JIN Jdrama - Feature

ซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่อง “จิน-หมอทะลุมิติ” เดิมทีเป็นการ์ตูนชื่อไทยว่า “จิน-หมอทะลุศตวรรษ” ฉบับรวมเล่มมีทั้งหมด 20 เล่ม โดยอาจารย์มุระคะมิ โมะโตะกะ (村上もとか) ผู้เขียนการ์ตูนได้ให้สัมภาษณ์ว่าเกิดแรงจูงใจจากตอนอ่านเอกสารเกี่ยวกับกามโรคในยุคเอโดะ (ปี ค. ศ. 1603-1868) พบว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือแค่ 30 กว่าปีก็เสียชีวิตกันหมด จึงเกิดความเศร้าและคับแค้นใจ เป็นแรงจูงใจให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับหมอจากยุคปัจจุบันที่มีความรู้การแพทย์สมัยใหม่แต่มีเหตุต้อง Time Slip กลับไปอดีตเพื่อไปรักษาผู้ป่วยโดยไม่มียารักษาโรคหรืออุปกรณ์การแพทย์ใด ๆ ของสมัยใหม่เลย ดูว่าเรื่องน่าจะเป็นอย่างไร

แต่เมื่อกลายเป็นซีรีย์คนแสดงจริง ยิ่งทำให้พล็อตนั้นพัฒนาไปอีก จนกลายเป็นละครขวัญใจมหาชนทั่วญี่ปุ่น โด่งดังไปยังประเทศอื่นอีกหลายประเทศ จนถึงขั้นเกาหลีขอลิขสิทธิ์ไปรีเมคเป็นเรื่อง “Dr. Jin- หมอข้ามศตวรรษ” เวอร์ชันเกาหลี

เรื่องย่อ “จิน-หมอทะลุมิติ”

JIN Jdrama - Poster

หมอจินในซีรีย์ญี่ปุ่นเป็นศัลยแพทย์สมอง ที่โชคชะตาเล่นตลก เกิด Time Slip ย้อนอดีตกลับไปในยุคบะคุมัตสึ (ปลายสมัยเอโดะ) ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น ในยุคที่ไม่มีแม้แต่หลอดไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์แบบตะวันตกใด ๆ แล้วยังขาดแคลนยารักษาโรค ชุดผ่าตัดก็ไม่มี ผู้คนเพียงแค่ป่วยไข้เล็กน้อยก็ถึงตาย บาดเจ็บเล็กน้อยก็ตายได้ ทำให้คุณหมอละทิ้งอีโก้แห่งศัลยแพทย์ว่า “ตัวเองเก่ง” และตระหนักว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาจนกลายเป็นศัลยแพทย์สมองที่เก่งขนาดนี้ล้วนเป็นผลแห่งผู้คนในยุคก่อน ๆ ที่เสียสละสร้างมาทั้งนั้น

JIN Jdrama - Sakamoto Ryouma
ซะกะโมะโตะ เรียวมะ (ขวา) ตัวละครสำคัญของเรื่อง และบุคคลผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

แม้จะมีความลังเลอยู่เป็นระยะ ว่าการรักษาคนไข้ของตัวเองจะมีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่จิตวิญญาณของความเป็นหมอ ทำให้หมอจินต้องตัดสินใจรักษาคนไข้จำนวนมาก ทั้งผ่าตัดสมองโดยมีอุปกรณ์และแสงไฟไม่ครบ รักษาคนไข้อหิวาตกโรคเป็นจำนวนมากจนคุณหมอเองยังแทบเอาชีวิตไม่รอด เพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อผลิตยาเพนนิซิลินตามภูมิปัญญาชาวบ้านเท่าที่มีในสมัยนั้น ฯลฯ คุณหมอต้องพยายามช่วยยื้อชีวิตคนไข้โดยขาดแคลนทุกสิ่งที่คนเป็นหมอพึงมี แต่ก็ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ แล้วยังต้องไปพัวพันการเมือง สงคราม การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ เพราะไปสนิทกับ ซะกะโมะโตะ เรียวมะ (坂本龍馬) ซามูไรผู้ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของญี่ปุ่นจากรัฐบาลทหารแบบโชกุนให้กลับคืนสู่การปกครองโดยมีจักรพรรดิเป็นประมุขตามครรลองที่ควรจะเป็น และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจได้ในภายหลัง นอกจากหมอจินจะป่วยเกือบตาย ยังถูกทำร้าย ถูกจับไปทรมานเกือบตายอีกหลายต่อหลายครั้ง เรียกว่ารักษาคนไข้ไปก็โดนซ้อมไป รักษาไปร้องไห้ไป กันเลยทีเดียว

ความหมายลึกซึ้งเบื้องหลังชื่อตัวละครต่างๆ ใน “จิน-หมอทะลุมิติ”

JIN Jdrama - Characters
หมอจิน (ซ้าย) และซะกิ (ขวา) นางเอกและตัวละครที่ร่วมฟันฝ่าอุปสรรคกับคุณหมอในยุคอดีต

การตั้งชื่อตัวละครในเรื่องก็มีเสน่ห์อย่างมาก หมอจินก็มีอักษร “จิน (仁)” ที่แปลว่าคุณธรรม ส่วนแฟนของหมอในยุคปัจจุบันก่อนที่หมอจะ Time Slip ชื่อ “มิกิ” ที่เขียนด้วยอักษร 未来 (คันจิตัวเดียวกันกับคำว่า “อนาคต” ให้เห็นว่าเป็นคนในอนาคต) และนางเอกที่แท้จริงของเรื่องที่ชื่อ “ซะกิ” เขียนด้วยอักษร 咲 (ผลิบาน) ซึ่งหมายถึงความผูกพันที่ค่อย ๆ ผลิบานขึ้นในใจของซะกิที่มีต่อคุณหมอจิน แล้วยังพ้องเสียงกับคำว่า ซะกิ (先) ที่แปลว่าอดีตหรือสิ่งที่เกิดก่อน แสดงถึงความเป็นแฟนของหมอในยุคอดีตได้ด้วย เพราะซะกิคือตัวละครที่ร่วมฟันฝ่าอุปสรรคทุกรูปแบบกับคุณหมอในยุคอดีตอย่างไม่ย่อท้อใด ๆ โดยแท้

ตลอดทั้งเรื่องจะไม่มีฉากเลิฟซีนอะไรเลย มีแต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์และการฝ่าฟันเพื่อรักษาคนไข้ แต่ดูแล้วก็รู้สึกได้ว่าคุณหมอจินและซะกิรักและผูกพันกันเหลือเกิน และทั้งคู่ก็ยอมสละทุกสิ่งเพื่อการรักษาคนไข้ให้ได้มากที่สุดโดยไม่สนใจว่าตัวเองจะลำบากเพียงใด ซีรีย์นี้มี 2 Season โดยฉากจบใน Season 2 คือเรียกได้ว่าคนดูไม่ต้องทำอะไรกันแล้วนอกจากร้องไห้อย่างเดียวเท่านั้นจริง ๆ เพราะน้ำตาท่วมจอมาก ใครที่ว่าซีรีย์เกาหลีเศร้ามากร้องไห้เยอะ ๆ ก็ขอให้ลองดูซีรีย์จินดูรับรองว่าเสียน้ำตาไม่แพ้กัน

ถ้าใครชอบเสพสื่อบันเทิงอย่างได้ข้อคิด ไม่ได้เพียงเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว ขอแนะนำเรื่อง “จิน-หมอทะลุมิติ” ให้ทุกท่านด้วย

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า