Zom 100 Feature

เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ทาง Netflix ได้มีภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Zom 100: Bucket List of the Dead (เรียกสั้นๆ ว่า Zom 100) ออกอากาศ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ต้นฉบับเป็นมังงะและอนิเมะชื่อดังมาก่อน แต่งเรื่องโดย อะโซะอุ ฮะโระ และวาดภาพโดยทะกะตะ โคทะโร่ ตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายเดือน Gekkan Sunday Genex ตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่จบ ส่วนภาพยนตร์ก็ยังไม่จบและดูเหมือนจะวัดกระแสตลาดก่อนว่าจะสร้างต่อภาค 2 หรือไม่ และมีรายละเอียดต่างจากมังงะและอนิเมะอยู่บ้าง

พล็อตเรื่อง Zom 100

Zom 100 Plot

เท็นโด อะกิระ ตัวละครเอกของเรื่อง เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังและได้ทำงานในบริษัทผู้ผลิตสื่อที่ตัวเองใฝ่ฝัน แต่กลับพบว่าบริษัทดังกล่าวมีลักษณะของ Black Company คือเป็นบริษัทที่กดดันให้พนักงานทำงานหนักอย่างผิดธรรมชาติเกินกว่าร่างกายและจิตใจมนุษย์จะรับได้ เช่นทำงานโต้รุ่งชนิดไม่ได้นอนติดกัน 2-3 วัน ทำงานโดยไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ต่อให้มีสวัสดิการวันลาก็ลาไม่ได้เนื่องจากแรงกดดันในบริษัท จนวันหนึ่งเมื่อเหตุการณ์ซอมบี้ระบาดไปทั่วในโตเกียว อะกิระจึงได้ตระหนักว่า “วันนี้ไม่ต้องไปทำงานที่บริษัทก็ได้นี่นา” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยอันสดใสของเขาว่า ต่อไปนี้จะทำสิ่งที่อยากทำเท่านั้น และไม่ทนทำในสิ่งที่ฝืนใจตัวเองอีกต่อไป เขาจึงค่อย ๆ ทำลิสต์สิ่งที่อยากทำ 100 สิ่งก่อนที่ตัวเองจะโดนกัดและกลายเป็นซอมบี้ไป อันเป็นที่มาของชื่อเรื่องนั่นเอง

ฉากหลังที่บรรยายสภาพการทำงานสุดโหดของสังคมญี่ปุ่น

Zom 100 Working Environment

ผู้เขียนเคยเขียนใน “ส่องสถานการณ์การหางานทำของคนญี่ปุ่น ผ่านซีรีส์ We married as a job” ไปแล้วว่าการสมัครงานในญี่ปุ่นจะต่างจากไทยคือต้องมี “ฤดูการสมัครงาน” ถ้าใครหางานไม่ได้ในฤดูการสมัครงานก็จะมีผลให้ตกงานยาว ๆ ไปอีกปีหรือหลายปีเลยทีเดียว ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงลาออกจากงานน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองไทยเนื่องจากความทารุณในการหางาน และเมื่อได้งานทำแล้วก็จะทำงานโหดสุดขีดอย่างที่คนไทยจินตนาการไม่ออกกันเลยทีเดียวเนื่องจากญี่ปุ่นเน้นการประเมินความทุ่มเทของพนักงานเป็นหลักว่าจะต้องทำให้เกิน 100% คือเกินความคาดหวังของนายจ้างและลูกค้า

โดยเฉพาะธุรกิจด้านสื่อของญี่ปุ่นเช่น บริษัทโฆษณา บริษัทผู้ผลิตสื่อ สถานีโทรทัศน์ ค่ายอนิเมะ ใด ๆ ที่เกี่ยวกับสื่อก็จะยิ่งทำงานโหดกว่าระบบบริษัทปกติไปอีก (ซึ่งบริษัทในประเทศญี่ปุ่นปกติก็โหดมากอยู่แล้ว) จนถึงขั้นมีพนักงาน “ทำงานจนขาดใจตาย” กันอยู่บ่อย ๆ ทั้งทำงานจนหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตไปเอง ทำงานจนฆ่าตัวตาย ทำงานจนเกิดโรคแทรกซ้อนอันส่งผลให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา เป็นต้น (โดยผู้เขียนเองก็เคยทำงานในบริษัทสื่อญี่ปุ่น และเคยทำงานในสถาบันการเงินญี่ปุ่น จึงมีประสบการณ์ทำงานจนเกือบเสียชีวิตมาแล้วจริง ๆ และโดนแพทย์ประจำตัวขอให้ลาออก ทำให้ยังมีชีวิตอยู่มาเขียนเล่าสู่กันฟัง) ยังได้เคยเขียนถึงเรื่องงานหนักมักฆ่าคนไปแล้วในคอลัมน์ “KAROSHI x KAROJISATSU เมื่องานหนักมักฆ่าคน ทำความรู้จัก ‘คะโรชิ’ และ ‘คะโรจิซัตสึ’”

เนื้อเรื่องตลกแบบชวนคิดของเรื่อง Zom 100

Zom 100 Take aways

มีคำพูดของตัวละครหลายตัว หลายบทพูดที่เหมือนจะตลกแต่เจ็บจี๊ดมากเช่น

1) “โอย วันนี้ก็ดูท่าจะไม่ได้กลับบ้านแล้วมั้ง? (เนื่องจากโดนบังคับทำงานโต้รุ่งที่บริษัท)
2) “นี่มันโรงงานนรก (Black Company) ชัด ๆ”
3) “กว่าจะได้กลับบ้านอีกที ต้องอีกกี่วันให้หลังกันนะ”?
4) “ถ้ายังไม่ฉี่เป็นเลือดล่ะก็ แปลว่าแกยังอ่อนประสบการณ์ทำงานนะ”
5) “กระเพาะทะลุก็เป็นภาระงานอย่างนึงเว้ย”
6) “ตอนที่แกยังทำงานอยู่โรงงานนรกนั่น แกเป็นซอมบี้มากกว่าซอมบี้จริง ๆ ตอนนี้อีกว่ะ”
7) “ชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเหลือเวลาอีกแค่ 1 วัน หรือเหลืออีก 60 ปี เราก็ยังมีเวลาสั้นเกินไปสำหรับสิ่งที่อยากทำอยู่ดี”

ในอนิเมะจะแสดงความหม่นหมองของอะกิระได้ชัดกว่าภาพยนตร์ เนื่องจากก่อนที่ซอมบี้จะครองเมือง สีสันของฉากจะเป็นสีปกติ ส่วนในห้องของอะกิระจะเป็นโทนสีขาวดำและเทาหม่นเพื่อแสดงความหม่นหมองของอะกิระ แต่พอซอมบี้ครองเมืองก็กลับกลายไปใช้โทนสีหวานสดใส แม้แต่เลือดคนในหลายฉากก็เป็นสีสดใสไม่ใช่สีแดงแต่อย่างใด เพื่อแสดงให้เห็นจิตใจที่สดชื่นปลอดโปร่งของอะกิระ

เหตุการณ์ซอมบี้ครองเมือง สำหรับมนุษย์ทั่วไปคงมองว่านี่คือวันสิ้นโลก คือสถานการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวสูงสุด แต่สำหรับ “ซอมบี้ในระบบบริษัท” อย่างอะกิระแล้ว เหตุการณ์ซอมบี้ครองเมืองนี่คือพรอันประเสริฐจากสวรรค์ เพราะทำให้เขาหลุดพ้นจากพันธนาการของหัวหน้าตัวเองและประธานบริษัทที่เอารัดเอาเปรียบเขาได้ โลกทั้งใบกลายเป็นโลกในอุดมคติของอะกิระ เขาจึงกลายเป็นคนร่าเริงสดใสที่มองโลกในแง่ดีอย่างมาก ท่ามกลางซอมบี้และซากศพในประเทศญี่ปุ่น

อะกิระจึงทำค่อย ๆ ทยอยทำลิสต์สิ่งที่อยากทำ 100 สิ่งก่อนจะกลายเป็นซอมบี้ เพราะทั้ง 100 สิ่งล้วนเป็นสิ่งที่เขามิอาจทำได้ตอนที่ยังเป็น “ซอมบี้ในระบบบริษัท” นั่นเอง

ย้อนมองชีวิตตัวเองช่วง Covid-19

Zom 100 The Great Resignation

ในปี 2020 ช่วงที่สถานการณ์ Covid ร้ายแรงสูงสุด เกิดสิ่งที่เรียกว่า The Great Resignation คือพนักงานจำนวนมหาศาลแห่กันลาออกจากระบบบริษัท ก็อาจจะสะท้อนสภาพจิตใจของคนทำงานหลายคนในโลกแห่งความจริงได้บ้าง เมื่อสถานการณ์โลกไม่เห็นทางสว่างก็ย่อมจะมีหลายคนไม่เห็นว่าจะตั้งใจไปบริษัทและตั้งใจทำงานไปเพื่ออะไรกัน

ขนาดช่วง Covid หนัก ๆ 2-3 ปีนั้นสถานการณ์ไม่ได้สิ้นโลกเหมือนเหตุการณ์ซอมบี้ครองเมืองใน Zom 100 ก็ยังทำให้คนจำนวนมากทั่วโลก “เลิกทำงาน” ได้ เมื่อมาดูเรื่อง Zom 100 และพิจารณาสถานการณ์การทำงานหนักอย่างบ้าคลั่งในญี่ปุ่นแล้ว จึงเข้าใจจิตใจของอะกิระได้ไม่ยากนัก ทำให้เรื่องนี้น่าติดตามอย่างมาก และชวนให้คิดว่าถ้าโลกมนุษย์เกิดหายนะขึ้นจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซอมบี้หรือหายนะสิ้นโลกอื่น ๆ แล้ว พวกเราทุกคนจะยังอยากตั้งใจไปที่ทำงานและอุทิศตัวเองเพื่องาน แทนที่จะอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่กับคนที่เรารักและทำสิ่งที่เราอยากทำเป็นครั้งสุดท้าย หรือเปล่านะ?

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า