ภาษาญี่ปุ่นหลายคำมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจไม่น้อย บางคำใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณ บางคำผสมผสานกับภาษาต่างประเทศ บางคำมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง ในบทความนี้เราจะนำเสนอคำที่เกี่ยวกับ “ขโมย” ไม่ว่าจะเป็นคำว่า dorobou (泥棒), manbiki (万引き) และ neko baba (猫ババ) วันนี้จะพามาดูกันค่ะว่า 3 คำเหล่านี้มีทฤษฎีที่มาที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

1. ทำไมการขโมยหรือโจรที่ขโมยของจึงเรียกว่า dorobou (泥棒) ?

การขโมยของคนอื่นหรือโจรที่ขโมยของ โดยทั่วไปจะเรียกว่า dorobou (泥棒) นอกจากนี้ก็มีคำอื่น ๆ เช่น settouhan (窃盗犯) และ nusutto (盗人) แต่ในการสนทนาในชีวิตประจำวันจะใช้คำว่า dorobou (泥棒) มากกว่า ซึ่งหากดูความหมายของคันจิทั้ง 2 ตัวก็จะแปลว่า “โคลน” กับ “ท่อนไม้” แล้วโคลนกับท่อนไม้เกี่ยวข้องกับโจรขโมยของได้อย่างไรกันนะ ?

ที่มาที่แท้จริงของคำว่า dorobou (泥棒) นั้นไม่ได้ชัดเจนมากนัก แต่ก็มีหลายทฤษฎีที่ใช้อธิบายได้ ตัวอย่างเช่น มาจากคำว่า oshitoribou (押し取り坊) แปลว่า คนที่แย่งเอาไปอย่างไม่มีเหตุผล ต่อมาจึงย่อเหลือเพียงแค่ toribou (トリボウ) และสุดท้ายก็กลายเป็น dorobou (ドロボウ)

สำหรับอีกทฤษฎีหนึ่งที่สามารถใช้อธิบายได้ว่า ทำไมถึงต้องใช้คันจิที่แปลว่าโคลนกับท่อนไม้? ได้กล่าวไว้ว่า เพราะในตอนที่แอบเข้าไปขโมยของ โจรมักจะทาโคลนบนใบหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเห็นใบหน้า และถือท่อนไม้ไว้เผื่อมีใครเจอเข้า จึงเลือกใช้คันจิสองตัวนี้นั่นเองค่ะ

2. คำว่า manbiki (万引き) มีการใช้มาตั้งแต่สมัยเอโดะจริงหรือ ?

การแอบขโมยหรือนำสินค้าออกจากร้านค้า เรียกว่า manbiki (万引き) เชื่อกันว่าคำนี้มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ เช่นในบทกวี Zappai (雑俳) จากปลายสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นบทกวีรูปแบบหนึ่งที่มีรากฐานมาจากไฮไก มีประโยคที่ว่า

「こりごりしろと万引をぶつ」

อีกทั้งในละครคาบุกิเรื่อง Shiranami Gonin Otoko (白浪五人男) ผลงานของนักเขียนบทละครคาบูกิชื่อดัง Kawatake Mokuami ก็มีบทพูดที่ว่า

「いや、文金高島田のお嬢さんが万引きしようとは気がつかねえ」

ทว่าทั้งนี้ทฤษฎีที่มาของคำว่า manbiki (万引き) ที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือมาจากคำว่า mabiki (間引き) ซึ่งหมายถึงการกำจัดวัชพืชที่ไม่จำเป็น หรือการฆ่าลูกทิ้งเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเติม n เข้าไป ก็จะอ่านว่า man เหมือนกับคันจิตัว 万 ที่แปลว่าหมื่น จึงใช้ตัวนี้แทนเพื่อเป็นการเล่นคำให้ดูโอเวอร์เกินจริง

3. ต้นกำเนิดของคำว่า neko baba (猫ババ) ที่เราคาดไม่ถึง!

คำว่า neko baba (猫ババ) หมายถึง การปกปิดเรื่องไม่ดีหรือการเอาของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ความหมายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของแมวที่จะเอาทรายมากลบหลังจากขับถ่ายเสร็จ เป็นการปกปิดสิ่งที่ตัวเองทำไว้ นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ว่ามีคุณยายรักแมวท่านหนึ่งไม่ยอมคืนเงินที่เธอยืมมา แต่ทำเนียนไม่รู้ไม่ชี้และบอกว่าเป็นเงินของตนเอง

ที่มาของภาษาญี่ปุ่นหลาย ๆ คำมักสื่อถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในอดีต หวังว่าจะช่วยให้เพื่อน ๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า