การตั้งชื่อคนมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย ในญี่ปุ่นเอง การตั้งชื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีตโดยเฉพาะชื่อผู้หญิง ใครที่ชื่นชอบละครย้อนยุคหรือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมชื่อหญิงสาวในสมัยเมจิ ไทโช และโชวะ มักจะเป็นชื่อที่มีตัวอักษรคาตากานะ 2 ตัว เช่น อูเมะ (ウメ) ทากะ (タカ) หรือไม่ก็มักลงท้ายด้วยตัวโกะ (子) เช่น ฮานาโกะ (花子) คาซูโกะ (和子) เสมอ ทำไมรูปแบบการตั้งชื่อผู้หญิงลักษณะนี้ถึงได้รับความนิยมมาถึง 3 ยุคสมัย ไปดูประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในเรื่องนี้กันเลย!

รูปแบบที่ 1 : ชื่อผู้หญิงมีตัวคาตากานะ 2 ตัว

ผู้หญิงญี่ปุ่น

มาเริ่มกันที่รูปแบบแรกคือการตั้งชื่อที่ใช้ตัวคาตากานะ 2 ตัว พบมากในสมัยเมจิ (ปี 1868-1912) โดยในสมัยนั้น มีหลากหลายเหตุผลในการตั้งชื่อ ตัวอย่างเช่น

– ตั้งเพื่อบอกความแตกต่าง อย่างเช่น หากเป็นลูกคนโตจะตั้งชื่อว่าฮัตสึ (ハツ) หรืออิจิ (イチ) หากเป็นลูกคนสุดท้องจะตั้งชื่อว่าซูเอะ (スエ)
– ตั้งเพื่อความเป็นมงคล นำโชค อย่างเช่น สึรุ (ツル) หรือคาเมะ (カメ) เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว จิโยะ (チヨ) ฮิสะ (ヒサ) มัตสึ (マツ) ทาเกะ (タケ) อูเมะ (ウメ) เป็นการขอพรให้อายุมั่นขวัญยืน
– ตั้งจากเสียงอ่านที่ไพเราะ อย่างเช่น ซากิ (サキ) ฮารุ (ハル) ฮานะ (ハナ)

สาเหตุที่ชื่อผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้ตัวคาตากานะ เนื่องจากในสมัยนั้นผู้คนจำนวนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ตัวอักษรจีนหรือตัวคันจิ ทั้งยังมีอิทธิพลจากความเหลื่อมล้ำที่มองว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง พ่อแม่จะยินดีปรีดามากกว่าหากได้ลูกชายเพราะถือว่าเป็นผู้สืบทอดตระกูล บ้านไหนที่มีลูกชาย พ่อแม่ก็จะไปขอให้ผู้ที่มีความรู้ช่วยตั้งชื่อเป็นตัวคันจิสวย ๆ ให้ ในขณะที่ลูกสาวกลับไม่ค่อยได้รับการตั้งชื่อเป็นตัวคันจิเท่าไร ด้วยเหตุผลว่า “เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อคันจิ” “ชื่อผู้หญิงที่เป็นตัวคันจิมันไม่น่ารัก” “หรือถ้าใช้คาตากานะไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็อ่านง่ายเขียนง่าย” ทำให้ชื่อผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้เป็นตัวคาตากานะแทน

อีกทั้ง ในเวลานั้นจะเริ่มสอนตัวคาตากานะก่อนตัวฮิรากานะ เพราะเป็นรูปแบบตัวอักษรที่เขียนง่ายและจำง่ายกว่า ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ยังมีบางคนที่ไม่สันทัดในตัวฮิรากานะ ส่วนใหญ่จึงตั้งชื่อด้วยตัวคาตากานะที่ทุกคนอ่านออกเขียนได้มากกว่า อีกเหตุผลหนึ่งคือในสมัยเมจิทางรัฐบาลมุ่งเน้นในนโยบาย “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพเข้มแข็ง” (富国強兵 : Fukoku Kyouhei) ผู้คนจึงนิยมชมชอบการตั้งชื่อเป็นตัวคาตากานะเพราะให้อิมเมจที่เข้มแข็งเหมือนผู้ชาย มากกว่าตัวฮิรากานะที่ให้อิมเมจนุ่มนวลเหมือนผู้หญิง แต่ต่อมา ผู้คนเริ่มใช้ตัวฮิรากานะในชีวิตประจำวันมากกว่าตัวคาตากานะ ไม่ว่าจะในหนังสือพิมพ์หรือหนังสือทั่วไป โรงเรียนจึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นการสอนจากตัวฮิรากานะก่อน ทำให้ในช่วงหลังสงครามชื่อของผู้หญิงก็เปลี่ยนมาใช้ตัวฮิรากานะมากขึ้น

และถ้าหากใครที่เคยดูละครพีเรียดหรือละครย้อนยุคของญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่ามีวัฒนธรรมการเรียกชื่อผู้หญิงโดยการเติม โอะ (お) ไว้ข้างหน้าด้วย เช่น โอฮัตสึ (おハツ) โอมัตสึ (おマツ) ดังนั้น การตั้งชื่อโดยมีแค่ตัวคาตากานะ 2 ตัวก็จะออกเสียงได้ไพเราะกำลังดี ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป

รูปแบบที่ 2 : ชื่อผู้หญิงลงท้ายด้วย “โกะ”

สำหรับชื่อที่ลงท้ายด้วยตัวโกะ (子) มักใช้กันตั้งแต่สมัยไทโช (ปี 1912-1926) จนถึงปีโชวะที่ 45 (ปี 1970) โดยเป็นรูปแบบชื่อที่ครองตำแหน่งชื่อผู้หญิงอันดับหนึ่งเรื่อยมาจนถึงปีโชวะที่ 30 (ปี 1950) และในราวปีโชวะที่ 45 ก็กลายเป็นชื่อที่มีคนใช้เป็นจำนวนมากในยุคนั้น แต่เดิมทีแล้วตัวโกะก็เคยใช้ในชื่อของผู้ชายมาก่อน! อย่างเช่น โอโนะ โนะ อิโมโกะ (小野妹子) ข้าราชการในสมัยอาสุกะ (ปี 592-710) และโซกะ โนะ อูมาโกะ (蘇我馬子) นักการเมืองและขุนนางผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ หากเห็นแค่ชื่อหลายคนก็อาจจะนึกว่าเป็นผู้หญิงแน่นอน

ความจริงแล้วนี่เป็นการเรียกแบบให้เกียรติและแฝงความเคารพตามแบบจีน โดยตัวอักษร 子 จะหมายถึงอาจารย์ เหมือนกับนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยก่อนคริสตศักราชที่มีชื่อว่าโคชิ (孔子) กับโมชิ (孟子) ที่มีตัวอักษร 子 อยู่ข้างหลัง เมื่อญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลนี้มา ทำให้เหล่าชายหนุ่มที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงก็จะมีตัวอักษร 子 ต่อท้ายเพื่อแสดงความเคารพให้เกียรติเช่นกัน

เมื่อมาถึงในสมัยเฮอัน (ปี 794-1185) ตัวโกะถูกจำกัดให้ใช้เฉพาะในชื่อของบรรดาหญิงสาวที่มีตำแหน่งสูงทางสังคมเท่านั้น และว่ากันว่าในสมัยของจักรพรรดิซากะ จักรพรรดิองค์ที่ 52 ของญี่ปุ่น (ปี 786-842) เหล่าหญิงสาวในราชวงศ์ก็ใช้ตัวโกะในชื่อจนกลายเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน บรรดาสตรีชั้นสูงและหญิงสาวตระกูลขุนนางก็ใช้ตัวโกะในชื่อต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานเลียนแบบตามพระบรมวงศานุวงศ์ แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม แต่หากใครที่ติดตามข่าวสารของราชวงศ์ญี่ปุ่นก็คงจะสังเกตได้ว่า แม้กระทั่งในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นผู้หญิงก็มักมีตัวโกะลงท้ายในชื่อเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงไอโกะ เจ้าหญิงคาโกะ อดีตเจ้าหญิงซายาโกะ อดีตเจ้าหญิงมาโกะ เป็นต้น

แต่ในครึ่งหลังของสมัยเมจิ การแบ่งแยกสถานะทางสังคมก็เบาบางลงทำให้เริ่มมีการใช้ตัวโกะในชื่อของประชาชนทั่วไป อีกทั้งผู้คนยังมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น เมื่อมาถึงสมัยไทโช ผู้คนก็เริ่มใช้ตัวคันจิในชื่อแทนตัวคาตากานะมากขึ้นเรื่อย ๆ นับว่าตั้งแต่สมัยไทโชจนถึงราวปีโชวะที่ 30 ชื่อผู้หญิงที่มีตัวโกะก็ฮอตฮิตติดกระแสจนเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก

ด้วยความที่ในอดีตชื่อที่มีตัวโกะลงท้ายจะใช้แค่ในหมู่สตรีชั้นสูง คนทั่วไปจึงรู้สึกว่าการใช้ชื่อรูปแบบนี้จะให้ความรู้สึกหรูหรา ดูน่าหลงใหลราวกับเป็นผู้ลากมากดี นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมที่ว่าหากเป็นชื่อที่มีคันจิตัวเดียวหรือสองตัว การเรียกด้วยการเติมโกะไปด้วยจะสุภาพกว่า เช่น หากชื่ออูเมะก็จะเรียกว่าอูเมโกะซัง หรือชื่อจิโยะก็จะเรียกว่าจิโยโกะซัง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้คนจำนวนมากจึงเพิ่มตัวโกะเข้าไปด้วยเมื่อต้องขึ้นทะเบียนครอบครัว

แต่มาถึงราวปีโชวะที่ 50 (ปี 1975) ครัวเรือนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มมีโทรทัศน์จอสีกันกว่า 90% ทำให้ได้รับอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ การตั้งชื่อก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางของสมัยเฮเซ ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งอินเทอร์เน็ต รูปแบบการตั้งชื่อก็เปลี่ยนไปมาก มีทั้งแบบที่ใช้ตัวคันจิยาก ๆ การใช้อาเตจิ (ใช้แค่เสียงอ่านของคันจิโดยไม่ได้คำนึงถึงความหมาย) หรือคิราคิราเนม(ภาษาญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่มีการออกเสียงที่ผิดปกติหรืออ้างอิงจากภาษาต่างประเทศ) ซึ่งพ่อแม่ชอบตั้งให้ลูก ๆ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ด้วยอิทธิพลชายเป็นใหญ่ในอดีต จึงค่อนข้างน่าเสียดายที่ผู้หญิงมีทางเลือกในการตั้งชื่อน้อยกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ได้แค่เพียงตัวคาตากานะ หรือถูกกีดกันไม่ให้ใช้ตัวคันจิก็ตาม แต่อิทธิพลเหล่านั้นก็ไม่ได้มีผลต่อการตั้งชื่อในปัจจุบัน เพราะบรรดาพ่อแม่ต่างก็พยายามคิดชื่อที่ดีที่สุดให้กับลูก ไม่แน่ว่าหลังจากนี้อาจจะมีรูปแบบการตั้งชื่อที่หลากหลายและแฟนซีไปตามยุคสมัยยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้ และหากใครอยากส่องชื่อของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ตามไปดูกันได้ที่ ข่าวผลสำรวจอันดับการตั้งชื่อ นะคะ

สรุปเนื้อหาจาก jpnculture

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า