25 ตุลาคม 2023 เป็นวันประกวดรอบชิงชนะเลิศของงาน “Hackathon: Innovative Application For Smart Life” กิจกรรม Hackathon ณ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute of Technology) ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากญี่ปุ่น ร่วมด้วยบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรกดเงินสด A-Money ในประเทศไทย
กิจกรรม “Hackathon: Innovative Application For Smart Life” ครั้งนี้มีโจทย์คือ “Smart Life Smart Money ลดค่าใช้จ่าย เพื่อชีวิตที่เรียบง่ายแบบ Smart” อันเป็นโจทย์ที่มีที่มาจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น และ บริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ประกอบกับเป้าหมาย SDGs เพื่อความยั่งยืน และประเด็นเรื่องอัตราการใช้หนี้ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลในไทย จนตกผลึกเป็นโจทย์การแข่งขันดังกล่าวเพื่อสร้างแอปพลิเคชั่นที่จะช่วยลดต้นทุนในชีวิตเช่นต้นทุนด้านรายจ่าย หรือต้นทุนด้านเวลา ซึ่งสามารถเชื่อมไปยังการแก้ปัญหาอัตราการใช้หนี้ต่อไปได้
จุดประสงค์หลักของกิจกรรมในครั้งนี้ คือเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทได้มาร่วมกันท้าทายโจทย์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงในสังคมโดยใช้ชุดความรู้ที่มีและความคิดสร้างสรรค์ของตน อีกทั้งเนื่องจากเป็นการแข่งขันเป็นทีม 3-5 คนที่ไม่จำกัดชั้นปีและไม่จำกัดคณะ/สาขาวิชา กิจกรรมนี้จึงเป็นโอกาสชั้นดีในการร่วมงานกับเพื่อนๆ ต่างคณะไปในตัว
งาน Kick-off “Hackathon: Innovative Application For Smart Life”
“Hackathon: Innovative Application For Smart Life” เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2023 โดยมีดร. รัตติกร วรากูลศิริพันธุ์ให้เกียรติขึ้นกล่าวเปิดงาน Kick-off และนำเสนอที่มาของโครงการ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า “…ชื่องาน Smart Life Smart Money นี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ตรงกับบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น…สำหรับงานนี้เป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาทุกคณะทุกสาขาวิชาจะได้มีโอกาสแสดงความคิดที่สร้างสรรค์ และมีโอกาสได้เข้าฝึกงานกับบริษัทฯ ด้วย”
ในลำดับต่อไป คุณไกรสิงห์ พณสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตัวแทนบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวแนะนำบริษัทฯ ตั้งแต่เรื่องขอบเขตการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลในบริษัทที่เป็น Corporate ตำแหน่งงานที่กำลังเป็นที่ต้องการในบริษัทฯ ที่มาและการบริการของบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล เค้าโครงธุรกิจในเครือ AIFUL Group ไปจนถึงสินค้าและบริการภายใต้แบรนด์ A-Money ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเงิน อันเป็นที่มาของธีมการแข่งขันในกิจกรรม Hackathon ครั้งนี้ นั่นคือการประกวดแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชั่นนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีหัวข้อคือ “Smart Life Smart Money ลดค่าใช้จ่าย เพื่อชีวิตที่เรียบง่ายแบบ Smart” นั่นเอง
จากนั้นเป็นการอธิบายรายละเอียดการแข่งขันโดยอาจารย์ฐนสิน ญาติสูงเนิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ Hackathon ขึ้นบรรยายรายละเอียดการแข่งขัน ทั้งในด้านของคอนเซ็ปต์การแข่งขัน คุณสมบัติผู้เข้าแข่งขัน ข้อกำหนดในการส่งผลงาน กำหนดการแข่งขัน กิจกรรมอบรมเพื่อเสริมความรู้ประกอบการแข่งขัน เกณฑ์การพิจารณาผลงาน และอื่นๆ เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้ทำความเข้าใจโครงการ Hackathon เพิ่มเติมก่อนสมัครเข้าร่วมต่อไป
กิจกรรมอบรมเสริมทักษะให้นักศึกษาผู้เข้าแข่งขัน
งาน “Hackathon: Innovative Application For Smart Life” ครั้งนี้มีทีมนักศึกษาเข้าร่วมสมัครทั้งหมด 32 ทีม ภายหลังการอธิบายโจทย์ในวันที่ 30 สิงหาคม ทีมนักศึกษาที่เข้าร่วมได้ระดมสมองและนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการเพื่อแข่งขันในรอบคัดเลือก และ ณ วันที่ 12 กันยายนก็ได้ผล 10 ทีมที่จะผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศต่อไป
ระหว่างเตรียมเข้าแข่งขันผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ทีมผู้ผ่านเข้ารอบและทีมอื่นๆ ที่สนใจได้เข้าคอร์สอบรมและเวิร์คช้อปเพื่อเสริมความรู้และทักษะ โดยเป็นกิจกรรมที่จัดโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
1.เวิร์คชอป UX/UI Design Training (วันที่ 21 กันยายน)
2.คอร์สอบรม Basic of Web Application and Mobile Application Training (วันที่ 26-27 กันยายน)
3.คอร์สอบรม Analysing Customer Insights and Monetization Strategies (วันที่ 2 ตุลาคม)
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของ “Hackathon: Innovative Application For Smart Life”
และแล้วก็มาถึงการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 25 ตุลาคม ภายในงานได้รับเกียรติจากรศ. รังสรรค์ เลิศในสัตย์ กรรมการสภาสถาบัน โดยตำแหน่งอธิการบดีขึ้นกล่าวเปิดงาน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “รู้สึกปลื้มปิติและดีใจที่เราได้มีโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมาภายในสถาบันของเราโดยการสนับสนุนจากไอร่า แอนด์ ไอฟุล … เป็นโอกาสที่จะให้นักศึกษาของเราได้มีโอกาสฝึกและเรียนรู้ และได้ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์มากยิ่งๆ ขึ้นต่อไป ตามที่เราได้มีดำริของทางสถาบันของเราเองว่าเราจะเป็นการสอนแบบโมโนะสุคุริ (物作り) ทำเป็นคิดเป็น คิดจริงทำจริง และเป็นการเรียนการสอนแบบ Problem-based, Project-based, Practical-based ฯลฯ ที่เป็น Personalized Learning …”
จากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานของ 10 ทีมผู้เข้าชิงชนะเลิศ โดยไอเดียแอปพลิเคชั่นที่ถูกนำมาประชันกันนั้นมีหลายแขนงด้วยกัน ทั้งแอปพลิเคชั่นที่ช่วยจัดการชีวิตประจำวันให้ง่ายขึ้นเช่นแอปพลิเคชั่นช่วยคิดการแต่งกายในวาระโอกาสต่างๆ หรือจัดการเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้ว แอปพลิเคชั่นเพื่อจัดการอาหารที่มีอยู่ในบ้าน หรือเพื่อการเรียนรู้ภาษา การควบคุมรายจ่าย ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นที่มุ่งประเด็นเชิงโครงสร้างอย่างแอปพลิเคชั่นเชี่อมผู้ใช้กับร้านรับซื้อขยะของเก่า และแอปพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกในการรับการวินิจฉัย/นัดพบแพทย์เป็นต้น
ในการตัดสินนั้น ได้รับเกียรติจากทีมงานไอร่า แอนด์ ไอฟุล 2 ท่าน ได้แก่ คุณวุฒิชัย สถิรแพทย์ รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และคุณสมพร บุญเกิดรองประธานฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์การตลาด ร่วมด้วยคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 4 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ ดร.ภาสกร อภิรักษ์วรพินิต (วิทยาลัยนานาชาติ) อาจารย์ ฐนสิน ญาติสูงเนิน (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ) อาจารย์ สรวิศ ฟองอินทร์ (คณะวิศวกรรมศาตร์) และอาจารย์ ยุรนันท์ มูซอ (คณะบริหารธุรกิจ) รวมเป็นกรรมการทั้งหมด 6 ท่านที่ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานและประเมินให้ความเห็นต่อผลงานของแต่ละทีม
หลังจากการนำเสนอของทั้ง 10 ทีมผ่านไป ก็ถึงเวลาประกาศผล สำหรับผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมผู้ชนะเลิศ (เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท) ได้แก่ทีม Smart Closet ผู้นำเสนอแอปพลิเคชั่น Dressify ซึ่งช่วยผู้ใช้ประหยัดเวลาในการตัดสินใจเรื่องการแต่งกายโดยอิงจากวาระโอกาส Personal Color และรูปร่างของผู้ใช้
สมาชิกทีม Smart Closet กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่เป็นเรา ไม่คิดว่าเราจะได้ เพราะตั้งใจว่าจะให้ได้แค่ Top 3 แต่ไม่นึกเลยว่าจะได้ที่ 1 แต่เราพยายามเต็มที่ในทุกๆ ด้าน”
“มันถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเรา เพราะเรายังถือว่าขาดความรู้ในด้านการสร้างแอปฯ และอื่นๆ แต่พอผ่านมาถึงจุดๆ หนึ่งพวกเราก็ตัดสินใจว่ามาทำให้เต็มที่กัน”
“สิ่งที่ฝากถึงคนที่จะมาแข่งในครั้งหน้าคือไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ ลองทำไปก่อน ทำดีเท่าที่เราทำได้ แต่ว่าเราต้องมีความสู้กับมัน แล้วผลลัพธ์ก็กลับมาหาเราไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม”
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ทีมกลับตัวไม่ได้ (เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท) กับผลงานแอปพลิเคชั่น ETH Store แอปพลิเคชั่นจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง โดยมีฟังก์ชั่นเทียบราคาซื้อขาย เช็คสภาพสินค้า และติดต่อกับผู้ที่ต้องการแลกอุปกรณ์โดยตรงได้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการได้ในราคาที่ถูกกว่าตลาดและมีสภาพเป็นที่พึงพอใจ
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ทีมบ้านหวาน (เงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท) และผลงานแอปพลิเคชั่น Green Bin ซึ่งมีคอนเซ็ปต์เป็นแอปฯ ตัวกลางที่เชื่อมผู้ใช้กับร้านรับซื้อของเก่า เพื่อให้การซื้อขายของเก่าสะดวกและเข้าถึงง่ายมากขึ้น และมีการกระจายรายได้ให้กับไรเดอร์ผู้ช่วยขนส่งของเก่า พร้มเชื่อมผู้ใช้กับแวดวงสังคมที่ใส่ใจด้านขยะและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับ 7 ทีมที่เหลือนั้นต่างได้รับรางวัลชมเชยมูลค่า 5,000 บาทสำหรับผลงานไอเดียของตนที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ
ปิดท้ายช่วงประกาศผลรางวัลโดยคุณฟุคาดะ ยูจิ ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO บริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวปิดงาน “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาที่นี่ในฐานะ CEO และเจ้าภาพงาน Hackathon ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นงานที่ให้ผู้มีไอเดียสร้างสรรค์ได้มาระดมสมอง สำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ และอื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาชีวิตประจำวันของเราให้ดียิ่งขึ้น ผมขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่าน ทางมหาวิทยาลัย เมนเทอร์ กรรมการ นักเรียน และผู้จัดงานที่ได้อุทิศเวลาและความตั้งใจเพื่อให้งานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง…และในวันนี้เราได้มาร่วมเฉลิมฉลองให้กับทีมต่างๆ ที่ได้นำเสนอนวัตกรรมที่น่าชื่นชม”
เกี่ยวกับบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น
บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของญี่ปุ่น โดยมีสำนักงานใหญ่ในจังหวัดเกียวโต และมี 23 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันดำเนินกิจการโดยมุ่งเติบโตในฐานะ “IT-based financial group” ที่นำความรู้ด้าน IT มาประยุกต์ใช้พัฒนาบริการสินเชื่อและการเงินต่างๆ ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพและสนับสนุนลูกค้าผู้ใช้บริการได้ต่อไป
บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น
ที่อยู่ (สำนักงานใหญ่) | 381-1 Takasago-cho, Gojo-Agaru, Karasuma-Dori, Shimogyo-ku, Kyoto 600-8420, Japan. |
เว็บไซต์ | ir-aiful.com |
เกี่ยวกับบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
บริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) เกิดจากการร่วมทุระหว่างบริษัทไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น และเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคล เช่นบัตรกดเงินสด A-Money
บริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
ที่อยู่ | เลขที่ 90 อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ชั้น 33,34 ห้องเลขที่ บี 3301-2, บี 3401-2 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 |
เว็บไซต์ | aira-aiful.co.th |