Kanji History - Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก 4 ส.ค. 2022) ใครที่เรียนภาษาญี่ปุ่นกันคงทราบดีว่าภาษาญี่ปุ่นมีอักษร 3 แบบคือ ฮิระงะนะ (ひらがな) คะตะกะนะ (カタカナ) และ คันจิ (漢字) ซึ่งแม้จะยากเพียงใดก็คงไม่ใช่ปัญหามากนักสำหรับในระดับต้น ๆ  แต่พอเรียนไปจนขึ้นถึงระดับสูงและเริ่มเจออักษรคันจิหลากหลายมากขึ้น หรือ ใครที่รู้ภาษาจีนกลางก่อนมาเรียนภาษาญี่ปุ่น หรือ ใครที่เรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนแล้วค่อยไปเรียนภาษาจีนกลาง อาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ ภาษาจีนมันก็มีเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (繁体字) กับ จีนตัวย่อ (简体字) แต่ทำไมในภาษาญี่ปุ่นถึงได้ใช้บางตัวเป็นตัวเต็ม และบางตัวเป็นตัวย่อกันนะ เหมือนกับมั่ว ๆ ยังไงก็ไม่รู้ วันนี้เลยจะมาคุยเรื่องอักษรตัวเต็มกับตัวย่อกัน

อารยธรรมที่ใช้อักษรจีนมีที่ใดบ้าง?

Kanji History - อิทธิพลอักษรจีน

ก่อนอื่นมาดูกันว่ามีบริเวณใดบ้าง (ผู้เขียนขอหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “ประเทศ” เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น) ที่ใช้อักษรจีนในภาษาของตัวเอง ก็มีจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม โดยจะแบ่งแนวทางการใช้อักษรจีนของประเทศเหล่านี้ได้ 5 แนวทางคือ

  1. พื้นที่ที่ยังคงใช้อักษรจีนตัวเต็มแบบค่อนข้างดั้งเดิมเป็นกระแสหลัก: ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า
  2. พื้นที่ที่ใช้อักษรจีนตัวย่อกันมาก แต่ก็มีการใช้อักษรจีนตัวเต็มผสมอยู่ด้วย: ได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลเซีย
  3. พื้นที่ที่ใช้แต่อักษรจีนตัวย่อเป็นกระแสหลัก: คือจีนแผ่นดินใหญ่
  4. พื้นที่ที่ใช้อักษรจีนแบบผสมกับระบบอักษรของตัวเอง: ได้แก่ ญี่ปุ่น และ เกาหลี
  5. พื้นที่เคยใช้อักษรจีน แต่ในปัจจุบันยกเลิกการใช้อักษรจีนไปแล้วโดยสิ้นเชิง: คือ เวียดนาม

สาเหตุที่อักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นใช้ผสมกันระหว่างตัวเต็มและตัวย่อ

Kanji History - Origin of Kanji

ก่อนอื่นเราจะสรุปง่าย ๆ ได้ว่าอักษรจีนนั้นแบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ คือ ตัวเต็ม และ ตัวย่อ เราจะตัดตัวเลือกของสิงคโปร์และมาเลเซียทิ้งไปเพราะว่าได้รับอิทธิพลผสมระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และจีนอื่น ๆ นอกแผ่นดินใหญ่ ส่วนทางเกาหลีเราก็จะไม่พูดถึงเพราะว่าภาษาเกาหลีปัจจุบันนั้นประสบความสำเร็จในการไม่ต้องใช้อักษรจีนก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันแต่อย่างใด จึงมีการใช้อักษรจีนน้อยมากในภาษาเกาหลีปัจจุบัน ส่วนภาษาเวียดนามปัจจุบันยกเลิกการใช้อักษรจีนไปแล้วโดยสิ้นเชิง ก็เลยจะไม่พูดถึง เพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาหลักในวันนี้คืออักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง

ต้องคิดถึงจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีความวุ่นวายมากมาย ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง และมีการต่อสู้กันเองระหว่างกลุ่มอำนาจหลายกลุ่ม เกิดสงครามกลางเมือง ฯลฯ โน่นนี่นั่นมากมาย (ประวัติศาสตร์จีนช่วงนั้นซับซ้อนมาก ไปหาอ่านกันได้) ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่นนั้นประสบความสำเร็จในการวางมาตรฐานอักษรจีนได้ก่อน คือในปี ค. ศ. 1946 ได้มีการริเริ่มที่จะรวบรวมอักษร “โทโยคันจิ (当用漢字)” เอาไว้ทั้งหมด 1,850 ตัว และในปี ค. ศ. 1949 ก็มีการเผยแพร่ “ตารางรูปแบบอักษรโทโยคันจิ (当用漢字字体表)” สู่สาธารณชน ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่เองนั้นกว่าที่พรรคคอมมิวนิสต์จะชนะสงครามกลางเมืองและสามารถสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน (中華人民共和国)” ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม ค. ศ. 1949 และกว่าที่รัฐบาลจีนจะประกาศนโยบายอักษรจีนตัวย่อก็ปาเข้าไปปี ค. ศ. 1956 แล้ว ทำให้กลายเป็นว่า ญี่ปุ่นวางระบบอักษรจีนตัวย่อไปก่อนรัฐบาลจีนที่แผ่นดินใหญ่ถึงเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว ทำให้การจัดระบบอักษรจีนเลยแยกออกเป็น 2 สายใหญ่คือ แบบโทโยคันจิแล้วก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลายเป็น “โจโยคันจิ (常用漢字)” ในปัจจุบันของญี่ปุ่น และแบบจีนตัวย่อของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นอีกสายหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป

Kanji History - Conclusion

ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันมีการใช้อักษรตัวเต็มผสมกับตัวย่อ แต่ตัวย่อของญี่ปุ่นจะเรียกว่า 略字 แล้วก็การใช้อักษรตัวย่อของญี่ปุ่นนั้นจะยังคงพยายามเคารพรากเส้น (部首) แบบเดิมไว้ให้มากที่สุด คือถ้าย่อแล้วเสียความหมายของรากเส้น ญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มจะตัดสินใจใช้ตัวเต็ม เช่นอักษร ญี่ปุ่นก็จะไม่ย่อ เพราะถ้าย่อเป็น จะทำให้เสียความหมายของรากเส้น ไป จะยกเว้นให้ในกรณีเป็นชื่อคน ชื่อสถานที่ หรือชื่อเฉพาะเท่านั้น ที่จะยอมให้ใช้อักษรตัวเต็ม หรืออักษรเวอร์วัง ในขณะที่ภาษาจีนกลางนั้นย่อแหลกจนกระทั่งทำให้ความหมายเดิมของรากเส้นเปลี่ยนไปก็ไม่เป็นไร เพราะเจตนารมณ์ของรัฐบาลจีนคือเน้นย่อให้อักษรง่ายที่สุดและเผยแพร่ได้เร็วไปสู่คนทุกชนชั้นได้มาก ๆ ในขณะที่ฝั่งญี่ปุ่นจะย่ออักษรแบบให้กระทบความหมายเดิมของรากเส้นให้น้อยที่สุด ก็เลยออกมาเป็นอักษรคันจิแบบญี่ปุ่นคือตัวย่อผสมตัวเต็ม และอักษรจีนแบบแผ่นดินใหญ่ที่ใช้ตัวย่อเป็นกระแสหลัก แบบในปัจจุบันนั่นเอง

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า