Bushido in Business Feature

เชื่อว่าชาวไทยทุกคนคงรู้จักคำว่า “ซามูไร (侍)” เป็นอย่างดี ที่จริงแล้วลัทธิที่เชิดชูความเป็นนักรบซามูไรของญี่ปุ่นนั้นเรียกว่า “ลัทธิบูชิโด (武士道)” ซึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณในคริสตศตวรรษที่ 16-17 แต่รุ่งเรืองมากที่สุดคือในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18-19 จนกระทั่งมีการปฏิรูปเมจิเกิดขึ้นในปี ค. ศ. 1868 ที่ทำให้ลัทธิบูชิโดและความเป็นซามูไรล่มสลายลงไป

อย่างไรก็ตามความเป็นซามูไรนี้ไม่ได้สูญสลายไปไหน แต่ยังฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นจำนวนมาก คิดง่าย ๆ คือคนญี่ปุ่นสมัยก่อนมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 30 กว่าปีเท่านั้นเนื่องจากสุขอนามัยและการแพทย์ไม่เจริญเท่าปัจจุบัน เพียงเป็นโรคพื้น ๆ อย่าง ไส้ติ่งอักเสบ ฟันคุด ท้องร่วง แผลติดเชื้อ ก็ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว การที่ลัทธิความเชื่อบูชิโดดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนานถึง 300-400 ปีนั้นเท่ากับ 9-10 ชั่วอายุคนเลยทีเดียว เทียบกับการรับรู้ของมนุษย์ก็ราวกับชั่วนิรันดรก็ว่าได้ จึงไม่แปลกใจที่ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันจะยังคงได้รับอิทธิพลของบูชิโดอยู่ในวิถีชีวิต

“เรโฮ” และ “คะตะ”

Bushido in Business - 1 Reiho and Kata

ในคัมภีร์วิทยายุทธโบราณของซามูไรญี่ปุ่นมีการกล่าวถึงคำว่า เรโฮ (礼法) ซึ่งแปลว่า “วิถีแห่งจรรยามารยาท” ของซามูไรนั้นเน้นอย่างมากเรื่องของมารยาทแห่งซามูไร ซึ่งมารยาทในที่นี่มีความหมายรวมทั้งกาลเทศะ การเคลื่อนไหวที่พอดีไม่มากไปไม่น้อยไป ไปจนกระทั่งการใช้คำพูดที่ต้องรักษาระยะให้พอดีไม่สนิทมากไปหรือน้อยไปสำหรับรูปแบบสัมพันธภาพนั้น ๆ

พอมาในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นยังได้รับอิทธิพลของเรโฮในยุคซามูไรอยู่ จึงยังแยกสัมพันธภาพว่า “เพื่อน” และ “เพื่อนร่วมงาน” และ “คู่ค้าทางธุรกิจ” เป็นคนละสิ่งกัน และไม่ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานหรือคู่ค้าทางธุรกิจราวกับเป็นเพื่อนเล่นเหมือนอย่างที่ชาวไทยบางคนทำกัน เพราะชาวญี่ปุ่นยังต้องรักษา “เรโฮ” ให้พอดีไม่มากไปไม่น้อยไปเอาไว้นั่นเอง

ส่วนคะตะ (型) นั้นแปลว่า “รูปแบบ” คือการให้ความสำคัญกับรูปแบบ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะหมายถึงการรำวิทยายุทธคนเดียวเวลาที่ไม่มีคู่ซ้อม (เช่นฝึกเพลงดาบซามูไรคนเดียว ฝึกวิชาจูจุทสึคนเดียว ฝึกท่ายิงธนูคนเดียว เป็นต้น) คล้ายกับเวลาเราดูภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่จะมีฉากที่ตัวเอกฝึกรำมวยอยู่คนเดียวประมาณนั้น

พอมาในปัจจุบัน แม้ว่าจะยังมีคนฝึกวิทยายุทธเป็นงานอดิเรกหรือเป็นกีฬาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คะตะในสังคมญี่ปุ่นได้กลายเป็นรูปแบบการแสดงออกถึงมารยาททางธุรกิจเช่น การแลกนามบัตรที่เคร่งครัดเข้าขั้นเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ การจัดที่นั่งในวงประชุมทางธุรกิจ การนั่งและการลุก การขออนุญาตวางสัมภาระ การโค้งให้ถูกองศากับจุดประสงค์ในการโค้งนั้น การส่งแขกเมื่อจากกัน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็น “คะตะ” ที่เปลี่ยนรูปแบบจากคะตะฝึกวิทยายุทธไปเป็นคะตะเพื่อแสดงเรโฮให้ธุรกิจราบรื่นนั่นเอง ซึ่งชาวญี่ปุ่นที่เรียนจบและเข้าทำงานในบริษัทส่วนใหญ่จะต้องถูกฝึก Role Play การเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ทำพลาดเลยเวลาต้องพบคู่ค้าทางธุรกิจจริง ๆ

การยืนประสานมือโดยมือซ้ายต้องกดมือขวาไว้เสมอ

Bushido in Business 2 Hands Position

มนุษย์ส่วนใหญ่ถนัดขวา โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นเมื่อหลายร้อยปีก่อนน่าจะมีคนถนัดขวาเป็นส่วนใหญ่ ซามูไรจึงนิยมสะพายดาบไว้ที่เอวข้างซ้าย เพื่อให้ใช้มือขวาชักดาบออกมาต่อสู้ได้ถนัด สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วมือขวาจึงเป็นมือที่ไว้ใช้อาวุธ พอมาในปัจจุบัน เวลายืนสแตนด์บายและจำเป็นต้องประสานมือจึงนิยมใช้มือซ้ายไว้นอกแล้วกดทับมือขวาไว้ เพราะมือขวาคือมือข้างที่ถนัดจับดาบมาฆ่าฟันกัน การใช้มือซ้ายกดมือขวาที่ถนัดไว้จึงเป็นการแสดงออกถึงมารยาทอันดีคือ “ไม่มีเจตนาทำร้ายอีกฝ่าย” นั่นเอง

การนั่งแบบญี่ปุ่น ที่จริงแล้วเท้าขวาและเท้าซ้ายจะไม่ขนานกัน

Bushido in Business 3 Seiza

ซามูไรญี่ปุ่นนั้นนอกจากยืนสู้แล้ว ยังมีท่านั่งสู้อีกด้วย โดยจะนั่งแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า เซสะ (正座) คือนั่งคุกเข่าแบบไม่ชันส้นเท้าขึ้นและนั่งทับเท้าไปเลย การใช้ดาบจากท่านั่งที่เรียกว่า อิไอจุทสึ (居合術) นั้นจะต้องชันเข่าขวาขึ้นอย่างเร็วและชักดาบออกจากฝักเพื่อฆ่าศัตรูให้ได้ภายในไม่ถึงวินาที

ดังนั้น การนั่งแบบญี่ปุ่นที่ถูกต้องเวลานั่งจะลงเท้าซ้ายก่อนแล้วตามด้วยเท้าขวา ส่วนเวลาลุกจะสลับกันคือยกเท้าขวาก่อนแล้วค่อยยกเท้าซ้ายตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากวิชาอิไอจุทสึนั่นเอง แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการวางนิ้วเท้านั้นจะไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น ก็เลยขึ้นอยู่กับการถือสาของแต่ละคน

หากเป็นคนญี่ปุ่นที่ปฏิบัติตามขนบซามูไรก็จะใช้นิ้วโป้งเท้าขวาวางทับนิ้วโป้งเท้าซ้ายอยู่เล็กน้อยเพื่อเวลาลุกใช้เท้าขวาลุกก่อนจะได้ถนัด ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นที่ถือสาเรื่องมารยาทขั้นสูงสุดจะมองว่าหากใช้นิ้วโป้งเท้าขวาวางทับนิ้วโป้งเท้าซ้ายแล้วทำให้ลุกด้วยเท้าขวาถนัดก็จะเป็นการแสดงเจตนาร้ายคือนั่งแบบนี้เพื่อให้ใช้วิชาอิไอจุทสึสังหารอีกฝ่ายได้คล่องแคล่วหรือกระไรกัน จึงจะจงใจใช้นิ้วโป้งเท้าซ้ายวางนับนิ้วโป้งเท้าขวาแทนเพื่อให้ใช้เท้าขวาลุกขึ้นได้ลำบาก เป็นการแสดงเจตนาว่า “ไม่มีเจตนาทำร้ายอีกฝ่าย” นั่นเอง (การนั่งไม่มีมาตรฐานกลางว่านิ้วขวาหรือนิ้วซ้ายทับ ในขณะที่การยืนประสานมือนั้นเห็นพ้องกันหมดว่าต้องเป็นมือซ้ายกดทับมือขวาเสมอ)

บันไดเลื่อนแบบญี่ปุ่นควรเดินชิดซ้าย (ยกเว้นแถบคันไซที่ชิดขวา)

Bushido in Business 4 Escalator
(ซ้าย) การขึ้นบันไดเลื่อนแบบชิดซ้ายในโตเกียว / (ขวา) การขึ้นบันไดเลื่อนแบบชิดขวาที่โอซาก้า

กล่าวไปแล้วว่าซามูไรนิยมสะพายดาบไว้ที่เอวข้างซ้าย การสัญจรไปมาหลายศตวรรษของญี่ปุ่นจึงนิยมเดินชิดซ้ายเพื่อไม่ให้ดาบที่สะพายไว้จะต้องกระทบกระทั่งกันเวลาเดินสวน (นำไปสู่การฆ่าแกงกันโดยใช่เหตุ) เมื่อมีบันไดเลื่อนมีใช้เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นที่ห้าง Mitsukoshi ในปี ค. ศ. 1914 จึงกลายเป็นว่าผู้คนยืนชิดซ้ายโดยปริยายเนื่องจากจารีตประเพณีเดิม ๆ ที่นิยมเดินชิดซ้ายกันอยู่แล้ว และธรรมเนียมนี้จึงแพร่ไปหลายจังหวัดในภูมิภาคคันโต

ส่วนที่โอซาก้านั้นเนื่องจากในปี ค. ศ. 1970 มีการจัดงาน World Expo ’70 ขึ้น และมีการใช้ระเบียบการชิดขวาของประเทศอังกฤษเนื่องจากมองว่าในปี 1970 มีแขกชาวต่างชาติจำนวนมหาศาลมาเยือนงาน Expo ดังนั้นจึงต้องประกาศให้ชิดขวาเพื่อตามจารีตประเพณีของตะวันตกเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงแพร่ธรรมเนียมชิดขวาไปยังจังหวัดใกล้ ๆ โอซาก้า ทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมว่าคันโตชิดซ้าย คันไซชิดขวา นั่นเอง

สรุป

แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างมากถึง 2 ระลอก คือในยุคปฏิรูปเมจิในปี ค. ศ. 1868 และหลังปี ค. ศ. 1945 ที่รับอารยธรรมอเมริกาทุกรูปแบบ แต่จิตวิญญาณซามูไรนั้นยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในหลาย ๆ ด้านดังที่ได้กล่าวมา แม้กระทั่งภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ยังมีการใช้ภาษาเกี่ยวกับวิทยายุทธในวิถีชีวิตประจำวันปกติอีกด้วย เช่น

การ “เพิ่มคิไอ (気合を入れろ)” ที่แปลว่าฮึดสู้หน่อย ซึ่งมีที่มาจากการหายใจเพิ่มลมปราณในวิทยายุทธโบราณ

การ “เปิดท้องคุยกัน (腹を割って話す)” ที่หมายความเหมือนภาษาไทยว่าเปิดอกคุยกัน เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าวิญญาณของคนเรานั้นอยู่ที่ท้อง การฆ่าตัวตายแบบซามูไรจึงเป็นการคว้านท้องเพราะถือเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดสำหรับชาวญี่ปุ่น

การใช้คำว่า “ใส่แรงที่ไหล่มากไป (肩に力を入れすぎる)” ที่แปลว่า จริงจังจนเกินเหตุ หรือ เครียดเกินเหตุ ก็มีที่มาจากการฝึกวิทยายุทธแล้วเกร็งแรงที่ไหล่มากเกินไป ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ที่เอาลักษณะต่าง ๆ ของวิทยายุทธมาใช้ในวงธุรกิจหรือในวิถีชีวิตประจำวันได้ ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยของเราเองก็น่าจะมีลักษณะคล้ายกันอยู่บ้าง ลองนึกกันเล่น ๆ ดูนะทุกท่าน

เกี่ยวกับผู้เขียน

Weerayuth Writer

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook: รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า