ความสูญเสียใหญ่หลวงของวงการ Popular Culture ทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการจากไปของอาจารย์โทริยะมะ อะกิระ (เรียงลำดับนามสกุลขึ้นก่อนแบบญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค. ศ. 2024 ด้วยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชนิดเฉียบพลัน ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับ Dragon Ball มากกว่าเดิม จากที่เดิมก็โด่งดังมากอยู่แล้ว
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับเรื่อง Dragon Ball ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขียนคอลัมน์มากมายเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ จึงอยากจะกล่าวถึง “เคล็ดลับ” ว่าทำไมเรื่องนี้จึงโด่งดังมา 4 ทศวรรษแบบนี้ (เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค. ศ. 1984 มาจนถึงปัจจุบันก็ครบ 40 ปีพอดีเป๊ะ)
ความยำใหญ่ Pop Culture ที่ฮิต ๆ ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันเอาไว้ในเรื่องเป็นจำนวนมาก
อย่าลืมว่าปี 1984 นั้นโลกเรายังไม่มีอินเทอร์เน็ต การเป็นนักวาดการ์ตูนรายสัปดาห์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังไม่มีการทำ Online Marketing ยังไม่มีการสำรวจประชามติจากผู้อ่านแบบ Real Time และนักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่ยังไม่ได้คิดถึงการบุกตลาดต่างประเทศกันเลย อาจารย์โทริยะมะซึ่งเริ่มจะโด่งดังขึ้นมาจากเรื่อง “Dr. Slump และหนูน้อยอาราเล่” ก็ต้องทำทุกอย่างให้ผู้อ่าน “เสพติด” อยากอ่านทุกสัปดาห์ไปเรื่อย ๆ
ยุทธวิธีที่อาจารย์โทริยะมะใช้จึงเริ่มด้วย การใช้พล็อตเรื่อง “ไซอิ๋ว” ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์ชุดที่โด่งดังในหลายประเทศทั่วเอเชียในยุคใกล้ ๆ กันนั้น ทั้งในญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นสร้างเวอร์ชั่นของญี่ปุ่นเอง) และในไทยก็มีหลายเวอร์ชั่นที่เคยโด่งดังมากเช่นกัน ทำให้ผู้อ่านและผู้ชมไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับพล็อตแนวนี้ เพราะเป็นพล็อตที่คุ้นเคยอยู่แล้วเพียงแต่มาแต่งเรื่องใหม่เป็น Parody ของไซอิ๋ว จากนั้นเมื่อหมดมุกไซอิ๋วก็โยงไปสู่พล็อตมนุษย์หมาป่าที่เห็นพระจันทร์เต็มดวงแล้วกลายร่าง และโยงไปสู่พล็อตจอมยุทธประลองฝีมือในเวทีหนึ่งในใต้หล้า ที่มีลักษณะคล้ายภาพยนตร์กำลังภายในฮ่องกงในยุคนั้น และมีฉากฝึกวิชาโหด ๆ เหมือนแนวภาพยนตร์เส้าหลินดัง ๆ หลายเรื่องในยุคนั้น
การหักมุมและปรับเนื้อเรื่องให้เป็นกระแสอยู่ตลอดเวลา
อาจารย์โทริยะมะไม่ได้คิดมุกรอบเดียวแล้วจบ แต่เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการแถ และแถ รายสัปดาห์ ทำทุกวิธีเพื่อให้ผู้อ่านและผู้ชมเสพติดเนื้อเรื่องจนลงแดง จึงต้องคอยสำรวจว่าในตลาด Pop Culture ของญี่ปุ่นนั้นมีอะไรฮิต ๆ กำลังเป็นกระแสอยู่บ้าง จึงเติมพล็อตจากภาพยนตร์เรื่อง James Bond ผสมกับเรื่อง The Goonies และผสมกับเรื่อง 20,000 Leagues Under the Sea และอีกหลายเรื่องมายำใหญ่ในช่วงศึกถล่มกองทัพโบว์แดง
แล้วหักมุมไปเป็นพล็อตประลองยุทธแนวกำลังภายในซ้ำอีกครั้ง (ซึ่งพล็อตประลองยุทธนี้จะอยู่ไปตลอดทั้งเรื่องเมื่ออาจารย์คิดอะไรไม่ออก ก็จะจัดประลองยุทธเพื่อดึงเรตติ้งกลับมา) แล้วกลับมาเจอพล็อตปีศาจอย่างจอมปีศาจพิกโกโล่ จากนั้นมาเข้าสู่ช่วงภาค Dragon Ball Z ก็มาใช้พล็อตเรื่อง Superman 2 (1980) ที่เป็นพล็อตเฉลยว่าพระเอกที่จริงเป็นมนุษย์ต่างดาวหนีมาโลกตอนที่ดาวตัวเองระเบิด และต้องไปสู้กับเผ่าพันธุ์เดียวกับตัวเองอีก 3 คน
เมื่อไปจนสุดทางแห่งมิติที่ 3 แล้วตอนจบศึกดาวนาเม็ก แต่โดนความโด่งดังของ Dragon Ball เอง รวมทั้งโดนสำนักพิมพ์กดดันให้ต้อง “แถ” เนื้อเรื่องต่อไปอีก จึงต้องก้าวสู่มิติที่ 4 คือมิติแห่งเรื่องย้อนเวลา จึงไปเอาแนวทางของเรื่อง Terminator 2 (1991) มาใช้ ทรังคซ์จึงมีการออกแบบคล้ายกับพระเอกใน Terminator 2 คือ Edward Furlong แม้แต่ทรงผมก็เหมือนกันเลยด้วยซ้ำ
เมื่อเข้าสู่ภาคบู น่าจะใกล้หมดมุกเต็มที จึงกลับมาเล่นพล็อตด้านเวทย์มนต์และไสยศาสตร์แทน และจบเรื่องลงไปในปี 1995 แต่อาจารย์โทริยะมะเฉลียวฉลาดมากที่หาทางกลับมาในภาค Dragon Ball Super (เริ่มในปี 2015 และอนิเมะสิ้นสุดลงในปี 2018 ในขณะที่มังงะยังไม่จบ) ได้ และแน่นอนพล็อตในภาคนี้จึงทะลุมิติที่ 4 ไปอีก คือการไปเล่นกับมิติที่ 5 คือมิติแห่งความเป็นได้ต่าง ๆ ในโลกคู่ขนาน นั่นเอง
ความเป็น Multi-culture ในเรื่อง Dragon Ball
กระแสเรื่องนี้โด่งดังในตะวันตกช้ากว่าในเอเชียไปถึง 2 ทศวรรษโดยประมาณ หลังช่วงปี 2000 เริ่มมีอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโอตะกุออนไลน์มากขึ้น รวมทั้ง Dragon Ball ได้ออกอากาศทางช่อง Cartoon Network ประกอบกับธุรกิจสิ่งพิมพ์มังงะญี่ปุ่นเริ่มหันหน้าไปบุกตลาดตะวันตกมากขึ้น
การที่เนื้อเรื่อง Dragon Ball มีความแฟนตาซีสูงอยู่แล้ว และไม่ยึดติดกับวัฒนธรรมหรือศาสนาใดเป็นพิเศษ อีกทั้งยำใหญ่ Pop Culture ฮิต ๆ จำนวนมาก และมีไม่น้อยที่มาจาก Hollywood ดังนั้นจึงทำให้มีเนื้อเรื่องที่เป็นสากล มีความเป็น Multi-culture มีหลาย ๆ อย่างของหลาย ๆ ชาติยำรวมกันหมด จนไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติไหนหรือวัฒนธรรมไหน คุณก็สามารถมีอะไรบางอย่างที่อินกับเนื้อเรื่อง และมีประสบการณ์ร่วมได้ เมื่อผู้บริโภคชาวตะวันตกรับสารและย่อยได้ง่าย จึงกลายเป็นว่าพอ Dragon Ball (และ Sailor Moon อีกเรื่อง) มีโอกาสได้เข้าตลาดตะวันตก ก็กลายเป็นหัวหอกของวงการมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นที่บุกตะลุยถล่มตลาดตะวันตกไปเลย จนกระทั่งปัจจุบันนี้
สภาวะที่แพ้แล้วแพ้อีก แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้
ชีวิตอาจารย์โทริยะมะเองล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน การศึกษาก็ไม่สูง การทำงานในระบบบริษัทก็ไม่ประสบความสำเร็จ ผลงานการ์ตูนก็โดนด่าโดนตำหนิครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงจูงใจให้อาจารย์พัฒนาเรื่องนี้ให้มีอุปสรรคมากมาย แต่ตัวละครก็ต้องสู้ตาย (และตายจริง ๆ) หมั่นฝึกฝนให้เก่งขึ้น พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนไปจนตลอดชีวิต เป็นการสร้างกำลังใจให้ผู้อ่านและผู้ชมจำนวนมหาศาลทั่วโลก (รวมทั้งนักกีฬาจำนวนมากที่ต้องการพลังบ้าเลือดในการฝึกซ้อมอันโหดหินของวิชาชีพตัวเองอีกด้วย ก็เป็นแฟนของ Dragon Ball กันเป็นจำนวนมาก)
สรุป
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงการตีความของผู้เขียนคอลัมน์ในฐานะเป็นผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่านและผู้ชมคนอื่น ๆ จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การที่การ์ตูนสักเรื่องจะประสบความสำเร็จระดับโลกในยุคที่ไร้อินเทอร์เน็ตใด ๆ และโด่งดังมาตลอด 40 ปีจนกลายเป็นอิทธิพลสำคัญให้วงการ Pop Culture ของโลกทั้งใบนั้น แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมต้องมีคุณค่านานัปการในตัวเอง รอการค้บพบและตีความหาความหมายใหม่ ๆ จากผู้อ่านและผู้ชมหน้าใหม่ ๆ อยู่ตลอดอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ ขอลงผลงานเขียนทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่อง Dragon Ball ที่ผู้เขียนทำมาตลอดชีวิตจนกระทั่งปัจจุบันที่เขียนคอลัมน์นี้ โดยมีทั้งงานวิชาการ และงานเขียนบทความออนไลน์ดังนี้
1) วิทยานิพนธ์
2) บทความวิชาการเปรียบเทียบ Doraemon VS Dragon Ball
“Examining Dragon Ball and Doraemon: A Winning and Losing Case of Intercultural
Media in the U.S.“
3) บทความออนไลน์ใน THE PEOPLE
- “ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน”“
- ““หยำฉา” แห่ง Dragon Ball โดนกระทืบ โดนแย่งแฟน ตัวละครขี้แพ้ที่คนรัก“
- “จีจี้และบุลม่า ตำนานศรีภรรยาแห่งดรากอนบอล-เมียเผด็จการ VS เมียประชาธิปไตย“
- “พิคโกโล่: จากเด็กกำพร้าสุดชั่ว สู่การเป็นตัวละครมนุษย์พ่อในดรากอนบอล“
- “เบจิต้า: ความรักของนักรบชาวไซย่า นักล่าผู้เหี้ยมโหดที่กลายเป็นพ่อบ้านแสนดี“
- “ผู้เฒ่าเต่า แห่ง Dragon Ball กะเทาะเปลือกความหื่นลามก คือเนื้อแท้อาจารย์ผู้ทุ่มเท“
- “คุริลิน: ความรักของผู้ชายโชคดี กับ จูฮะจิโกซัง (คุณหมายเลข 18) ของผม“
- “ฟรีเซอร์: ทั้งจักรวาลเขาคือตัวร้าย แต่สำหรับพนักงานในองค์กร เขาคือสุดยอดบอส“
- “มิสเตอร์ซาตานและบู: พ่อรวยสอนลูก จอมมารที่มีที่มาจากหนังดิสนีย์ ‘ซินเดอเรลล่า’“
- “ซง โกฮัง: ไม่เดินตามรอยพ่อ ผู้ภูมิใจในเป็นชาวโลกและไม่เคยมีร่างซูเปอร์ไซย่า 3“
- “เซลล์: สิ่งมีชีวิตผิดธรรมชาติในจักรวาล Dragon Ball ผู้ไร้เป้าหมายในชีวิต“
- “ทรังคซ์ – จอห์น คอนเนอร์ แห่ง Dragon Ball ผู้ทำให้เบจิต้ากลายเป็นมนุษย์พ่อ“
- “เท็นชินฮัง-เจาซือ: ความรักดุจพี่น้องของคนตรงใน ‘ดราก้อน บอล’ ที่โชคร้ายได้ครูไม่ดี“
- “มองแนวคิดเต๋า, ชินโต, และคริสต์ใน Dragon Ball ผ่านตัวละคร จอมปีศาจพิคโกโล่ และ พระเจ้า“
- “บุลม่า: แม่ 3 แบบผู้เป็นทุกอย่างให้บุรุษ 3 คนใน Dragon Ball“
- “9 เรื่องราวชีวิต – ความคิด ของ ‘โทริยะมะ อะกิระ’ ที่สะท้อนผ่าน ‘ Dragon Ball’“
- “คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball” (บทสัมภาษณ์)
4) บทความออนไลน์ใน marumura
- “ทางสองแพร่ง (Dilemma) ระหว่าง พันธุกรรม VS ความพยายาม ในมังงะและอนิเมของญี่ปุ่น“
- “การตั้งคำถามกับ “ครอบครัวร่วมสายเลือด” และ “ครอบครัวต่างสายเลือด” ในการ์ตูนญี่ปุ่น“
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas