เวลาพูดคำว่า ‘ริวกิว’ ชาวไทยส่วนใหญ่จะรู้จักในนาม ‘ปลาริวกิว’ ที่มีลักษณะเป็นปลาหวานตากแห้ง หรือไม่ก็รู้จัก ‘ไข่ปลาริวกิว’ หรือที่บางท้องถิ่นในไทยเรียกว่า ‘ไข่ปลาเรียวเซียว’ ก็มี อย่างไรก็ตามในประวัติศาสตร์นั้น ปลาริวกิวและไข่ปลาริวกิวไม่ได้มาจากดินแดนที่ชื่อว่าริวกิวแต่อย่างใด หากแต่อยุธยาของไทยและราชอาณาจักรริวกิวได้มีการติดต่อค้าขายกันมานานน่าจะสัก 500 ปีได้ โดยพ่อค้าจากริวกิวน่าจะได้ปลาชนิดนี้จากแหล่งน้ำแห่งใดแห่งหนึ่งระหว่างเดินทางมาอยุธยา ชาวอยุธยาจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาริวกิวเสียเลย เพื่อแสดงว่าเป็นปลาจากพ่อค้าชาวริวกิว ไม่ได้แปลว่าเป็นปลาจากดินแดนริวกิวแต่อย่างใด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปงาน Okinawan Festival ที่จัดโดยสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และผู้เขียนเองเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ริวกิวมา 1 ปีเต็ม วันนี้จึงจะขอเล่าเรื่องของริวกิวในลักษณะเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ให้อ่านกัน

ระบอบการปกครองของริวกิว VS ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่

ปราสาทซูริ

ประเด็นแรกที่ชัดมากคือชื่ออย่างเป็นทางการของริวกิวคือ ราชอาณาจักรริวกิว (琉球王国: The Ryukyu Kingdom) โดยมีอักษรคำว่าราชาหรือกษัตริย์ (王) คือ King จึงปกครองด้วยระบอบ King ในขณะที่ญีปุ่นแผ่นดินใหญ่นั้นมีชื่อทางการก่อนแพ้สงครามโลกครั้งที่สองคือ มหาจักรวรรดิญี่ปุ่น (大日本帝國: The Empire of Japan) โดยมีอักษรคำว่าจักรวรรดิ (帝) หรือ Empire จึงปกครองด้วยระบอบ Emperor คือจะเรียกว่าจักรพรรดิ (เราจะไม่เรียกจักรพรรดิญี่ปุ่นว่าราชาญี่ปุ่นหรือกษัตริย์ญี่ปุ่น) เพียงแต่ช่วงต้นคริสตวรรษที่ 17 นั้น ชาวแคว้นซัตสึมะของญี่ปุ่นได้บุกไปยึดริวกิวเข้าเป็นเมืองขึ้น และอาศัยริวกิวซึ่งมีสัมพันธภาพอันดีกับราชวงศ์ชิงของจีน จึงใช้ริวกิวทำการค้ากับราชวงศ์ชิงอยู่หลายปี จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคเมจิหลังการปฏิรูปเมจิได้เปลี่ยนชื่อริวกิวให้กลายเป็นโอกินาว่า (沖縄) ในปี ค. ศ. 1879 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นไป แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ชาวโอกินาว่าก็ยังมีหลายคนนิยมเรียกญี่ปุ่นว่า ‘ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ (日本本土: Mainland Japan)’ เพราะจังหวัดโอกินาว่าอยู่ไกลออกไปจากประเทศญี่ปุ่นมาก ๆ เพราะจริง ๆ เป็นต่างประเทศนั่นเอง

ภูมิอากาศของริวกิว VS ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่

โอกินาว่า

อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของโอกินาว่าคือ 23.1 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของโตเกียวคือ 15.4 โดยโอกินาว่าเป็นจังหวัดเดียวในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่เคยมีหิมะตกมาก่อน ลักษณะอากาศเป็นอากาศแบบท้องทะเลตลอดปี และพืชผลประจำจังหวัดต่าง ๆ ล้วนเป็นพืชเมืองร้อนเช่น อ้อย สัปปะรด ซีกวาซ่า (Okinawan citrus fruit) เป็นต้น แม้กระทั่งกระแสน้ำที่รายล้อมโอะกินะวะอยู่ก็เป็นกระแสน้ำอุ่นกว่าญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ ทำให้ผลิตผลจากท้องทะเลโอกินาว่ามีจุดเด่นที่แตกต่างจากของญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่อยู่มากพอสมควร

อาหารการกินของริวกิว VS ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่

โซบะโอกินาว่า

อาหารหลักของชาวโอกินาว่าก็จะแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง นิยมบริโภคมะระ เต้าหู้ เนื้อหมูตุ๋นพะโล้คล้ายของจีน แม้แต่อาหารเส้นก็จะบริโภคโอกินาว่าโซบะซึ่งคล้ายเส้นโซบะจีนสีเหลือง ไม่ใช่เส้นโซบะญี่ปุ่นสีเทาหม่นแบบในอาหารญี่ปุ่นปกติ และน้ำซุปของโซบะก็มักเป็นซุปพะโล้ตุ๋นกับเหล้าอะวะโมะริ แม้กระทั่งชาที่ชาวโอกินาว่านิยมดื่มก็จะนิยมดื่ม ‘ซัมปิงชะ (さんぴん茶)’ ที่เป็นชามะลิคล้ายของจีน มากกว่าจะดื่มชาเขียวแบบชาวญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ แต่ในปัจจุบันก็มีอาหารญี่ปุ่นปกติและชาเขียวปกติแผ่อิทธิพลเข้าไปในโอกินาว่ามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

แม้แต่เหล้า ก็ยังแตกต่างกัน (อ่านรายละเอียดได้ใน: อะวะโมะริ (泡盛) เหล้าเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น) โดยชาวญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่แต่เดิมทำเป็นเพียงเหล้าหมักเท่านั้น ไม่ได้ชำนาญการกลั่นเหล้า แต่ชาวริวกิวรับภูมิปัญญาการกลั่นเหล้าไปจากชาวอยุธยาจนกลั่นเหล้าอะวะโมะริเป็น โดยใช้ข้าวไทยเป็นพื้นฐานในการกลั่น และถ่ายทอดภูมิปัญญาการกลั่นเหล้าไปที่ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่จนกลายเป็นต้นตระกูลของเหล้าโชจู (焼酎: Shochu) ญี่ปุ่นที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นไป

ศิลปะการต่อสู้มือเปล่าของริวกิว VS ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่

คาราเต้

โอกินาว่าเป็นเมืองร้อน และสมัยที่ยังเป็นราชอาณาจักรริวกิวนั้นมีกฎหมายเข้มงวดห้ามประชาชนพกพาอาวุธ แต่เนื่องจากเป็นเมืองท่าจึงมีการแลกเปลี่ยนวิทยายุทธกับจีนและกับหลาย ๆ วัฒนธรรมในยุคนั้น จนพัฒนาขึ้นเป็นวิชาต่อสู้มือเปล่าคือคาราเต้ (唐手) (อ่านรายละเอียดได้ใน : คาราเต้: ความเป็นมาก่อนจะกลายเป็น 1 ในกีฬาโอลิมปิก 2020) คือเน้นไปที่การเตะ ต่อย ไปทางคล้ายวิทยายุทธของจีน แม้จะมีการฝึกอาวุธก็เป็นการประยุกต์อุปกรณ์การเกษตรหรือปศุสัตว์มาเป็นอาวุธเสียมากกว่าจะใช้อาวุธจริง ๆ  แต่ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่นั้นอากาศหนาวกว่า และธรรมเนียมการออกรบคือซามูไรมักต้องใส่เกราะเหล็กทั้งตัว มีการต่อสู้กันด้วยดาบซามูไรและอาวุธประเภทต่าง ๆ ดังนั้นศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเตะและต่อยเพราะไม่มีประสิทธิภาพในการไปเตะต่อยเกราะเหล็กหนา ๆ ในสนามรบ แต่ไปเน้นพัฒนาเทคนิคการบิดกระดูก บิดเส้นเอ็น หักข้อต่อ และจับทุ่มเพื่อให้ช้ำในจากน้ำหนักของเกราะ แล้วค่อยใช้อาวุธเสียบเข้าไปตามร่องข้อต่อของชุดเกราะมากกว่า จึงเป็นวิชาแนวจูจุทสึ (柔術) ซึ่งเป็นต้นตระกูลของไอกิโด (合気道) และยูโด (柔道) ในปัจจุบัน แม้ในปัจจุบันอิทธิพลของวิชาคาราเต้จะเผยแพร่ไปสู่ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่และเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่คาราเต้ต้นตำรับแบบโอกินาว่าก็ยังมีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากคาราเต้ญี่ปุ่นอย่างชัดเจน

นิสัยใจคอของผู้คนริวกิว VS ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่

คนริวกิว

ผู้คนในโอกินาว่ามีนิสัยคล้ายคนไทยอย่างมาก คือไม่ค่อยตรงต่อเวลานัก อะลุ้มอล่วย ยืดหยุ่นกับอะไรหลาย ๆ อย่าง และชอบความเฮฮาสนุกสนาน มากกว่าชาวญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่อย่างเห็นได้ชัด แม้แต่วิธีจัดปาร์ตี้ก็ต่างกันคือชาวโอกินาว่าเวลามีงานรื่นเริงมักจะปิดท้ายงานโดยการค่อย ๆ เกณฑ์หรือดึงแขกในงานออกมารำวงแบบโอกินาว่าที่เรียกว่า คะจะชี (カチャーシー) คือออกมารำเฮฮามั่ว ๆ กันอยู่หน้าเวทีจนกว่าจะเลิกงาน ในขณะที่ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่จะมีลักษณะของงานพิธีการมากกว่า แล้วถ้าอยากเฮฮาค่อยนัดวงเล็กไปต่อร้าน 2 ร้าน 3 กันเอาเอง ไม่สามารถเฮกันสุดขีดกัน ณ พื้นที่งานทางการได้แบบที่โอกินาว่า

สรุป

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้โอกินาว่าค่อย ๆ รับความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และโลกแห่งอินเทอร์เน็ตก็ได้เชื่อมโยงญี่ปุ่นทุกจังหวัดเข้าด้วยกันหมดแล้ว ทำให้ลักษณะเด่นของริวกิวแบบดั้งเดิมค่อย ๆ พร่าเลือนไป สำหรับชาวไทยเองหากไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น การได้รับรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นย่อย ๆ ของญี่ปุ่นในขณะที่ท่องเที่ยวโดยตระหนักรู้และให้ความเคารพ ย่อมดีกว่าการมองญี่ปุ่นแบบเหมารวมทั้งประเทศ และแนวคิดการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นย่อยนี้ก็อาจกลับมาเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย และอาจโยงไปสู่การอนุรักษ์และพัฒนาสินค้าท้องถิ่นหรือธุรกิจวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยได้บ้าง ก็เป็นได้

ขอบพระคุณ

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

เว็บไซต์ Conomi.co

บริษัท DMK (Thailand) Co., Ltd.

ทีมงานที่เดินทางมาจากจังหวัด Okinawa ทุกท่าน

ที่กรุณาให้โอกาสได้เข้าร่วมงาน

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า