“ภูเขาไฟฟูจิ” สัญลักษณ์ของญี่ปุ่น นอกจากจะมีความสวยงามยามที่ได้จับตามองทุกครั้งแล้ว ยังถือว่าเป็นภูเขาที่เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยอดีตว่าเป็นที่อยู่ของบรรดาเทพเจ้าต่าง ๆ ในสมัยอดีต การจะเดินทางเข้าไปยังภูเขาอันแสนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แม้จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 20 กรกฎาคม ซึ่งถือว่าเป็นช่วง “ฤดูเปิดภูเขา” เหล่าบรรดาผู้ศรัทธาเคารพในภูเขาไฟฟูจิจึงพากันเดินทางไปสักการะเยี่ยมเยือนภูเขาเทพเจ้าแห่งนี้กัน

ศรัทธาในภูเขาไฟฟูจิที่มีมาช้านานของคนญี่ปุ่น

5 entrance
บริเวณชั้น 5 ทางเดินปีนขึ้นภูเขาไฟฟูจิในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในในสมัยเอโดะ บริเวณนครเอโดะและเมืองใกล้เคียง จะมีกลุ่มผู้นับถือและเสื่อมใสในภูเขาไฟฟูจิ นามว่า “ฟูจิโคะ” (Fujikou = 富士講) โดยกลุ่มผู้เสื่อมใสในภูเขาไฟฟูจินี้นั้น ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ คือ ปีนภูเขาไฟฟูจิเพื่อขึ้นไปสักการะแสงอาทิตย์ยามเช้าบนยอดภูเขาไฟฟูจิ

sunrise
ในปัจจุบันผู้คนก็ยังนิยมที่จะปีนพิชิตภูเขาไฟฟูจิเพื่อขึ้นไปดูแสงยามเช้าของพระอาทิตย์ขึ้นด้านบน

ส่วนผู้สูงอายุ หญิงสาวและเด็ก ที่ไม่สามารถร่วมเดินทางปีนพิชิตภูเขาไฟฟูจิได้ ก็จะทำการสร้างภูเขาไฟฟูจิจำลองหรือที่เรียกกันว่า “ฟูจิซึกะ” (Fujizuka = 富士塚) ขึ้นภายในศาลเจ้าบริเวณนครเอโดะหรือเมืองใกล้เคียง เพื่อเอาไว้สักการะบูชาแทนภูเขาไฟฟูจิอันจริงแทนค่ะ

shinagawa shrine
ภูเขาไฟฟูจิบริเวณชั้น 7 จำลองภายในศาลเจ้าชินากาว่า

ใครคือชาวต่างชาติคนแรกที่พิชิตภูเขาไฟฟูจิ?

การที่ภูเขาไฟฟูจิได้ถูกจัดให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้เชื่อถือเคารพและศรัทธา ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวต่างชาติย่อมไม่ได้รับอนุญาตให้ปีนหรือพิชิตภูเขาไฟฟูจิได้ค่ะ

แต่ทว่าเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1860 กงสุลใหญ่แห่งสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษคนแรก (ต่อมาได้ถูกปรับตำแหน่งขึ้นให้เป็น “อัครราชทูต ท่านเซอร์ Rutherford Alcock ถือว่าเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ถูกบันทึกไว้ว่าปีนพิชิตขึ้นสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิได้เป็นคนแรก!

cloack pic blue
ท่านเซอร์ Rutherford Alcock (ค.ศ. 1809 – ค.ศ. 1897)

โดยท่านเซอร์ Alcock เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่กรุงลอนดอน เป็นบุตรของแพทย์ชาวอังกฤษนาย Thomas Alcock ซึ่งก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักการทูตที่ได้เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นในช่วงสมัยเอโดะตอนปลาย ได้เคยทำงานเป็นแพทย์สนามและถูกส่งไปประจำการที่โปรตุเกสและสเปนมาก่อน และยังเคยได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ผ่าชันสูตรศพในกระทรวงมหาดไทย (Home Office) ของอังกฤษอีกด้วย แต่ทว่าเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ โดยนิ้วโป้งของทั้งสองมือเกิดเป็นอัมพาตขึ้นจากการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จึงต้องเปลี่ยนอาชีพมาทำงานเป็นนักการทูตแทน โดยในปี ค.ศ. 1844 ได้ถูกส่งมาประจำการเป็นกงสุลที่เมืองฝูโจว เมืองเซี่ยเหมิน และนครเซี่ยงไฮ้ ตามลำดับ และหลังจากที่ประจำการที่จีนเป็นเวลาถึง 15 ปี ในปี ค.ศ. 1859 ก็ได้ถูกส่งให้มาประจำการเป็นนักการทูตที่ญี่ปุ่น โดยท่านเซอร์ Alcock ถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำให้นโยบายทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและอังกฤษขยายใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมาค่ะ

UK embassy
บริเวณหน้าสถานทูตอังกฤษในกรุงโตเกียว

ต่อมาในปี ค.ศ. 1864 ได้เกิดเหตุการณ์ “โจมตีเรือต่างชาติที่ช่องแคบชิโมโนะเซกิ” ขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์โจมตีสู้รบระหว่างชาติฝรั่งคือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฮอลันดา และอังกฤษกับแคว้นโชชูฮัน (Choshuhan = 長州藩) ของญี่ปุ่น โดยท่านเซอร์ Alcock ก็ได้ถูกให้ทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว แต่ทว่าตัวเขาดันกลับไปมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษในหลาย ๆ เรื่อง จึงถูกลงโทษโดนปลดออกจากตำแหน่ง จึงทำให้ต้องเดินทางกลับอังกฤษไปในเวลาต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ท่านเซอร์ Alcock ได้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า “ไทคุง โนะ มิยาโกะ” (Taikun no Miyako = 大君の都) ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับสมัยเอโดะตอนปลาย โดยมิได้เป็นเพียงแค่บันทึกที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น แต่ยังเป็นบันทึกที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น สังคมและวัฒนธรรมได้ออกมาเป็นอย่างดีอีกด้วย

book
หนังสือ ไทคุง โนะ มิยาโกะ ฉบับแปลภาษาญี่ปุ่น

ท่านเซอร์ Alcock แม้ว่าจะถูกรัฐบาลบากูฟุของญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับการที่จะปีนขึ้นสำรวจภูเขาไฟฟูจิ แต่ก็ได้เจรจาต่อรองจนทางรัฐบาลบากูฟุยอมส่งผู้แทนเข้าร่วมเดินทางในภารกิจปีนพิชิตภูเขาไฟฟูจิในครั้งนี้ด้วย โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้รวมแล้วถึง 100 คน ยิ่งไปกว่านั้นรายละเอียดและแผนการเดินทางพิชิตภูเขาไฟฟูจิในครั้งนี้ก็ได้ถูกบันทึกลงในหนังสือไทคุง โนะ มิยาโกะ อีกด้วย แต่แม้ว่าท่านเซอร์ Alcock จะเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้ชื่อว่าพิชิตปีนภูเขาไฟฟูจิได้ แต่กว่าที่ทางญี่ปุ่นจะยอมรับว่าท่านเซอร์ Alcock ได้พิชิตภูเขาไฟฟูจิอย่างเป็นทางการก็ผ่านมาถึง 12 ปี หรือเท่ากับในปี ค.ศ. 1872 เลยทีเดียว

people
สภาพทางเดินปีนขึ้นภูเขาไฟฟูจิในปัจจุบัน

เป็นอย่างไรบ้างคะ? กับประวัติและเรื่องราวของชาวต่างชาติคนแรกที่พิชิตและปีนภูเขาไฟฟูจิที่เรานำมาเสนอกันในครั้งนี้ ไม่คิดเลยนะคะว่าในสมัยก่อนการที่จะปีนภูเขาไฟฟูจินั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ไม่เหมือนในสมัยปัจจุบันที่การเดินทางสะดวกสบาย มีทั้งรถประจำทาง รถบัส แม้กระทั่งรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถพาเราขึ้นไปสู่ภูเขาไฟฟูจิบริเวณชั้น 5 ได้แล้ว ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและกำลังกายไปได้เยอะ ไม่จำเป็นต้องเริ่มปีนตั้งแต่ชั้นที่ 1 ซึ่งคนในสมัยอดีตต้องเริ่มปีนกันจากตรงจุดนี้ (แม้ว่าในปัจจุบันจะมียานพาหนะในรูปแบบต่างๆ พาเราไปได้ถึงชั้นที่ 5 แล้วก็ตาม แต่ถ้าจะปีนพิชิตให้ถึงยอดภูเขาไฟฟูจิ ก็ยังคงต้องเดินเท้าจากสถานีฟูจิชั้น 5 ขึ้นไปอยู่นะคะ)

ถ้าใครมีโอกาสก็แนะนำให้ลองเพิ่มวันเดินทางลงไปในทริปเพื่อเดินทางไปปีนพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิกันดูนะคะ เพราะเชื่อได้เลยว่าจะต้องเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ง่าย ๆ แน่นอนค่ะ แต่ถ้าจะไปปีนพิชิตภูเขาไฟฟูจิจริงๆ แล้วละก็ควรที่จะทำการฟิตร่างกาย ใส่เเละเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการไปปีนเขาด้วยนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก : mag.japaaan
เรียบเรียงโดย : XROSSX

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า