Starbucks Irasshaimase Feature

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องจากประสบการณ์ตรงของท็อป หนึ่งในทีมบ.ก. conomi ในช่วงที่เรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นและทำงานพิเศษที่ร้านสตาร์บัคส์ เอาล่ะ ไม่พูดพร่ำทำเพลงเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า…

เหตุผลที่อยากไปทำงานพิเศษที่สตาร์บัคส์

Starbucks Irasshaimase - Introduction

ย้อนกลับไปสักช่วงประมาณปี 2006 สมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น เราไปสมัครทำงานอะรุไบโตะ(งานพิเศษ) ที่สตาร์บัคส์ด้วย เหตุผลคือเราไม่ชอบกลิ่นบุหรี่มากๆ แล้วร้านอาหารทั่วไปหรือร้านกาแฟทั่วไปในญี่ปุ่นสมัยนั้นส่วนใหญ่มีที่สูบบุหรี่ในร้าน แต่มีที่สตาร์บัคส์เท่านั้นที่ไม่ให้ลูกค้าสูบบุหรี่ในร้าน และอีกอย่างเห็นบรรยากาศการทำงานของพนักงานแล้วน่าเข้าไปทำมากๆ แต่ก็ลังเลอยู่นานเพราะตอนนั้นไม่มั่นใจภาษาญี่ปุ่นตัวเองว่าจะสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ดีพอหรือไม่

ถึงกระนั้น สุดท้ายเราก็ตัดสินใจลองไปสมัครดู (ตอนไปสมัครทำงานพิเศษที่สตาร์บัคส์ก็มีเรื่องสนุกๆ ไว้จะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อๆ ไป) แล้วปรากฎว่าได้เฉยเลย ฟลุคครับ โชคดีเวอร์! ยังไงก็แล้วแต่ เราได้ทำงานที่สตาร์บัคส์ใกล้บ้านในที่สุด

ได้เป็นพาร์ทเนอร์เต็มตัว

Starbucks Irasshaimase-Staff Partnership

ที่สตาร์บัคส์เขาจะเรียกพนักงานในร้านว่า “พาร์ทเนอร์” เมื่อทางสตาร์บัคส์ตกลงรับเราเป็นพาร์ทเนอร์แล้ว ก่อนเข้าทำงานจริงถ้าจำไม่ผิดต้องไปเทรนประมาณ 5 คลาส สตาร์บัคส์มีหลักสูตรเทรนนิ่งพนักงานที่ดีมากๆ โดยต้องศึกษาปรัชญาแนวคิดของสตาร์บัคส์ ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ การชงกาแฟ การบริการลูกค้า เป็นต้น

ส่วนที่อยากจะนำมาแชร์ครั้งนี้คือเรื่องการบริการของสตาร์บัคส์ ทางบริษัทไม่มีคู่มือการบริการให้ มีแค่แนวคิดว่าพนักงานทุกคนต้องทำออกมาจากใจ ทั้งต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน สิ่งที่สตาร์บัคส์เน้นที่สุดคือ การสื่อสาร (Communication) การสนทนาพูดคุยกับลูกค้า และสิ่งนี้เป็นเหมือนกับวัฒนธรรมของแบรนด์ไปเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าคุณจะเข้าไปสตาร์บัคส์ที่ไหนทั่วโลก คุณจะได้เจอกับพาร์ทเนอร์ที่ยิ้มแย้มอัธยาศัยดีและอยากพูดคุยกับคุณ

ทำไมพนักงานสตาร์บัคส์ญี่ปุ่นไม่พูดคำว่า “อิรัชชัยมาเสะ”?

Starbucks Irasshaimase - Communication

กลับมาเข้าหัวเรื่องของเราที่ว่า ทำไมพนักงานสตาร์บัคส์ญี่ปุ่นไม่พูดคำว่า “อิรัชชัยมาเสะ” (いらっしゃいませ) กัน? นั่นก็เพราะคำว่า อิรัชชัยมาเสะ” ที่แปลว่า “ยินดีต้อนรับ” นั้นเป็นคำที่ผู้พูดพูดออกมาฝ่ายเดียว โดยในภาษาญี่ปุ่นไม่มีคำไหนมาใช้พูดตอบคำว่า “อิรัชชัยมาเสะ” เลย ดังนั้นสตาร์บัคส์จะบอกกับพนักงานว่าให้ทักทายลูกค้าด้วยคำทักทายตามเวลา ได้แก่

“โอฮาโยโกไซมัส” (おはようございます) ใช้ทักทายสวัสดีในช่วงเช้า

“คนนิจิวะ” (こんにちは) ใช้ทักทายสวัสดีช่วงระหว่างวัน

“คมบังวะ” (こんばんは) ใช้ทักทายสวัสดีช่วงเย็น

คำทักทายเหล่านี้เป็นคำที่เมื่อผู้พูดพูดแล้ว ผู้ฟังก็มักจะตอบกลับด้วยคำคำเดียวกัน สิ่งนี้เป็นการสร้างโอกาสในการเริ่มต้นบทสนทนากับลูกค้านั่นเอง

สังเกตอีกนิด ก็พิชิตใจลูกค้าได้

นอกจากนี้รุ่นพี่เราที่สตาร์บัคส์ยังสอนให้เราลองอ่านใจลูกค้าก่อนสั่งเครื่องดื่มด้วย ให้ลองทายใจลูกค้าว่าวันนี้ลูกค้าต้องการดื่มอะไร ดูจากสีหน้า การแต่งกาย หรือดูสภาพอากาศของวันนั้นๆ เป็นต้น แต่นี่ไม่ใช่เป็นการฝึกทำนายหรือพยากรณ์อะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงการฝึกสังเกตและการให้ความสนใจลูกค้าเท่านั้น แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ช่วยทำให้บรรยากาศภายในร้านดีขึ้นหลายเท่าตัวเลยล่ะค่ะ

นี่ก็เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ เมื่อครั้งที่เราใช้ชีวิตในญี่ปุ่นค่ะ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้างไม่มากก็น้อย ยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ อีกเยอะมากๆ ถ้าใครสนใจรอติดตามนะคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า