SPY x FAMILY - Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก 11 ต.ค. 2022) กระแสยังคงแรงไม่หยุดกับการ์ตูนเรื่อง SPY x FAMILY ที่เป็นผลงานของเอ็นโด ทัตสึยะ (遠藤達哉) โดยตีพิมพ์มาตั้งแต่มีนาคม ปี 2019 จนปัจจุบันก็ยังคงตีพิมพ์อยู่ มีเป็นอนิเมะจบ Season แรกไปแล้วและ Season 2 เพิ่งเริ่มพอดี ณ เวลาที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้อยู่ ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือเป็นพล็อตผสมหลายแนวระหว่าง สืบสวน ต่อสู้ แอ็กชัน ครอบครัว ผสมกันไปหมดอย่างลงตัว และทิ้งความรู้ฟีลกู๊ดอันแสนอบอุ่นไว้ในใจผู้ชมอย่างลืมไม่ลงในหลาย ๆ ฉาก

เรื่องย่อ SPY x FAMILY

SPY x FAMILY - Loid Forger

เนื่องจากเอ็นโด ทัตสึยะนั้นชื่นชอบเป็นพิเศษในเนื้อเรื่องแนว “สถานการณ์ที่ทำให้ตัวละครต้องซ่อนตัวตนที่แท้จริง” เรื่องนี้จึงมีการซ่อนตัวตนของตัวละครหลักทั้ง 3 ตัวคือ สายลับ นักฆ่า และผู้มีพลังจิต โดยฉากหลังของเรื่องเป็นความตึงเครียดแบบสงครามเย็นระหว่าง 2 ชาติที่เป็นคู่แข่งกันคือ เวสทาลิส (เขียนด้วยอักษรคันจิว่า 西国: ประเทศตะวันตก) และ ออสตาเนีย (เขียนด้วยอักษรคันจิว่า 東国: ประเทศตะวันออก) มีตัวเอกของเรื่องคือ ลอยด์ ฟอร์เจอร์ ซึ่งที่จริงเป็นสายลับของเวสทาลิสที่มีชื่อรหัสว่า “สนธยา” โดยได้รับภารกิจล่าสุดคือต้องสร้างครอบครัวปลอม ๆ ขึ้นมาเพื่อตีสนิทกับเดสมอนด์ที่เป็นผู้มีอิทธิพลในออสตาเนีย

SPY x FAMILY - Yor Forger

ความสนุกของเรื่องจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อสนธยาหาครอบครัวปลอม ๆ มาร่วมแผนได้สำเร็จ แต่หารู้ไม่ว่า ยอร์ ไบรอาร์ สุภาพสตรีที่ตกลงปลงใจสวมบทภรรยาปลอม ๆ ของตัวเองนั้นจริง ๆ มีอีกตัวตนคือเป็นนักฆ่าที่มีสมญาว่า “เจ้าหญิงหนาม” ส่วนเด็กผู้หญิงที่สนธยาหามารับบทลูกสาวปลอม ๆ ของตัวเองจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้านั้นชื่อ อาเนีย ก็กลับกลายเป็นเด็กที่มีพลังจิตสามารถอ่านใจคนได้

SPY x FAMILY - Anya Forger

ความลุ้นของเรื่องจึงเกิดเมื่อ พ่อแม่ลูกปลอม ๆ ทั้ง 3 คนต่างก็ต้องซ่อนตัวตนจริง ๆ ของตัวเองเอาไว้ไม่ให้อีก 2 คนรู้ ทั้งที่จริง ๆ อาเนียรู้หมดแต่อาเนียก็แสดงออกไม่ได้ว่ารู้ความลับของพ่อและแม่ปลอม ๆ เพราะว่าอาเนียเองก็ต้องการเก็บพลังจิตของตัวเองไว้เป็นความลับเช่นกัน พ่อแม่ลูกปลอมและครอบครัวปลอมจึงต้องผูกสัมพันธ์กันไปเรื่อย ๆ ระหว่างที่พ่อและแม่ปลอมก็ต้องปฏิบัติภารกิจลับของตัวเองไม่ให้คนในครอบครัวรู้ โดยมีฉากหลังคือสงครามเย็นและการห้ำหั่นกันของ 2 ชาติ

ความอบอุ่นของครอบครัวปลอม ๆ ในเรื่องนี้

SPY x FAMILY - Japan Family

แม้จะเป็นครอบครัวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อภารกิจของสนธยา แต่สนธยาก็แสดงความพยายามเข้าใจลูก พยายามเป็นคุณพ่อที่ดีจริง ๆ พอรู้ตัวว่าบังคับลูกให้ตั้งใจเรียนมากเกินไปก็รู้ตัวและสำนึกผิด ส่วนเจ้าหญิงหนามเองก็พยายามทำตัวเป็นแม่ที่ดีจริง ๆ และในหลายฉากก็แสดงความห่วงใยลูกปลอม ๆ อย่างออกนอกหน้าถึงขั้นฟิวส์ขาดก็มี “ครอบครัว” กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งพ่อและแม่ปลอมคู่นี้แคร์อย่างมาก กลายเป็นพื้นที่แห่งความสบายใจ พื้นที่ที่ตัวเองจะ “เป็นตัวเองได้” โดยไม่ต้องมีภารกิจมาเกี่ยวข้อง

ในเสียงพากย์ภาษาญี่ปุ่นจะเห็นความน่ารักในเสียงเรียกของอาเนียที่เรียกพ่อว่า ชิชิ (ちち) และเรียกแม่ว่า ฮะฮะ (はは) ทั้งที่ภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ นั้น เด็กจะเรียกพ่อว่า ชิชิ ก็ต่อเมื่อคุยกับคนอื่นอยู่แล้วพูดถึงพ่อ และจะเรียกแม่ว่า ฮะฮะ ก็ต่อเมื่อคุยกับคนอื่นอยู่แล้วพูดถึงแม่ เท่านั้น แต่เวลาเจอพ่อจริง ๆ จะเรียก ปะปะ หรือ โอะโต้ซัง และเรียกแม่ว่า มะมะ หรือ โอะก้าซัง จึงจะถูกต้อง แต่ในจุดนี้ทั้งสนธยาและเจ้าหญิงหนามก็ไม่ได้มีใครพยายามหักหาญน้ำใจของลูกโดยการพยายามจะแก้วิธีเรียกให้ถูกต้องแต่อย่างใด กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของตัวละครอาเนียไป

สภาพสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันที่ทับซ้อนกับเนื้อเรื่องของเรื่องนี้

SPY x FAMILY - Forger Family

ญี่ปุ่นก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบเป็นชาติแรกของโลก คือมีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีประมาณ 36 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมดประมาณ 120 ล้านคน) คือทุก ๆ ประชากร 4 คนจะมีคนสูงอายุไปแล้ว 1 คน และมีอัตราแรกเกิดน้อยลงคือในปี ค. ศ. 2020 มีอัตราเด็กเกิดเพียง 1.34% เท่านั้น คำว่า “ครอบครัว” ที่เกิดจากการแต่งงาน พ่อ แม่ ลูก จึงเป็นไปได้น้อยลงทุกทีในญี่ปุ่น แล้วพ่อแม่ที่จะห่วงใยกันและกัน พ่อแม่ที่สนใจความรู้สึกของลูก ส่วนลูกก็เข้าใจหัวอกพ่อแม่ ห่วงใยความรู้สึกของพ่อแม่ แบบครอบครัวปลอม ๆ ใน SPY x FAMILY ก็กลับกลายเป็นของแปลกประหลาดที่หาได้ยากยิ่งในสังคมญี่ปุ่นไปเสียได้ ถึงขั้นมีแฟนคลับหลายคนบอกว่าเนื้อเรื่อง SPY x FAMILY ที่กล่าวถึงครอบครัวที่พ่อแม่ลูกรักและเข้าอกเข้าใจกันอย่างอบอุ่นนั้น มีความเป็นพล็อต “อิเซะไก (異世界)” ที่ฟังดูแปลกประหลาดจากสังคมญี่ปุ่นจริง ๆ ได้มากกว่าการ์ตูนหรือไลท์โนเวลแนวอิเซะไกจริง ๆ เสียอีก! กลายเป็นว่าการ์ตูน SPY x FAMILY มอบความอบอุ่นหัวใจบางอย่างในแง่ครอบครัวให้กับผู้ชมได้ เหมือนเป็นการสร้างนิยามครอบครัวใหม่ขึ้นมาว่าครอบครัวนั้นสิ่งสำคัญคือความเข้าใจกันต่างหาก ไม่ใช่สถานภาพหรือการร่วมสายเลือดใด ๆ

เพลงประกอบ Ending ก็ทำหน้าที่ได้ดีมาก คือเพลง คิเงะกิ (喜劇) ที่แปลว่า Comedy ก็มีเนื้อเพลงทั้งเพลงราวกับประพันธ์เพลงขึ้นมาเพื่อการ์ตูนเรื่องนี้เลยทีเดียว โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

あの日交わした
血に勝るもの
心たちの契約を
“เราได้ผูกสัญญาใจ
ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าสายโลหิต
ขึ้นมาในวันนั้น”

Comedy, Hoshino Gen

เรียกว่าเป็นการ์ตูนแนวแปลกที่สนุก และครบรสมาก และความน่ารักของอาเนียก็น่ารักได้แบบน่ารักสุดยอด จนได้รับสมญาจากแฟนคลับว่าเป็น “ลูกสาวแห่งชาติ” กันเลยทีเดียว เพราะน้อยคนจะทนความน่ารักของน้องได้
แนะนำให้หามารับชม และดื่มด่ำกับความอบอุ่นอย่างประหลาดที่ไม่ค่อยจะได้พบในสังคมดิจิตอลของมนุษย์เราในปัจจุบัน

SPY x FAMILY - Why should you watch

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า