Alice in Borderland vs Squid Game Feature

ใครชอบซีรีส์แนวเอาตัวรอด ตัวเอกตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด กดดัน ทำให้ต้องคอยเอาใจช่วยหรือลุ้นว่าตัวละครจะตัดสินใจแบบไหน มีชีวิตรอดยันตอนจบมั้ย น่าจะเคยได้ยินชื่อซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix อย่าง Alice in Borderland และ Squid Game ที่เนื้อเรื่องมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีจุดที่ต่างกันพอสมควร

เรื่องย่อ Alice in Borderland

ซีรีส์สุดโด่งดังสร้างจากการ์ตูนญี่ปุ่นในชื่อเดียวกัน เรื่องราวของเด็กหนุ่ม “อะริสุ” หลังจากก่อความวุ่นวายกลางสี่แยกชิบุยะกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน พวกเขาก็วิ่งหนีตำรวจไปที่ห้องน้ำในสถานีรถไฟ เมื่อออกมาเขากับเพื่อนๆ ก็พบว่านี่ไม่ใช่โลกเดิมแสนสงบสุขที่พวกเขารู้จักอีกต่อไป อะริสุต้องเข้าไปพัวพันกับเกมมรณะที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน

เรื่องย่อ Squid Game

ซีรีส์สัญชาติเกาหลีที่โด่งดังไม่แพ้กัน เล่าผ่านมุมมองของ “ซองกีฮุน” ชายหนุ่มที่ชีวิตประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก สิ้นเนื้อประดาตัว วันหนึ่งเขาได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม Squid Game การแข่งขันเอาชีวิตรอดร่วมกับผู้เข้าแข่งขันมากกว่า 400 ชีวิต ซึ่งมีเงินรางวัลหลายหมื่นล้านวอนสำหรับผู้ชนะ แต่หากแพ้ก็ต้องแลกด้วยชีวิต

เปรียบมวยซีรีส์ดัง Alice in Borderland VS Squid Game (มีสปอยล์)

ออกตัวไว้ก่อนเลยว่าผู้เขียนชื่นชอบทั้ง 2 เรื่อง จึงจะไม่บอกว่าเรื่องใดดีกว่ากัน แต่ในเมื่อทั้ง 2 เรื่องต่างก็โด่งดังพอสมควรและมีฐานแฟนคลับกันทั้งคู่ อีกทั้งยังเหมือนเป็นตัวแทนฝั่งญี่ปุ่น กับ ตัวแทนฝั่งเกาหลี จึงอดไม่ได้ที่แฟนคลับจำนวนมากจะเอามาเปรียบเทียบกัน คอลัมน์นี้จึงจะขออภิปรายเปรียบเทียบระหว่างทั้ง 2 เรื่อง

ที่จริงแล้ว Alice in Borderland นั้นจบครบถ้วนแล้วทั้ง 2 Seasons ในขณะที่ Squid Game นั้นเหมือนจะจบแบบปลายเปิด คืออาจจะมีต่อ Season 2 ก็ได้ แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า Squid Game จะมีเนื้อเรื่อง Season 2 ไปในทางใด จึงขอเปรียบเทียบ Alice in Borderland ทั้ง 2 Seasons กับ Squid Game Season 1 เท่านั้นก็แล้วกัน

จุดที่เหมือนกัน

1. ทั้ง 2 เรื่องมีลักษณะของเกมแบบ Battle Royale คือแข่งกันเองโดยมีชีวิตเป็นเดิมพันเหมือนกัน พลาดคือตาย ทุกขณะที่เล่นเกมคือมีสิทธิ์ตายได้ทุกเมื่อเหมือนกัน

2. ตัวละครเกือบทุกตัวของทั้ง 2 เรื่องมีลักษณะของ “คนไม่เอาถ่าน” หรือเป็น “คนชายขอบของสังคมในประเทศตัวเอง” เหมือนกัน ใน Squid Game คือคนส่วนใหญ่มีปัญหาการเงินและมีชีวิตที่ล้มเหลวในสังคมเกาหลีจึงต้องการเงินเพราะเชื่อว่าเงินจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ในขณะที่ Alice in Borderland คนส่วนใหญ่มีปัญหากับการค้นหาความหมายของชีวิตหรือยังไม่ค้นพบที่อยู่ของตัวเองในสังคมญี่ปุ่น (แน่นอนว่าตัวละครบางตัวในทั้ง 2 เรื่องก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพียงแต่ตัวละครส่วนใหญ่มักเป็นแบบที่ว่า)

3. ทั้ง 2 เรื่องอยู่บน Netflix ให้เลือกรับชมได้ ถือว่าแข่งกันสูสีบน Platform เดียวกัน

4. ทั้ง 2 เรื่องมีตัวละครให้แฟนคลับได้ตามลุ้น หรือตามกรี๊ด ไม่ต่างกัน ทั้งบุคลิก คาแรคเตอร์ หรือความหล่อสวยน่ารัก

จุดที่ต่างกัน

1. Alice in Borderland เกมยากกว่ามาก โหดกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต้องอาศัยสติปัญญาระดับเทพ บวกกับโชค และ Teamwork เพื่อเอาชีวิตรอด ในขณะที่ Squid Game เกมจะเข้าใจง่ายชนิดที่ใคร ๆ ก็ทำความเข้าใจกติกาการเล่นกันได้ทุกคน

2. Alice in Borderland มีพื้นที่เล่นเกมโหดมากคือพื้นที่ทั้ง 23 เขตของกรุงโตเกียวเป็นพื้นที่เล่นเกมทั้งหมด ส่วน Squid Game มีพื้นที่แค่บริเวณที่ผู้จัดจำกัดให้เล่นเท่านั้น ใน AIB ยังโหดกว่านั้นคือผู้เล่นต้องหาน้ำ อาหาร และที่พักเพื่อประทังชีวิตกันเอาเอง เรียกว่าเอาตัวรอดกันตามมีตามเกิดโดยแท้ ในขณะที่ Squid Game มีเจ้าหน้าที่จัดหาน้ำ อาหาร และที่พักให้ คือ Squid Game มีความเป็นเกมที่เป็นเกมจริง ๆ ส่วน Alice in Borderland คือออกแนวทำสงครามมากกว่าเป็นการเล่นเกม

3. Alice in Borderland เป็นโลกในจินตนาการเพราะตัวตนที่แท้จริงของ Borderland คือโลกที่เชื่อมต่อระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกแห่งความตาย ในขณะที่ Squid Game คือโลกแห่งความจริงตามปกติ ผู้จัดไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าหยั่งรู้ทุกสิ่งราวกับเป็นพระเจ้าเหมือนในผู้จัดของ Alice in Borderland

4. ใน Alice in Borderland นั้นผู้เล่นทุกคนไม่เต็มใจเพราะฟื้นขึ้นมาก็หลุดเข้ามาอยู่ในเกมแล้ว แต่ Squid Game เป็นเกมที่ผู้เล่นทุกคนสมัครใจที่จะกลับเข้ามาเล่นเกมแห่งความตายนี้ เลยกลายเป็นว่าเป้าหมายของผู้เล่นก็ต่างกันไปด้วย เพราะ Alice in Borderland คือทำทุกอย่างเพื่อให้รอดชีวิต แต่ผู้เล่นของ Squid Game ยอมเอาชีวิตเข้าเสี่ยงและทำทุกอย่างเพื่อเงิน

5. Alice in Borderland มีกฎเกณฑ์การเคลียร์เกมที่ชัดเจน พอชนะด่านสุดท้าย สามารถมีผู้รอดชีวิตหลายคนที่ได้กลับสู่โลกแห่งคนเป็น แต่ Squid Game โหดกว่ามากคือจะต้องเหลือผู้เล่นเพียงคนเดียวจริง ๆ ที่จะรอดชีวิตและได้รับเงินมหาศาล

6. Alice in Borderland อ้างอิงจากสภาพสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก เรียกว่าแฟนคลับที่ไม่ค่อยเข้าใจสังคมญี่ปุ่นมาดูแล้วอาจจะไม่เข้าใจวิธีคิดและพฤติกรรมของตัวละครหลายตัว และผู้สร้างสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นก็ยังสร้างโดยเน้นขายคนญี่ปุ่นเป็นหลักอยู่ แบบไม่ค่อยแคร์แฟนคลับชาวต่างชาติ ในขณะที่ Squid Game มีแนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและการยอมเอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงเพื่อแลกกับเงินซึ่งสุดแสนจะทุนนิยม และคนทั่วโลกเข้าใจแนวคิดนี้ได้ง่ายกว่า ในแง่ของการเข้าถึงแฟนคลับ Squid Game เลยย่อยง่ายเข้าถึงง่ายกว่า Alice in Borderland

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก Squid Game ทิ้งทวนไว้เป็นปลายเปิด จึงน่าลุ้นกันต่อว่าพล็อตจะขยับตัวไปในทิศทางใด และไม่ว่าอย่างไรทั้ง 2 เรื่องก็จัดเป็นซีรีส์น้ำดีที่น่าติดตาม ให้ทั้งความบันเทิงและให้แง่คิดบางอย่างได้ สื่อบันเทิงจากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีก็จะยังคงแข่งกันเองและดึงข้อดีจากกันและกัน และแข่งขันกันพัฒนาสื่อของชาติตัวเองต่อไปไม่หยุดอย่างแน่นอน

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า