็มีบริษัทผู้ผลิตตุ๊กตายัดนุ่นแห่งหนึ่งติดต่อเข้ามา เพราะหลงรักในความน่ารักจนทนไม่ไหวจึงขอลิขสิทธิ์ไปผลิตตุ๊กตาออกจำหน่ายและยังบอกอีกด้วยว่า “ตัวละครนี้ควรจะต้องทำออกมาเป็นตุ๊กตา” แน่นอนว่าทาง Ghibli ที่เน้นแต่ผลลัพธ์ด้านกระแสตอบรับของภาพยนตร์ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการทำสินค้าจำหน่ายเอาไว้แต่แรก แต่สุดท้ายแล้วเจ้าโทโทโร่เพื่อนรักก็เป็นหนึ่งในสินค้าขายดีสุดฮิตที่ถูกผลิตออกจำหน่ายหลายรูปแบบ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ Studio Ghibli ในเวลาต่อมา แต่ถึงอย่างนั้น Ghibli ก็ยังคงนโยบายเดิมคือ “ภาพยนตร์ต้องมาก่อน ส่วนสินค้าเอาไว้ทีหลัง” ตามความตั้งใจแรกอย่างแน่วแน่
ก้าวที่สองของ Ghibli
ภาพจากผลงานเรื่อง แม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service)
Studio Ghibli ที่มีเป้าหมายในการทำรายได้จาก Box Office นั้นก็ประสบความสำเร็จได้ในที่สุดกับภาพยนตร์อนิเมชั่นในปีค.ศ.1989 เรื่อง “แม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service)” โดยมีคุณมิยาซากิกำกับ ผลคือมีผู้เข้าชมในโรงภาพยนตร์มากถึง 2.64 ล้านคนจนทำให้กลายเป็นภาพยนตร์ยอตฮิตอันดับ 1 ของปีนั้น แต่กลับเป็นจุดที่พาให้เกิดคำถามว่า Ghibli ในฐานะบริษัทหลังจากนี้จะดำเนินการต่อไปแบบใดกัน และประเด็นถกเถียงภายในที่รุนแรงเกี่ยวข้องกับเรื่องของอัตราค่าจ้างของพนักงาน รวมถึงระบบการจ้างงานก็เกิดขึ้น
ในโลกการทำอนิเมชั่นของญี่ปุ่นช่วงนั้นปกติแล้วจะคิดค่าจ้างต่อ “การวาดเส้น 1 แผ่น, ลงสี 1 แผ่น” กล่าวคือจ่ายตาม “จำนวนผลงาน” ซึ่ง Ghibli ในขณะนั้นก็ใช้ระบบนี้ในการจ่ายค่าจ้างแก่พนักงาน ซึ่งก็ทำให้ทราบได้ว่ารายได้ของพนักงานในช่วงที่ทำแม่มดน้อยกิกิซึ่งประสบความสำเร็จขณะนั้นกลับน้อยกว่าค่าจ้างของพนักงานทั่วไปครึ่งหนึ่ง จากประเด็นดังกล่าวทำให้คุณมิยาซากิเสนอแนวทางไว้ 2 ข้อ คือ
- เปลี่ยนการจ้างงานเป็นแบบพนักงานประจำ และกำหนดระบบฐานเงินเดือนขึ้น เพื่อขึ้นค่าจ้างเป็นสองเท่า
- รับพนักงานใหม่ตามระยะเวลาที่กำหนด และมีระบบการสอนงาน
ขณะนั้นสถานการณ์ของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นกำลังย่ำแย่ การที่ Ghibli จะรุดหน้าสร้างผลงานคุณภาพต่อจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการภายในกันใหม่ โดยปรับการจ้างงานแบบชั่วคราวเป็นพนักงานถาวร, มีระบบฝึกงานและเปิดรับพนักงานใหม่เป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งครั้งนั้นก็ถือได้ว่าเป็นช่วงแห่งการเติบโตไปสู่ก้าวที่สองของ Studio Ghibli นั่นเองค่ะ
ภาพจากผลงานเรื่องในความทรงจําที่ไม่มีวันจาง (Omohide Poro Poro)
ผลงานระดับตำนานเรื่องต่อมาคือ “ในความทรงจําที่ไม่มีวันจาง (Omohide Poro Poro)” ของคุณทาคาฮาตะ ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.1991 แม้ว่ารายได้ Box Office จะไม่น่ายินดีนักแต่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเลยทีเดียว และยังเป็นเรื่องที่สองต่อจากแม่มดน้อยกิกิที่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นมาได้อีกด้วย ในช่วงที่มีการสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้มีสิ่งที่น่ายินดียิ่งอีกหนึ่งเรื่องคือการที่เป้าหมายหลักทั้ง 2 ของคุณมิยาซากิสามารถบรรลุได้สำเร็จ ทั้งเรื่องการปรับค่าจ้างเป็นสองเท่าและการรับสมัครพนักงานใหม่ที่ราบรื่นอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะมองเห็นปัญหาอื่นที่ปรากฎชัดเจนตามมา นั่นคือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเขาเองก็คาดการณ์เรื่องนี้เอาไว้แล้ว เพราะที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนสร้างกว่า 80% คือค่าจ้างพนักงาน ทำให้ก้าวที่สองของ Ghibli เริ่มต้นด้วยอุปสรรคที่ชื่อว่า “ทุนสร้าง” ที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบกันอีกรอบ และสิ่งที่ Ghibli ตัดสินใจทำเป็นครั้งแรกตอนดำเนินการสร้างอนิเมชั่นเรื่องในความทรงจําที่ไม่มีวันจางก็คือ “การทำโฆษณา” นั่นเองค่ะ
ยินดีต้อนรับสู่โฉมใหม่ของ Studio Ghibli
ภาพจากผลงานเรื่องพอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน (Porco Rosso)
ต่อมาแม้ว่าสตูดิโอเริ่มตกอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก แต่คุณมิยาซากิกลับเสนอที่จะสร้างสตูดิโอใหม่ขึ้น ซึ่งเขามองว่าการจะพัฒนางานของ Ghibli ให้ดีขึ้นด้วยการจ้างบุคคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานนั้น สตูดิโอแบบชั่วคราวขนาด 300 ตร.ม. ที่เริ่มจะคับแคบเกินไปสำหรับพนักงาน 90 คนก็อาจไม่น่าเชื่อถือมากพอ แต่การตัดสินใจนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกันภายในอีกครั้งจนทำให้คุณฮาระผู้เป็นกรรมการผู้จัดการของ Ghibli ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและแยกตัวออกไปในที่สุด
ในปีนั้นเป็นปีที่คุณมิยาซากิได้สร้างศักยภาพความเป็นอัจฉริยะขั้นสุด ทั้งสร้างอนิเมชั่นเรื่อง “พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน (Porco Rosso)” ไปพร้อม ๆ กับการสร้างสตูดิโอใหม่ ซึ่งคุณมิยาซากิลงมือลงแรงเองทุกขั้นตอนตั้งแต่วาดพิมพ์เขียว, หารือกับบริษัทก่อสร้าง, วาดรูปแบบฉบับสมบูรณ์และยังเลือกวัสดุต่าง ๆ ด้วยตนเอง ท้ายที่สุดเมื่อสตูดิโอใหม่และพอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบานถูกสร้างสำเร็จออกมาได้แทบจะพร้อม ๆ กันโดยใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวพอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบานแล้วทุกคนก็ได้ย้ายเข้าสู่สตูดิโอแห่งใหม่ที่พร้อมสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานได้มากยิ่งขึ้น
การบริหารกิจการด้านต่าง ๆ ของ Studio Ghibli ควบคู่กับการสร้างภาพยนตร์คุณภาพสูงไปพร้อม ๆ กันนั้น แม้ว่าจะยากลำบากพอสมควร แต่พวกเขากลับแสดงศักยภาพให้เราได้เห็นถึงความตั้งใจและความสามารถผ่านอนิเมชั่นมากมายในชื่อ Studio Ghibli ที่ประสบความสำเร็จและครองใจแฟน ๆ ไปทั่วโลก และโฉมใหม่ของ Studio Ghibli ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนศักยภาพการสร้างงานคุณภาพได้ยิ่งขึ้นไปอีก ใน ตอนหน้า เราจะมาแนะนำความสำเร็จและอุปสรรคลูกใหม่ที่ท้าทายยิ่งกว่าเดิมอีกค่ะ
สรุปข้อมูลจาก : ghibli.jp